เช็กลิสต์รายการตรวจตาที่จำเป็นก่อนทำเลสิก

เช็กลิสต์รายการตรวจตาที่จำเป็นก่อนทำเลสิก

การตรวจตา เป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการทำเลสิกทุกรูปแบบ เพราะจะช่วยคัดกรองว่าดวงตาพร้อมสำหรับการผ่าตัดหรือไม่ และเหมาะสำหรับการทำเลสิกรูปแบบใด

ดังนั้นแม้ว่าเราจะตัดสินใจทำเลสิก และเลือกรูปแบบการทำเรียบร้อยแล้ว ก็ยังต้องใช้ผลตรวจตาประกอบด้วย ว่าสามารถผ่าตัดทำเลสิกในรูปแบบที่ต้องการได้หรือไม่

โดยทั่วไปการทำเลสิกทุกเทคนิค ไม่ว่าจะเป็น เทคนิค Trans PRK เทคนิค SBK หรือ เทคนิค Femto จะมีกระบวนการตรวจตาที่คล้ายคลึงกัน แต่อาจมีรายการตรวจประมาณ 1-2 รายการที่เพิ่มเติมเข้ามาในบางเทคนิคเท่านั้น รายละเอียดดังต่อไปนี้

รายการตรวจตาพื้นฐาน สำหรับการทำเลสิกเทคนิค Trans PRK เทคนิค SBK และเทคนิค Femto

สำหรับรายการตรวจตาที่มีเหมือนกันในทุกเทคนิค มี 6 รายการ ได้แก่

1. การตรวจระดับการมองเห็น (Visual Acuity: VA) 

เป็นการตรวจประสิทธิภาพการมองภาพระยะใกล้และระยะไกล ผ่านการอ่านป้าย “Snellen chart” ซึ่งเป็นแผ่นป้ายสีขาวที่จะมีตัวอักษรหรือตัวเลขเรียงกันเป็นบรรทัดตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปเล็ก

ผู้เข้ารับบริการจะยืนห่างจากแผ่นป้ายในระยะห่าง 6 เมตรหรือ 20 ฟุต และปิดตาทีละข้างพร้อมกับอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนป้ายให้เจ้าหน้าที่จดบันทึก

นอกจากการตรวจระดับการมองเห็นด้วยการอ่านป้ายแล้ว เจ้าหน้าที่มักจะตรวจวัดค่าสายตาจากเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม เพื่อวัดค่าสายตาทั้ง 2 ข้างให้แม่นยำขึ้น 

ขั้นตอนการตรวจคือ ผู้รับบริการวางคางลงกับแท่นตรวจเล็กๆ และจ้องนิ่งๆ ไปที่จุดกึ่งกลางเครื่อง หลังจากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะวัดค่าสายตา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะจดบันทึกผลตรวจเพื่อนำไปประเมินค่าสายตาต่อไป

2. การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometry)

การวัดความดันลูกตา คือ การตรวจวัดความดันของเหลวที่อยู่ภายในลูกตา ซึ่งความดันของลูกตาที่ต่ำหรือสูงผิดปกติ เป็นสัญญาณบ่งบอกโรคเกี่ยวกับดวงตาได้ เช่น โรคต้อหิน ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก ภาวะอักเสบในลูกตา 

ในปัจจุบันการวัดความดันลูกตาจะแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • การวัดความดันลูกตาด้วยเครื่อง Applanation Tonometer เป็นการใช้เครื่องมือขนาดเล็กกดแตะลงเบาๆ ที่ผิวกระจกตาเพื่อวัดระดับความดันลูกตา บริเวณส่วนบนของเครื่องมือ จะมีแถบสเกลเล็กๆ พร้อมเข็มชี้ ซึ่งจะเคลื่อนไปตามระดับความดันลูกตาที่เครื่องมือวัดได้ นับเป็นวิธีวัดความดันลูกตาที่แม่นยำมากที่สุด แต่วิธีนี้จะต้องหยอดยาชาก่อน เนื่องจากเป็นการตรวจที่จะมีเครื่องมือสัมผัสลูกตา
  • การวัดความดันลูกตาด้วยเครื่องอัตโนมัติ Pneumotonometer เป็นการวัดความดันลูกตาที่ไม่มีการสัมผัสโดนกระจกตาหรือลูกตาแต่อย่างใด มีขั้นตอนการตรวจง่ายๆ และนิยมใช้แพร่หลาย โดยผู้เข้ารับบริการจะต้องวางคางลงกับแท่นตรวจ แล้วมองตรงนิ่งๆ ไปยังจุดกึ่งกลางของเครื่อง หลังจากนั้นจะมีแรงดันลมเป่าใส่ลูกตาเบาๆ และตัวเครื่องก็จะวัดค่าความดันลูกตาออกมา

