hyperhidrosis treatment faq

11 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก

ภาวะเหงื่อออกมือมาก มือชื้นเหงื่อตลอดเวลา จนทำให้ไม่มั่นใจ หรือเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ภาวะนี้ สามารถรักษาได้หลากหลายวิธี แต่ละวิธีนั้นมีข้อดี ข้อเสีย หรือผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน บทความนี้เรารวบรวมเรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาโรคเหงื่อออกมือมากมาฝาก

เรื่องที่คนอยากรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคเหงื่อออกมือมาก

สารบัญ

1. การรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากมีวิธีไหนบ้าง

ตอบ: ภาวะเหงื่อออกมือมากสามารถรักษาได้ด้วยวิธี ดังนี้

  1. ทายาลดเหงื่อ: ทายาในกลุ่มอลูมิเนียมคลอไรด์ บริเวณฝ่ามือ เพื่อระงับเหงื่อ โดยทาเวลาก่อนนอน แล้วล้างออกเมื่อตื่นนอน ยาจะช่วยระงับเหงื่อไม่ให้ออกในวันถัดไป
  2. กินยาลดเหงื่อ: กินยาในกลุ่มแอนตีโคลิเนอร์จิก เพื่อช่วยลดการทำงานของต่อมเหงื่อในร่างกาย ในปริมาณ 5-10 มิลลิกรัมต่อวัน
  3. ฉีดโบท็อกซ์: ฉีดโบท็อกซ์ลงบนผิวหนัง บริเวณที่มีอาการเหงื่อออกมาก เพื่อลดการทำงานของประสาทอัตโนมัติที่จะสั่งการให้ต่อมเหงื่อทำงาน
  4. ผ่าตัดส่องกล้อง: เปิดแผลใต้รักแร้ 2 ข้าง จากนั้นผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อจี้ทำลายปมประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติกบริเวณซี่โครงที่ 3-5 ออก 

2. การรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากด้วยวิธีการผ่าตัดและไม่ผ่าตัดให้ผลแตกต่างกันอย่างไร

ตอบ: การรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากด้วยการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาเดียวในปัจจุบันที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการเหงื่อออกมือมากได้ 

ในขณะที่การการรักษาแบบไม่ผ่าตัด เป็นเพียงการประคับประคองอาการเท่านั้น และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการไม่มาก

3. การรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากมีผลข้างเคียงอย่างไร

ตอบ: การรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากแต่ละวิธีล้วนมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. ทายาลดเหงื่อ: อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังและดวงตา
  2. กินยาลดเหงื่อ: อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง และท้องผูก 
  3. ฉีดโบท็อกซ์: อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงชั่วคราวตรงจุดที่ฉีดโบท็อกซ์ 
  4. ผ่าตัดส่องกล้อง: อาจจะมีเหงื่อออกชดเชยส่วนอื่นของร่างกาย นอกเหนือจากฝ่ามือ เช่น หลัง ท้อง ต้นขา

4. การฉีดโบท็อกซ์เพื่อรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก ใช้โบท็อกซ์ชนิดเดียวกับการลดริ้วรอยหรือไม่

ตอบ: การฉีดโบท็อกซ์เพื่อรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก แพทย์จะใช้โบท็อกซ์ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการแก้ปัญหาริ้วรอยบนใบหน้า โดยโบท็อกซ์จะเข้าไปยับยั้งสารสื่อประสาทที่จะไปเลี้ยงต่อมเหงื่อ ทำให้ต่อมเหงื่อลดการทำงานลง

แม้จะใช้ตัวยาชนิดเดียวกัน แต่ไม่ควรฉีดโบท็อกซ์รักษาภาวะเหงื่อออกมือมากตามคลินิกเสริมความงาม แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการก่อน เพราะอาการเหงื่อออกมือมาก อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคหัวใจ

เหงื่อออกมือมาก สัญญาณเตือนโรคร้าย รู้แล้วรีบรักษา อ่านต่อคลิกเลย!

