รักษาฝีคัณฑสูตรอย่างไร เปรียบเทียบทางเลือกในการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรทุกรูปแบบ

รักษาฝีคัณฑสูตรอย่างไร? เปรียบเทียบทางเลือกในการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรทุกรูปแบบ

ฝีคัณฑสูตร คือฝีหนองที่อยู่บริเวณทวารหนักด้านในแล้วทะลุออกมายังผิวหนังภายนอก เกิดจากการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวด อาจถ่ายอุจจาระออกมาแล้วมีมูกเลือดปน อาการบางอย่างใกล้เคียงกับริดสีดวง

ฝีคัณฑสูตร เมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถหายเองได้ โดยการรักษาฝีคัณฑสูตรแบบมาตรฐานคือการผ่าตัด โดยปัจจุบันมีหลายเทคนิคการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการฝีคัณฑสูตรที่แตกต่างกัน ข้อสำคัญของการผ่าตัดคือกำจัดฝีออกไป และรักษากล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักของผู้ป่วยไว้

วิธีการผ่าตัดฝีคัณฑสูตร

วิธีการผ่าตัดฝีคัณฑสูตร มีหลากหลายเทคนิค ซึ่งแต่ละเทคนิคก็จะเหมาะกับอาการของโรคที่แตกต่างกันออกไป ต้องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้พิจารณาอีก โดยเทคนิคหลักๆ ในปัจจุบัน มี 6 เทคนิค ดังนี้

1. ผ่าตัดเปิดโพรงฝีคัณฑสูตรเพื่อระบายสิ่งสกปรกและทำความสะอาด (Fistulotomy)

แบบจำลองการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ-Fistulotomy

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

การผ่าตัดเปิดโพรงฝีคัณฑสูตรแล้วทำความสะอาด มักใช้รักษาฝีคัณฑสูตรชนิดที่อยู่ตื้นหรือไม่ซับซ้อน

วิธีผ่าตัด แพทย์จะสอดแท่งเล็กๆ (Probe) เข้าไปในโพรงฝี แล้วใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้าผ่าโพรงฝีตามแนวยาว แล้วนำเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกจนหมด รอยผ่าตามแนวยาวจะกลายเป็นผิวเรียบ ช่วยให้แผลสมานตัวกลายเป็นพังผืดเรียบ (Flat Scar) แล้วอุดบริเวณที่เคยเป็นโพรงฝีไปทั้งหมด โดยใช้เวลาดูแลรักษาแผลประมาณ 4-5 สัปดาห์ เนื้อเยื่อจึงจะขึ้นมาจนเต็ม

วิธีผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ Fistulotomy ให้ประสิทธิภาพในการรักษาประมาณ 95% จำเป็นต้องรับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรโดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหากลั้นอุจจาระหลังผ่าตัดได้ 

2. ผ่าตัดเลาะโพรงฝีคัณฑสูตรออกทั้งหมด (Fistulectomy)

เป็นการผ่าตัดที่คล้ายคลึงกับการผ่าตัดแบบ Fistulotomy แตกต่างกันตรงที่ การผ่าตัดนี้จะเอาโพรงฝีคัณฑสูตร ส่วนของเส้นทางทะลุออกไปทั้งหมดด้วย จากนั้นใช้เนื้อเยื่อบางส่วนจากลำไส้ตรงมาปิดและซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงทำลายกล้ามเนื้อหูรูดมากที่สุด

3. รักษาฝีคัณฑสูตรด้วยการคล้องไหม (Seton)

ซีตอน (Seton) คือ ไหมชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อถูกติดตั้งไว้ในร่างกายแล้วจะไม่สลายตัวไปเอง

การใช้ซีตอนรักษาฝีคัณฑสูตรแบ่งออกเป็น 2 เทคนิค ได้แก่

3.1 การใช้ซีตอนเพื่อระบายของเหลวที่เกิดจากการอักเสบภายในทวารหนัก (Seton Drain) แพทย์จะใส่ซีตอนเข้าไปในทางระหว่างด้านในของทวารหนักที่เกิดการอักเสบซึ่งเชื่อมกับผิวหนังภายนอก ของเหลวจากการอักเสบจะถูกระบายออกทางเส้นไหมซีตอน และทางเชื่อมดังกล่าวจะค่อยๆ แคบลง จนในที่สุดจะเกิดการสร้างเนื้อเยื่อแผลเป็นขึ้นภายใน ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถผ่านได้ 

การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยวิธีนี้อาจตามด้วยการผ่าตัดแล้วนำไหมซีตอนออก หรืออาจทิ้งไหมค้างไว้เลยก็ได้

แบบจำลองการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเทคนิค-Seton-Drain

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

3.2 การใช้ซีตอนเพื่อผ่าตัด (Cutting Seton) แพทย์จะติดตั้งไหมไว้ในโพรงของฝีคัณฑสูตร โดยปลายข้างหนึ่งของไหมจะออกมาทางรูทวารหนัก ส่วนปลายอีกข้างจะออกมาจากผิวหนังใกล้ๆ ทวารหนัก จากนั้นให้ผู้ป่วยค่อยๆ ดึงไหมซีตอนทีละนิด อาจใช้เวลาเป็นหลักหลายเดือนหรือเป็นปี ไหมจะค่อยๆ ตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ร่วมกับร่างกายค่อยๆ สมานแผล สร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซ่อมแซมตัวเองกลับมา จนในที่สุดไหมจะหลุดออก

แบบจำลองการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเทคนิค-Cutting-Seton

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

วิธีนี้เป็นการตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูด แต่ร่างกายจะค่อยๆ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อไปเรื่อยๆ เมื่อรักษาเสร็จผู้ป่วยจึงไม่เสียความสามารถในการกลั้นอุจจาระ ข้อเสียคือต้องใช้เวลานาน และถ้าดึงไหมเร็วเกินไป อาจรักษาอาจไม่สำเร็จ

4. การผ่าตัดผูกท่อฝีคัณฑสูตร LIFT (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract)

แบบจำลองการผ่าตัดผูกท่อฝีคัณฑสูตร-LIFT-Ligation-of-Intersphincteric-Fistula-Tract

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

วิธีนี้ใช้รักษาฝีคัณฑสูตรที่อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักด้านนอกกับด้านใน โดยไม่ให้กล้ามเนื้อหูรูดเสียหาย

แพทย์จะค่อยๆ กรีดเปิดเข้าไประหว่างชั้นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เข้าไปยังโพรงฝี (Fistula Tract) แล้วผูกเย็บทางเชื่อมโพรงฝีด้านใน จากนั้นขูดทำความสะอาดเนื้อเยื่อที่โพรงฝีด้านนอก ก่อนเย็บปิด เป็นการป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่อยู่ข้างในทวารหนักเข้ามาในโพรงฝีได้อีก

การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ LIFT มักทำหลังจากใช้เทคนิค Seton แล้ว ถือเป็นการผ่าตัดรักษาที่มีประสิทธิภาพประมาณ 75% 

แต่มีข้อดีคือจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหูรูด ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการผิดปกติและไม่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นอุจจาระ

5. ผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบปิดโพรงฝีจากด้านใน (Advancement Rectal Flap)

ทำเพื่อปิดทางเข้าของเชื้อที่จะทำให้เกิดทางเชื่อมระหว่างทวารหนักด้านในกับผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่จะกระทบกระเทือนหูรูดทวารหนัก

เทคนิคนี้ แพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อด้านในทวารหนักส่วนที่ติดเชื้อออก จากนั้นกรีดลอกแผ่นเนื้อเยื่อส่วนที่ดีซึ่งอยู่ใกล้เคียง พับลงมาปิดโพรงฝี หลังการผ่าตัดรักษา หนองที่อยู่ในโพรงฝีควรค่อยๆ ระบายออกไป และเมื่อแบคทีเรียไม่สามารถเข้าสู่โพรงฝีได้ โพรงฝีจะค่อยๆ สมานตัวและปิดเอง

เทคนิคนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาฝีคัณฑสูตรประมาณ 70% ในบางกรณีผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นโรคซ้ำ และมีความเสี่ยงประมาณ 30% ที่กล้ามเนื้อหูรูดผู้ป่วยจะเสียหายจากการผ่าตัด

6. ผ่าตัดฝีคัณฑสูตรด้วยเลเซอร์

การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยเลเซอร์ แพทย์จะใส่แท่งปล่อยลำแสงเลเซอร์ (Laser Probe) เข้าไปในโพรงฝีจากผิวหนังด้านนอก จากนั้นควบคุมเลเซอร์ให้ค่อยๆ ปล่อยพลังงานออกมาทำลายเนื้อเยื่อในโพรงฝี ค่อยๆ ปิดไล่ออกมาจากรูเปิดด้านในจนถึงรูเปิดด้านนอก

เทคนิคนี้ทำให้เนื้อเยื่อหดตัวกลายเป็นแผลเป็น (Scar Tissue) ส่งผลให้โพรงฝีตันลงในที่สุด

หนึ่งในสิ่งที่ควรสอบถามแพทย์ให้แน่ชัดก่อนผ่าตัดฝีคัณฑสูตร คือ เรื่องผลกระทบของการผ่าตัดที่อาจมีต่อกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนนี้มีความสำคัญ ถ้าเสียหายไปอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ในอนาคต

ไม่อยากผ่าตัดฝีคัณฑสูตร รักษาวิธีอื่นได้ไหม?

การรักษาฝีคัณฑสูตรแบบไม่ผ่าตัด ปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยกาวไฟบริน (Fibrin Glue)

ขั้นตอนคือ หลังวางยาสลบผู้ป่วย แพทย์จะใส่กาวทางการแพทย์เข้าไปในโพรงฝีคัณฑสูตร กาวนี้จะไปเปิดโพรงฝี และช่วยให้ร่างกายสมานแผลเอง

อย่างไรก็ตาม การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยกาวไฟบรินโดยทั่วไปแล้วถือว่าให้ประสิทธิภาพการรักษาฝีคัณฑสูตรชนิดไม่ซับซ้อน น้อยกว่าการผ่าตัด (Fistulotomy) และเมื่อรักษาไปแล้ว ฝีคัณฑสูตรก็ยังอาจกลับมาอีก

การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยกาวไฟบรินจึงมักใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่โพรงฝีพาดผ่านกล้ามเนื้อหูรูด ซึ่งการผ่าตัดก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้เสียหาย และเกิดปัญหากลั้นอุจจาระได้ในอนาคต

ปรึกษาหมอ เป็นฝีคัณฑสูตร ผ่าตัดวิธีไหนดี เหมาะกับเราที่สุด หรืออยากเช็กราคาค่าผ่าฝีคัณฑสูตรกับหมอเฉพาะทาง ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค หรือผ่าตัด จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top