breast cancer disease definition scaled

มะเร็งเต้านม โรคร้ายแรงที่ผู้หญิงทุกคนต้องระวัง

หากพูดถึงโรคในเต้านมผู้หญิง ที่ร้ายแรงที่สุด “มะเร็งเต้านม” จะต้องเป็นโรคที่ทุกคนนึกถึงอย่างแน่นอน เพราะเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและทั่วโลก แต่ถ้าเราเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคนี้ให้ดี หมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ และหากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็มีโอกาสรักษาหายและอัตราการรอดชีวิตสูง

สำหรับใครที่มีข้อกังวลใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมอยู่ หรือสงสัยว่ามะเร็งเต้านมคืออะไร มีกี่ระยะ ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ บทความนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับโรคมะเร็งเต้านมอย่างละเอียด ไปหาคำตอบพร้อมกันได้เลย

มะเร็งเต้านมคืออะไร?

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือ โรคที่เซลล์ในเต้านมเติบโตอย่างผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็ง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย” 

โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเริ่มจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนม และ/หรือต่อมน้ำนม จนทำให้เกิดเนื้อร้าย ถ้าผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมไม่รู้ตัว และไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงที เนื้อร้ายนี้ก็จะเจริญเติบโตขึ้นและกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ ต่อด้วยอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ?

มะเร็งเต้านมจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามขนาดของก้อนมะเร็งและการแพร่กระจาย ได้แก่

  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และไม่มีมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-5 เซนติเมตร และ/หรือ มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันอย่างมาก จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่ หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง
  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรือเรียกว่ามะเร็งระยะสุดท้าย ก้อนมะเร็งจะมีขนาดเท่าใดก็ได้ และมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป ไม่ว่าจะเป็น ปอด ตับ สมอง หรือกระดูก

มะเร็งเต้านมระยะที่ 0 คืออะไร?

มะเร็งเต้านมระยะที่ 0 จะเป็นชื่อเรียกของมะเร็งเต้านมในระยะที่ยังไม่ลุกลาม (Carcinoma in situ) เป็นช่วงที่เซลล์มะเร็งเพิ่งก่อตัวและยังไม่ได้ลุกลามออกมานอกท่อน้ำนม ถือเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกที่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอัตราการอยู่รอดเกิน 5 ปี สูงถึง 70-90%

สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เซลล์ท่อน้ำนมเกิดความผิดปกติและกลายพันธ์ุจนกลายเป็นมะเร็งเต้านม แต่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยเหล่านี้

    • เพศหญิง ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากถึง 99% ในขณะที่ผู้ชายจะพบแค่เพียง 1% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด
    • อายุที่เพิ่มมากขึ้น มักพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
    • การตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรด้วยตนเอง จะมีความเสี่ยงในการมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์ และ/หรือ ไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตัวเอง
    • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็น แม่ น้องสาว หรือพี่สาว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น
    • มีหน้าอกแน่น (Dense Breasts) เป็นลักษณะของหน้าอกที่มีเนื้อเยื่อและต่อมน้ำนมมากกว่าคนอื่นๆ จึงมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า อีกทั้งยังตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมได้ยากขึ้นด้วย
    • ความอ้วน โรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
    • ประจำเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือผู้ที่หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไป เพราะร่างกายจะสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานกว่าปกติ
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2-5 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม 1.5 เท่า
    • การใช้ยาฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็น ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์เต้านมให้เจริญเติบโต

ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตอนอายุเท่าไหร่?

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า หากพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะมีโอกาสรักษาให้หายสูงกว่า ดังนั้นการตรวจดูสุขภาพเต้านมของตัวเองเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย โดยแต่ละช่วงอายุ ควรตรวจคัดกรองเต้านมด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยแนะนำให้ตรวจหลังจากที่ประจำเดือนหมดไปแล้ว 2-3 วัน เนื่องจากมีอาการคัดเต้านมน้อย หากคลำเจอก้อนที่เต้านม ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
  • ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการตรวจเต้านมโดยแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจติดตามอาการอย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินเองว่าควรตรวจเอกซเรย์เต้านม ตรวจอัลตราซาวด์เต้านม หรือตรวจแมมโมแกรมต่อหรือไม่
  • ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นมะเร็งเต้านมลบด้วย 5-10 ปี

