signs trigger finger screening get check scaled

7 อาการเสี่ยง บอกให้คุณรู้ว่าอาจเป็นโรคนิ้วล็อค

สัญญาณของโรคนิ้วล็อคนั้นสังเกตได้ไม่ยาก และมีข้อแตกต่างจากโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับนิ้วมือค่อนข้างเด่นชัด มาเช็กกันว่า อาการของโรคนิ้วล็อคมีอะไรบ้าง ใครที่ใช้งานนิ้วหนักๆ จะได้สังเกตอาการตัวเอง หากมีสัญญาณเสี่ยงเมื่อไหร่จะได้รักษาได้ทันที

7 อาการเสี่ยง บอกให้คุณรู้ว่าอาจเป็นโรคนิ้วล็อค

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

1. งอและเหยียดนิ้วได้ยากขึ้น

สาเหตุของโรคนิ้วล็อค เกิดจากการอักเสบและบวมของ “ปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือ” จึงทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านในงอและเหยียดตรงได้ยากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมักรู้สึกสะดุดเมื่องอนิ้ว และเมื่อจะเหยียดนิ้วก็ทำได้ยากขึ้น ต้องใช้นิ้วอื่นช่วยง้างนิ้วให้เหยียดตรง

ความยากในการงอและเหยียดนิ้วในโรคนิ้วล็อคจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ในผู้ป่วยที่ระยะโรคยังไม่รุนแรงมักจะยังงอและเหยียดนิ้วได้เองอยู่ จากนั้นก็จะค่อยๆ งอและเหยียดได้ยากขึ้น กระทั่งระยะของโรคอยู่ในระดับที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะไม่สามารถงอและเหยียดนิ้วให้ตรง หรือทำท่าแบมือได้อีก 

2. พบอาการตึงและงอเหยียดนิ้วยากขึ้นในตอนเช้า

อาการงอและเหยียดนิ้วได้ยากในข้อหนึ่งมักจะปรากฎเด่นชัดหลังจากผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานนิ้วเป็นระยะเวลานาน  เช่นเวลานอนหลับ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักตื่นมาพร้อมกับอาการนิ้วล็อค งอและเหยียดนิ้วไม่ได้ ร่วมกับมีอาการตึงข้อนิ้วในช่วงเช้า 

แต่เมื่อเริ่มทำกิจวัตรประจำวันไปได้สักพัก มีการใช้งานนิ้วหยิบจับทำกิจกรรมต่างๆ อาการนิ้วล็อคก็จะค่อยๆ ดีขึ้น จากนั้นก็จะกลับมาแย่ลงในตอนเช้าอีก

3. รู้สึกเจ็บที่โคนนิ้ว

โคนนิ้ว คือ ตำแหน่งของปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือซึ่งเป็นต้นตอของโรคนิ้วล็อค ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงมักมีอาการเจ็บที่โคนนิ้ว หากลองเอานิ้วกดลงไปที่โคนนิ้วก็จะรู้สึกเจ็บกว่าเดิม ซึ่งอาการเจ็บมักจะไม่ลุกลามไปตำแหน่งอื่นของฝ่ามือหรือนิ้วมือ 

4. คลำเจอก้อนที่โคนนิ้ว

นอกจากอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นจะก่อให้เกิดอาการเจ็บแล้ว ยังก่อให้เกิดอาการบวมของปลอกหุ้มจนปูดนูนเป็นก้อนที่โคนนิ้วได้อีกด้วย

5. รู้สึกเหมือนมีก้อนวิ่งผ่านนิ้ว

เป็นอีกอาการเล็กๆ ที่พบได้บ่อยในโรคนิ้วล็อค เมื่อผู้ป่วยพยายามกำและแบนิ้วเข้าออก จะรู้สึกเหมือนมีก้อนบางอย่างวิ่งผ่านข้อนิ้วไปเป็นลูกๆ และเป็นจังหวะ 

6. รู้สึกเหมือนมีแรงดันดีดออกจากนิ้ว

นอกจากรู้สึกเหมือนมีก้อนวิ่งผ่านนิ้ว เมื่อกำและแบมือออก ในจังหวะที่นิ้วเหยียดออกนั้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงแรงดันบางอย่างที่คล้ายกับดีดข้อนิ้วให้หลุดออกไป จากนั้นก็จะกลับมาขยับนิ้วได้ตามปกติอีก

7. มีเสียงกึกกักเวลาขยับนิ้ว

ในระหว่างงอและเหยียดนิ้วมือ ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อคอาจได้ยินเสียงกึกกักดังออกมาจากข้อนิ้วได้ ซึ่งเกิดจากเส้นเอ็นกล้ามเนื้อนิ้วเกิดการติดขัดระหว่างที่กำลังขยับข้อนิ้วนั่นเอง

หากพบ 7 อาการเหล่านี้ หรือแม้เพียงอาการเดียวที่ทำให้คุณไม่มั่นใจว่า ตัวเองเป็นโรคนิ้วล็อคหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาและตรวจกับแพทย์อย่างละเอียด

โดยกระบวนการตรวจโรคนิ้วล็อคกับแพทย์นั้นไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ส่วนมากมักเป็นเพียงการซักประวัติ สอบถามอาการและตรวจดูข้อนิ้วเท่านั้น ซึ่งก็สามารถวินิจฉัยโรคนิ้วล็อคได้เพียงพอแล้ว 

ยกเว้นหากรอยโรคยังไม่ชัดเจนพอ ในกรณีนี้แพทย์จึงจะส่งตัวผู้ป่วยไปรับการตรวจสแกนร่างกายเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์ เป็นต้น

สังเกตตัวเองแล้วพบสัญญาณเสี่ยง! เริ่มรู้สึกกังวลใจ มาปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top