8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรครังไข่ และท่อนำไข่ scaled

8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรครังไข่ และท่อนำไข่

โรคที่เกี่ยวกับรังไข่ ท่อนำไข่ อันตรายไหม ไม่รักษาได้ไหม? โรคอะไรบ้างที่ต้องผ่าตัดเอารังไข่ ท่อนำไข่ออก? ผ่าแล้วจะกลับมาเป็นโรคซ้ำอีกไหม? คำถามที่ชวนคิดไม่ตก เราได้รวบรวมข้อมูลที่คุณควรรู้มาอยู่ในบทความนี้แล้ว ติดตามอ่านกันได้เลย

1. ป่วยเป็นโรคถุงน้ำที่รังไข่ ถ้าไม่รักษาได้ไหม?

ตอบ: กรณีมีภาวะถุงน้ำรังไข่ชนิดที่เกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง (Functional Cyst) โดยส่วนใหญ่จะสามารถยุบตัวและฝ่อลงได้เอง โดยต้องรักษา แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรง และให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา

แต่ถ้าเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดอื่น เช่น ชนิดเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง หรือช็อกโกแลตซีสต์ แนะนำให้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ถุงน้ำอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น จนทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น ปวดท้องเรื้อรัง ประจำเดือนมาผิดปกติ เลือดออกผิดปกติ เป็นต้น

ทั้งนี้ถุงน้ำในรังไข่ ยังมีความเสี่ยงที่จะปริ รั่ว หรือแตกได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ยังอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ด้วย

ดังนั้นหากคุณมีภาวะถุงน้ำในรังไข่ จำเป็นต้องตรวจให้แน่ชัดว่าเป็นชนิดใด โดยควรให้ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

อาการที่เป็นอยู่ใช่ภาวะถุงน้ำในรังไข่ไหม? อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่ 

ทำความรู้จักถุงน้ำในรังไข่ มีกี่ชนิด? แต่ละชนิดร้ายแรงแค่ไหน คลิกอ่านต่อได้ที่บทความนี้เลย

2. หลังจากผ่าตัดถุงน้ำที่รังไข่แล้ว จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำไหม?

ตอบ: มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะรังไข่ยังทำงานอยู่ จึงมีโอกาสเกิดความผิดปกติขึ้นได้อีก ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยควรตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ซ้ำขึ้นได้

3. ทำไมต้องผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออก?

ตอบ: ความผิดปกติที่เกิดกับท่อนำไข่ มีได้หลายประการ เช่น ภาวะท่อนำไข่บวม ท่อนำไข่ตีบตัน หากไม่รุนแรง แพทย์จะพยายามรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยารักษา การเจาะดูดน้ำออก หรือการผ่าตัดเพื่อเลาะเฉพาะจุดที่ตีบตันออก เพื่อรักษาท่อนำไข่เอาไว้ 

แต่ก็มีความผิดปกติหลายประการ ที่แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยให้ผ่าตัด โดยมากมักมาจากสาเหตุต่อไปนี้

  1. การท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติคือ เมื่อสเปิร์มผสมกับไข่จนกลายเป็นตัวอ่อนแล้วแทนที่จะฝังตัวในมดลูก กลับฝังตัวในท่อนำไข่แทน ซึ่งตัวอ่อนที่ฝังตัวผิดที่ จะไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และอาจก่อให้เกิดภาวะท่อนำไข่ฉีกขาด ทะลุ มีเลือดออก ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
  2. ลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในบรรดามะเร็งนรีเวช ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ กว่าจะพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ก็มักอยู่ในระยะที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูง จึงอาจเลือกการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกเพื่อลดความเสี่ยงของโรคนี้
  3. โรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งท่อนำไข่ เป็นโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์บริเวณรังไข่ หรือท่อนําไข่ ซึ่งอาจเกิดความผิดปกติเพียงข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ โดยมากมักไม่แสดงอาการในเบื้องต้น แต่จะมีอาการเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม หรือแพร่กระจายไปตามอวัยวะข้างเคียงแล้ว โดยมากแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อนำรังไข่ ท่อนำไข่ และอาจตัดมดลูกออกด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  4. ต้องการคุมกำเนิดถาวร กรณีที่ผ่าตัดท่อนำไข่ออกเพื่อคุมกำเนิด จะผ่าตัดท่อนำไข่ออกบางส่วน โดยจะทำทั้งสองข้าง ถ้าทำเพื่อรักษาโรค อาจต้องผ่าตัดท่อนำไข่ออกทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความรุนแรง การลุกลามของโรคที่เป็น

4. ผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกแล้วจะมีประจำเดือนไหม สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ จะมีอาการวัยทองหรือเปล่า?

ตอบ: การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกไม่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนและอาการวัยทอง เพราะท่อนำไข่ไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน

แต่จะมีผลกระทบกับการตั้งครรภ์ได้ ถ้าผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกข้างเดียว และท่อนำไข่อีกข้างยังทำงานเป็นปกติ คนไข้อาจจะยังมีบุตรได้ และมีประจำเดือนปกติ

ถ้าผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกไปเลยสองข้าง ก็จะไม่เหลือทางเดินให้ไข่เข้ามายังมดลูกอีกต่อไป ทำให้คนไข้ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีธรรมชาติ อาจต้องใช้วิธีทำการทําเด็กหลอดแก้ว 

กังวลเรื่องการผ่าตัดรังไข่ ท่อนำไข่อยู่ใช่ไหม? อย่าปล่อยความกังวลทิ้งไว้ ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านนรีเวชของ HDcare วันนี้ ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย!

5. ผ่าตัดมดลูก แต่ไม่ได้ตัดรังไข่ออก จะทำให้เป็นวัยทองก่อนวัยจริงหรือ?

ตอบ: ไม่จริง เนื่องจากอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศคือรังไข่ หากผ่าตัดมดลูกออก แต่ไม่ได้ตัดรังไข่ออก รังไข่ก็ยังทำหน้าที่ สร้างฮอร์โมนหล่อเลี้ยงร่างกายได้อยู่ เราก็ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง และเข้าสู่วัยทองตามวัย คือประมาณอายุ 50 ปีขึ้นไป

6. หลังผ่าตัดรังไข่-ท่อนำไข่แล้ว ออกกำลังกายได้หรือไม่?

ตอบ: ส่วนใหญ่แล้วหลังการผ่าตัดรังไข่ หรือท่อนำไข่ออก แพทย์จะแนะนำให้เลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องออกแรงบริเวณหน้าท้อง และห้ามยกของหนักในระยะ 6 สัปดาห์แรก แต่ให้เคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

7. หลังผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่แล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำได้ไหม?

ตอบ: สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิต อาหารที่รับประทาน ระดับสมดุลฮอร์โมน รวมทั้งชนิดของถุงน้ำ 

หากเป็นถุงน้ำทั่วไป โดยส่วนใหญ่มักจะหายขาด แต่หากเป็นถุงน้ำชนิด ช็อกโกแลตซีสต์ อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ 

ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมาพบแพทย์ตามนัด หากพบอาการผิดปกติใดๆ จะได้วางแผนการรักษาได้ทันที

รังไข่ผิดปกติ มีถุงน้ำในรังไข่ ต้องผ่าตัด แต่รู้สึกกังวลใจ ไม่รู้จะปรึกษาใครดี ทักหา HDcare ได้เลย พร้อมนัดคิวให้คุณได้ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านนรีเวชผ่านไลน์ ปรึกษาฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย!

8. การผ่าตัดรังไข่ และท่อนำไข่ออก มีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้ไหม ต้องป้องกันอย่างไร?

ตอบ: หลังจากผ่าตัดรังไข่ และท่อนำไข่ออก ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6-8 สัปดาห์ เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ อักเสบ หรือได้รับความกระทบกระเทือน หลังจากนั้นสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออก จะทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้อยู่ ดังนั้นจึงยังต้องป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมถุงยางอนามัยตามปกติ

ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top