5. การผ่าตัดรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากมีข้อดีอย่างไร

ตอบ: การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากมีข้อดี ดังนี้

  1. แผลผ่าตัดเล็ก ประมาณ 1 เซนติเมตร ใต้รักแร้ 2 ข้าง
  2. ช่วยรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากให้หายขาดได้
  3. เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว

6. ควรรักษาอาการเหงื่อออกมือมากด้วยวิธีไหนดี

ตอบ: การจะพิจารณารักษาภาวะเหงื่อออกมือมากด้วยวิธีใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เฉพาะทาง หากอาการเหงื่อออกมาผิดปกติเป็นผลมาจากโรค แพทย์ก็รักษาโรคนั้นๆ ให้หาย 

แต่หากไม่ได้เกิดจากโรคหรือความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกาย แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความรุนแรงของอาการ บางรายอาจเพียงจ่ายยาทา หรือยากิน ส่วนบางรายอาจแนะนำให้ผ่าตัด

7. การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากต้องทำอย่างไร

ตอบ: ก่อนจะผ่าตัดรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวดังนี้

  1. แจ้งประวัติสุขภาพให้แพทย์ทราบ เช่น การใช้ยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจํา เพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด
  2. งดอาหารและเครื่องดื่มก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอดในระหว่างดมยาสลบ
  3. งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. ตรวจเลือดเพื่อดูเกล็ดเลือด เอกซเรย์ปอด และตรวจวัดคลื่นหัวใจ

8. การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากต้องทำอย่างไร

ตอบ: หลังจากผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรดูแลตัวเอง ดังนี้

  1. หลังผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล ประมาณ 1 วัน หากมีอาการปวด สามารถกินยาแก้ปวดได้ ตามคำแนะนำของแพทย์
  2. หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นตึงบริเวณหลังได้ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น
  3. ผู้ป่วยควรดูแลแผลให้สะอาด หลีกเลี่ยงโดนน้ำประมาณ 1 สัปดาห์
  4. แพทย์จะนัดตัดไหมหลังผ่าตัดประมาณ 10 วัน

หากยังมีคำถามคาใจเกี่ยวกับการรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก ต้องการคำตอบที่แน่ชัด นัดคุยกับคุณหมดเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่ 

เรื่องที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก

9. การผ่าตัดรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก เป็นวิธีที่รักษาหายขาด 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ตอบ: แม้ว่าการรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากด้วยการผ่าตัดจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบันและทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการที่เป็นอยู่ได้ แต่ก็มีโอกาสที่อาการจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

ผู้ป่วยบางรายที่มีเส้นประสาทใกล้เกินไป มีโอกาสที่จะกลับเข้ามาเชื่อมกันใหม่ แต่มีโอกาสได้น้อย ทั้งนี้ควรเลือกผ่าตัดกับแพทย์ผู้ชำนาญที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดสูง

10. โบท็อกซ์ลดเหงื่อจะอยู่ได้นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของโบท็อกซ์

ตอบ: ผลของการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดเหงื่อนั้นจะอยู่ได้นานหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของโบท็อกซ์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนยูนิตที่ใช้ รวมถึงการดูแลตัวเองด้วย

หากดูแลตัวเองได้ดีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น รักษาความสะอาดของร่างกาย ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลลัพธ์จากโบท็อกซ์ก็จะอยู่ได้นานยิ่งขึ้น

11. หากมีภาวะเหงื่อออกมือ แต่อาการยังไม่มาก ควรรักษาด้วยการซื้อยามากินหรือทาก่อน

ตอบ: หากมีอาการหงื่อออกมือทั้งสองข้างมากผิดปกติ โดยไม่สัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุก่อน โดยแพทย์จะวินิจฉัยและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม 

ไม่ควรซื้อยากินหรือยาทามาใช้เอง เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษามีผลข้างเคียง นอกจากนี้ การกินยาหรือทายาอาจไม่ใช่การรักษาที่เหมาะกับสาเหตุของอาการที่เราเป็นอยู่ก็ได้

เชื่อว่า 11 ที่กล่าวมาทั้งหมด น่าจะช่วยให้หลายคนหายสงสัยและหมดกังวลเกี่ยวกับการรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากแล้ว

ยังมีข้อสงสัยใช่ไหม? ข้อมูลที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top