ตอบ 8 คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าฝีคัณฑสูตร scaled

ตอบ 8 คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าฝีคัณฑสูตร

ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นฝีคัณฑสูตร และแพทย์แนะนำว่าควรผ่าตัด แต่ยังไม่แน่ใจว่าเทคนิคผ่าตัดฝีคัณฑสูตรที่แพทย์แนะนำนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดจริงๆ ไหม 

การปรึกษาแพทย์ท่านอื่นเพื่อขอความเห็นที่สองอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ทำได้ โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงได้แก่ ทางเลือกทั้งหมดในการรักษา ข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละวิธี ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (โดยเฉพาะเรื่องการกลั้นอุจจาระ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้หลังผ่าฝีคัณฑสูตร) และโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของวิธีนั้นๆ

บทความนี้รวบรวม 8 คำถาม-คำตอบเบื้องต้น ที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตร

1. ฝีคัณฑสูตร รักษาด้วยตัวเองได้ไหม?

ตอบ: โดยทั่วไป โรคฝีคัณฑสูตรจะไม่หายเอง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา

การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยตัวเองไปตามอาการมักทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ก่อให้เกิดฝีหนอง และทำให้ทางเชื่อมบริเวณผิวหนังทวารหนักเปิดขึ้นมาอีก

กรณีที่ฝีคัณฑสูตรที่ผู้ป่วยเป็น มีสาเหตุมาจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bewel Disease) แต่ไม่ได้เกิดการติดเชื้อ ฝีคัณฑสูตรอาจหายได้จากการรักษาด้วยยา ไม่ต้องผ่าตัด

เพื่อให้รักษาได้ถูกต้อง ถ้ามีอาการถ่ายเป็นเลือด พบมูก เลือด หนอง เมื่อขับถ่ายอุจจาระ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นฝีคัณฑสูตรหรือไม่ และควรรักษาด้วยวิธีไหนจึงจะเหมาะกับชนิดฝีคัณฑสูตรที่เป็น

2. รักษาฝีคัณฑสูตรแบบไม่ผ่าตัดได้อย่างไร?

ตอบ: ปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567) วิธีเดียวที่สามารถรักษาฝีคัณฑสูตรได้โดยไม่ต้องผ่าตัด คือ การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยกาวไฟบริน (Fibrin Glue)

ขั้นตอนคือ หลังวางยาสลบผู้ป่วย แพทย์จะใส่กาวทางการแพทย์เข้าไปในโพรงฝีคัณฑสูตร กาวนี้จะไปเปิดโพรงฝี และช่วยให้ร่างกายสมานแผลเอง

อย่างไรก็ตาม การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยกาวไฟบรินโดยทั่วไปแล้วถือว่าให้ประสิทธิภาพการรักษาฝีคัณฑสูตรชนิดไม่ซับซ้อน (โพรงฝีมีทางเข้า 1 ทาง ออก 1 ทาง ไม่แตกแขนง ไม่ลามไปยังอวัยวะอื่น) น้อยกว่าการผ่าตัด (Fistulotomy) และเมื่อรักษาไปแล้ว ฝีคัณฑสูตรก็ยังอาจกลับมาอีก

การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยกาวไฟบรินจึงมักใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่โพรงฝีพาดผ่านกล้ามเนื้อหูรูด ซึ่งการผ่าตัดก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้เสียหาย และเกิดปัญหากลั้นอุจจาระได้ในอนาคต

รู้จัก ฝีคัณฑสูตร อาการเป็นอย่างไร เป็นแล้วหายเองได้ไหม ผ่าตัดได้หรือเปล่า? อ่านข้อมูลที่ครบที่สุด เกี่ยวกับฝีคัณฑสูตรได้ที่นี่ คลิกเลย

3. ผ่าฝีคัณฑสูตรด้วยเทคนิคอะไร ได้ผลดีมากที่สุด?