ค้นหาแพ็กเกจตรวจตาก่อนทำเลสิก ราคาดี ใกล้บ้าน นัดหมายสะดวก ไม่ต้องรอคิวนาน ทักหาทีม HDcare ได้เลย

3. การตรวจความหนาของกระจกตา (Pachymetry)

เพราะการทำเลสิก คือ การใช้เลเซอร์หรือใบมีดเจียผิวกระจกตาเพื่อคืนค่าสายตาที่คมชัดขึ้น ดังนั้นผิวกระจกตาที่สามารถทำเลสิกได้จึงต้องมีความหนาเพียงพอต่อการผ่าตัดด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีผิวเรียบ ไม่มีแผลที่กระจกตา

ขั้นตอนการตรวจความหนาของกระจกตานั้นไม่ซับซ้อน โดยแพทย์จะใช้เครื่องที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ตรงส่วนปลายมีลักษณะยื่นออกมาคล้ายหัวปากกาแตะตรงลงไปที่กระจกตาเบาๆ เพื่อวัดค่าความหนาของกระจกตา

4. การตรวจวัดความโค้งของกระจกตา (Schwind Sirius)

ลักษณะความโค้งของกระจกตา เป็นตัวบ่งบอกการหักเหของแสงที่ตกกระทบกับจอประสาทตา และเป็นตัวบ่งชี้ถึงความผิดปกติของค่าสายตา ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง 

ดังนั้นการวัดความโค้งของกระจกตาอย่างละเอียดจึงมีส่วนช่วยให้แพทย์สามารถปรับตั้งค่าเครื่องปรับค่าสายตาสำหรับทำเลสิกได้อย่างแม่นยำ และช่วยวางแผนการทำเลสิกได้อย่างปลอดภัยที่สุด

ขั้นตอนการตรวจความโค้งของกระจกตาจะคล้ายกับการตรวจตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ นั่นคือ ผู้เข้ารับบริการวางคางลงกับแท่นของเครื่องตรวจ จากนั้นต้องเพ่งมองไปยังจุดกึ่งกลางของเครื่องตรวจ หรือจุดที่เจ้าหน้าที่แจ้ง แล้วเครื่องจะวิเคราะห์ความโค้งของกระจกตาอย่างละเอียด 

5. การตรวจสุขภาพตากับแพทย์

เป็นการตรวจดูความผิดปกติของเปลือกตา กระจกตา เลนส์ตา หรือม่านตาด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งสามารถหาสัญญาณของโรคเกี่ยวกับดวงตาเพิ่มเติมได้ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อลม โรคต่อมไขมันที่ดวงตาอุดตัน และแพทย์จะมีการซักประวัติสุขภาพดวงตาของผู้เข้ารับบริการ รวมถึงประวัติสุขภาพตาของคนในครอบครัวด้วย

นอกเหนือจากนี้แพทย์ก็อาจมีการตรวจวัดค่าสายตาอีกครั้งด้วย โดยจะให้ผู้เข้ารับบริการอ่านตัวอักษรหรือเลขจากป้าย Snellen Chart อีกครั้งด้วยตาเปล่า หรืออาจให้ใช้เครื่องวัดค่าสายตาเป็นตัวช่วย 

6. การตรวจจอประสาทตา

การตรวจจอประสาทตา เป็นการตรวจโครงสร้างประสาทตาที่สำคัญ เช่น จอประสาทตา จุดรับภาพ เส้นประสาทตา ขั้วประสาทตา ซึ่งจะช่วยคัดกรองโรคเกี่ยวกับดวงตาที่รุนแรงได้ เช่น โรคต้อหิน ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก โรคจุดรับภาพเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม การเกิดพังผืดที่จอประสาทตา