ลักษณะอาการของมะเร็งเต้านม

ลักษณะอาการ หรือสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม มีดังนี้

  • คลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้
  • เต้านมมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • เต้านมมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • สีผิวของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผิวขรุขระ ผิวเปลือกส้ม ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น หรือมีก้อนเนื้อนูนขึ้น เป็นต้น
  • มีรอยบุ๋ม หรือย่นที่บริเวณเต้านม
  • หัวนมผิดรูป หรือหัวนมบอดบุ๋ม
  • มีอาการเน่าของหัวนม หรือส่วนอื่นๆ บริเวณเต้านม
  • มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม ไม่ว่าจะเป็น น้ำเหลืองใส หรือเลือด
  • เต้านมมีผื่นแดง หรือร้อน
  • มีแผลที่บริเวณหัวนม เป็นแผลสีแดง และมักจะรักษาไม่หาย
  • มีอาการปวดบริเวณเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาจปวดเล็กน้อยไปจนถึงปวดมาก
  • มีอาการดึงรั้งของผิวหนังบริเวณเต้านม

ถ้าหากตรวจพบอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อใดก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือหากต้องการค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่คลินิก หรือ รพ. ใกล้บ้านคุณ ก็สามารถทักหา HDcare ช่วยค้นหาดีลดีโดนใจได้เลย! คลิก

มะเร็งเต้านมอันตรายไหม?

มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่เราสามารถลดอันตรายลงด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ร่วมกับการหมั่นสังเกตเต้านมของตนเอง และตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ยิ่งรู้เร็วมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และโอกาสในการรักษาหายมากขึ้นเท่านั้น

วิธีรักษามะเร็งเต้านม

แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม จะทำร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ที่ทำการรักษา ชนิดและระยะของมะเร็งเต้านมที่พบ อายุและความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยวิธีรักษามะเร็งเต้านมมีดังนี้

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม เป็นวิธีรักษาที่เหมาะกับผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

    • ผ่าตัดเต้านม มีทั้งการผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งเต้า ไม่ว่าจะเป็น ก้อนมะเร็ง ผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็ง หรือหัวนม และการผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน เอาเฉพาะก้อนมะเร็งและเนื้อของเต้านมปกติที่อยู่รอบๆ
    • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มักทำร่วมกับผ่าตัดเต้านม เพื่อทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดีและทำให้ทราบระยะที่แท้จริงของโรคมะเร็งเต้านม โดยจะมีทั้งการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกบางส่วนเช่นกัน
    • ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อบริเวณอื่นของร่างกาย หรือใช้วัสดุที่ทำเลียนแบบเต้านมมาเสริมสร้างเต้านมใหม่ เพื่อทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจมากขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ

การรักษาด้วยการฉายแสง (รังสีรักษา)

เป็นการฉายอนุภาครังสีที่มีพลังงานสูงเข้าไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็วมาก โดยจะทำร่วมกับการผ่าตัดเต้านม โดยแพทย์จะให้ฉายแสงวันละ 3-5 นาที ทำสัปดาห์ละ 5 วัน หยุด 2 วัน ติดต่อกันประมาณ 3-6 สัปดาห์

การรักษาด้วยยา

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

    • ยาเคมีบำบัด เป็นยาที่มีคุณสมบัติในการทำลาย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และอาจมีผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวอย่างเร็วอย่าง เซลล์ไขกระดูก ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร หรือเซลล์เส้นผมและขนด้วย
    • ยามุ่งเป้า เป็นยากลุ่มใหม่ที่สามารถออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งได้โดยตรง เช่น ยาต้านเฮอร์ทู (anti-HER2) สำหรับรักษามะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทูโดยเฉพาะ มีข้อดีตรงที่รักษาได้เฉพาะเจาะจงและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่มีข้อจำกัดตรงที่ใช้ได้แค่ผู้ป่วยบางรายเท่านั้น และมีราคาสูง
    • ยาต้านฮอร์โมน จะใช้รักษาผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาติดต่อกันประมาณ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
    • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการให้ยาที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะดูอันตราย แต่ถ้าเราตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มาก ทุกคนจึงควรหมั่นตรวจสุขภาพเต้านมของของตัวเองเป็นประจำทุกเดือน และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเมื่อถึงช่วงอายุที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top