ตอบ: ขึ้นอยู่กับชนิดของฝีคัณฑสูตร รวมถึงตำแหน่งโพรงฝีที่ผู้ป่วยแต่ละคน

แต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้าโพรงฝีไม่ได้พาดผ่านกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เทคนิคผ่าตัดเปิดโพรงฝีคัณฑสูตรเพื่อระบายสิ่งสกปรกและทำความสะอาด (Fistulotomy) มักเป็นวิธีที่ได้ประสิทธิภาพที่สุด อยู่ที่ประมาณ 95%

เทคนิคนี้แพทย์จะสอดแท่งเล็กๆ (Probe) เข้าไปในโพรงฝี ใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้าผ่าโพรงฝีตามแนวยาว แล้วนำเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกจนหมด รอยผ่าตามแนวยาวจะกลายเป็นผิวเรียบ ช่วยให้แผลสมานตัวกลายเป็นพังผืดเรียบ (Flat Scar) แล้วอุดบริเวณที่เคยเป็นโพรงฝีไปทั้งหมด

ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดเข้าใกล้กล้ามเนื้อหูรูด แพทย์จะพยายามรักษากล้ามเนื้อหูรูดไว้ เพื่อป้องกันปัญญากลั้นอุจจาระไม่ได้ที่อาจเกิดขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม ถ้าตำแหน่งโพรงฝี อยู่ในจุดที่ผ่าตัดแล้วจะต้องเสียกล้ามเนื้อหูรูดมาก แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดด้วยเทคนิคอื่นแทน เช่น ผ่าตัดด้วยไหมซีตอน หรือผ่าตัดด้วยเทคนิค LIFT

4. ผ่าฝีคัณฑสูตร กี่วันหาย?

ตอบ: ผ่าฝีคัณฑสูตรเสร็จแล้วจะหายทันทีเลยไหม ต้องพักฟื้นนานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด ความรุนแรงของโรคฝีคัณฑสูตรที่เป็น รวมถึงสภาพร่างกายที่แตกต่างกันด้วย

โดยมากหลังจากผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแล้วมักกลับบ้านได้ภายในวันที่ผ่าตัดเลย ไม่ต้องนอนค้างในโรงพยาบาล หลังผ่าตัดใหม่ๆ ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเจ็บปวดหรือพบของเหลวซึมออกจากแผลได้เล็กน้อยเป็นปกติ

ตัวอย่างเช่น หลังรับการผ่าตัดเปิดโพรงฝีคัณฑสูตรเพื่อระบายสิ่งสกปรกและทำความสะอาด (Fistulotomy) ผู้ป่วยมักกลับไปทำงานได้ภายใน 1-2 วัน (แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนประมาณ 1-3 สัปดาห์)

กรณีที่ผ่าตัดแบบเอาเลาะโพรงฝีคัณฑสูตรออกทั้งหมด (Fistulectomy) ซึ่งมีการวางยาสลบ ผู้ป่วยมักต้องพักฟื้นนานกว่าแบบ Fistulotomy โดยอาจต้องนอนพักสังเกตอาการในโรงพยาบาล 1-2 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านอีกนานเป็นสัปดาห์จึงจะค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น

5. ผ่าฝีคัณฑสูตร ต้องนอนโรงพยาบาลกี่วัน?

ตอบ: ตามปกติแล้วการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรหลายๆ เทคนิค เช่น Fistulotomy มักเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดภายใต้ยาชาเฉพาะที่หรือยาสลบ จากนั้นพักสังเกตอาการในห้องพัก ถ้าไม่พบความผิดปกติแพทย์จะให้กลับบ้านได้ในวันนั้นเลย

ยกเว้นถ้าผ่าตัดด้วยเทคนิค Fistulectomy ซึ่งมีการวางยาสลบ และเป็นหัตถการที่เสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายกว่าหัตถการอื่นๆ ผู้ป่วยมักต้องพักฟื้นโดยนอนค้างคืนในโรงพยาบาล 1-2 วันแล้วค่อยกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน

6. ฝ่าฝีคัณฑสูตรแบบ LIFT คืออะไร?