ก่อนเริ่มตรวจแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตา รอประมาณ 30-40 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ ซึ่งเมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ ผู้เข้ารับบริการจะมองเห็นที่พร่าเบลอเป็นระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง 

สาเหตุที่ต้องหยอดยาขยายม่านตาก่อนตรวจจอประสาทตา ก็เพื่อให้แพทย์ได้เห็นโครงสร้างภายในลูกตาได้อย่างละเอียดขึ้น สำหรับกระบวนการตรวจจอประสาทจะขึ้นอยู่กับเครื่องมือการตรวจในแต่ละสถานพยาบาล

แต่โดยส่วนมากเครื่องมือที่นิยมใช้ตรวจจอประสาทตาจะเรียกว่า เครื่อง OCT (Optical Coherence Tomography) ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยถ่ายภาพจอประสาทตาด้วยพลังงานเลเซอร์ สามารถตรวจและวิเคราะห์โครงสร้างของระบบประสาทตาได้อย่างละเอียดในลักษณะภาพตัดขวาง นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการตรวจง่ายๆ ไม่ต่างจากการตรวจตาด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ด้วย

อยากทำเลสิก แก้ปัญหาสายตา เปลี่ยนโลกมัวๆ ให้ชัดเจน นัดคิวตรวจประเมินสายตาก่อนทำเลสิกอย่างละเอียด  หรืออยากขอคำแนะนำจากคุณหมอเฉพาะทาง ปรึกษาฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย!

รายการตรวจเพิ่มเติมสำหรับการทำเลสิก Trans PRK

นอกเหนือจาก 6 รายการตรวจด้านบน แพทย์จะมีการซักประวัติและตรวจรอยแผลคีลอยด์ในผู้ที่เลือกทำเลสิกเทคนิค Trans PRK ด้วย 

เนื่องจากการทำเลสิกด้วยเทคนิค Trans PRK จะมีกระบวนการผ่าตัดที่ทำให้เกิดแผลที่ชั้นกระจกตาด้านนอก ดังนั้นผู้ที่มีประวัติมีแผลเป็นคีลอยด์ตามร่างกายได้ง่าย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลเป็นนูนที่ผิวกระจกตา หรือเกิดปัญหากระจกตาไม่เรียบหลังผ่าตัดได้

รายการตรวจเพิ่มเติมสำหรับการทำเลสิกเทคนิค SBK 

นอกจาก 6 รายการตรวจตาด้านบน ผู้ที่เลือกทำเลสิกด้วยเทคนิค SBK ยังจำเป็นต้องตรวจดูลักษณะทางกายภาพของลูกตาด้วย 

เนื่องจากเทคนิคการทำเลสิกแบบ SBK จะต้องมีการใช้เครื่องมือวางลงที่ดวงตาเพื่อแยกชั้นกระจกตาก่อนยิงเลเซอร์ ดังนั้นในผู้ที่มีขนาดดวงตาเล็กและมีเนื้อกระจกตาบาง จะไม่สามารถทำเลสิกด้วยเทคนิคนี้ได้ เนื่องจากมีโอกาสที่แพทย์จะไม่สามารถวางเครื่องมือแยกชั้นกระจกตาลงไปที่ดวงตาได้สนิท และอาจทำให้เกิดอันตรายระหว่างผ่าตัด

ส่วนการทำเลสิกแบบ Femto หรือเลสิกไร้ใบมีดนั้นไม่ได้มีรายการตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 6 รายการด้านบน นอกเสียจากแพทย์จะตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ เกี่ยวกับดวงตา และแนะนำให้รับการตรวจตาในรายการอื่นๆ อย่างละเอียดเพิ่มเติมอยากเช็กสุขภาพตาว่าทำเลสิกได้ไหม สายตามีปัญหาอย่างไรบ้าง มีโรคแฝงอื่นๆ อีกมั้ย อยากตรวจตาให้มั่นใจกับคุณหมอเฉพาะทาง ปรึกษาทีมงาน HDcare ได้เลย

Scroll to Top