ตอบ: LIFT ย่อมาจาก Ligation of the Intersphincteric Fistula Tract เป็นเทคนิคการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรที่ด้านหนึ่งของโพรงฝีอยู่บริเวณกล้ามเนื้อหูรูดด้านในทวารหนัก และรูเปิดอีกด้านอยู่ที่กล้ามเนื้อหูรูดด้านนอกทวารหนัก

เทคนิคนี้แพทย์จะค่อยๆ กรีดเปิดเข้าไประหว่างชั้นกล้ามเนื้อหูรูดโดยไม่ตัดกล้ามเนื้อดังกล่าว จากนั้นทำการเย็บปิดทางเชื่อมที่อยู่ใกล้รูเปิดด้านในทวารหนัก แล้วขูดทำความสะอาดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก โดยอาจตามด้วยการใส่ไหมซีตอน (Seton) ค้างไว้ในโพรงฝี เพื่อให้เป็นช่องทางระบายของเหลวที่อาจมีขึ้นได้

ข้อดีของเทคนิค LIFT คือกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจะไม่เสียหาย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัดการผ่าฝีคัณฑสูตรแบบ

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยเทคนิค LIFT อยู่ที่ประมาณ 75% น้อยกว่าการผ่าแบบ Fistulotomy และจัดว่าเป็นเทคนิคใหม่ ดังนั้นการศึกษาผลข้างเคียงจึงอาจยังมีไม่มากเท่าเทคนิคผ่าฝีคัณฑสูตรแบบอื่น

7. ผ่าฝีคัณฑสูตรแบบใช้ไหมซีตอน (Seton) น่ากลัวไหม?

ตอบ: เมื่อพูดถึงการรักษาที่ต้องคาเส้นไหมไว้ในเนื้อของผู้ป่วยเป็นเวลานาน บางคนอาจมีความกังวล แต่ความจริงแล้วเส้นไหมซีตอนเป็นไหมทางการแพทย์ที่มีขนาดเล็กและค่อนข้างยืดหยุ่น อีกทั้งวิธีการรักษาก็ไม่ได้น่ากลัว

การผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรแบบใช้ไหมซีตอนมักทำหลังจากได้ผ่าตัดทำความสะอาดโพรงฝี นำเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกเรียบร้อยแล้ว แบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่

1. Seton Drain เป็นการใช้ไหมใส่เข้าไปในโพรงฝี แผลโพรงฝีจะค่อยๆ สมานตัวและเข้ามารัดเส้นไหม แต่ไม่สมานสนิทจนไม่เหลือรูเปิด เพื่อให้ถ้ายังมีของเหลวใดๆ ขึ้นในโพรงฝีเดิม ของเหลวนั้นจะสามารถระบายออกได้

แบบจำลองการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเทคนิค-Seton-Drain

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

2. Cutting Seton วิธีนี้แพทย์จะคล้องไหมเข้าไปในโพรงฝีคัณฑสูตรของผู้ป่วย โดยปลายไหมข้างหนึ่งยื่นออกมาที่รูเปิดผิวหนัง ปลายไหมอีกด้านยื่นออกมาทางรูทวารหนัก แล้วผูกปลายทั้งสองเข้าด้วยกัน จากนั้นค่อยๆ กระชับวงไหมให้แคบลงเรื่อยๆ เนื้อเยื่อภายในโพรงฝีจะค่อยๆ เติมจนเต็มขึ้นเอง และในที่สุดไหมซีตอนจะหลุดออกมา

แบบจำลองการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเทคนิค-Cutting-Seton

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

8. ผ่าฝีคัณฑสูตร ต้องวางยาสลบไหม?

ตอบ: แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจำเป็นต้องวางยาสลบแก่ผู้ป่วยที่ผ่าฝีคัณฑสูตรหรือไม่ โดยถ้าเป็นฝีคัณฑสูตรชนิดไม่ซับซ้อนและอยู่ตื้นๆ ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน แพทย์อาจใช้เพียงฉีดยาชาเฉพาะที่ แต่ถ้าฝีอยู่ตำแหน่งลึกเข้าไปมาก อาจใช้วิธีอื่น เช่น ฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลัง (บล็อกหลัง) หรือวางยาสลบให้ผู้ป่วยหลับไประหว่างผ่าตัด

ฝีคัณฑสูตรเป็นโรคที่พบได้โดยทั่วไป ทางเลือกในการผ่าตัดรักษามีหลายเทคนิคสำหรับชนิดและระยะของโรคที่แต่ละคนเป็น 

ถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าคุณเป็นฝีคัณฑสูตร แนะนำให้ผ่าตัด แต่คุณยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top