breast disease definition scaled

เต้านม เกิดความผิดปกติอะไรได้บ้าง

การดูแลสุขภาพเต้านมในผู้หญิงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สามารถเกิดโรค หรือภาวะผิดปกติต่างๆ ได้มากมาย แล้วมีความผิดปกติอะไรบ้างที่ต้องกังวล ในบทความนี้ เราได้รวมความผิดปกติที่พบได้ในเต้านมผู้หญิงมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย

แบบไหนที่เรียกว่า “เต้านมเกิดความผิดปกติ”

เต้านมเกิดความผิดปกติ คือ การที่เต้านมมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจมาด้วยอาการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 

  • คลำพบก้อนที่เต้านม
  • รูปร่าง หรือขนาดของเต้านมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
  • สีผิวของเต้านมมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีผิวสีแดง หรือผิวลักษณะคล้ายเปลือกส้ม
  • มีสิ่งผิดปกติไหลมาจากหัวนม เช่น เลือด หรือน้ำใสๆ

หากมีอาการเหล่านี้ แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในเต้านมของคุณ จะต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาทันที เพราะอาจเกิดจากโรค หรือภาวะผิดปกติที่เมื่อเป็นแล้ว ไม่เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ โรคอาจลุกลาม รุนแรงจนรักษาได้ยากขึ้นและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

เต้านมเกิดโรคอะไรได้บ้าง?

เต้านมเกิดความผิดปกติได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย เพื่อให้ สามารถดูแลสุขภาพเต้านมของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เราได้รวมโรค หรือภาวะผิดปกติที่สามารถพบได้ในเต้านมผู้หญิงมาให้แล้ว ดังนี้

1. เนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma) 

เป็นก้อนเนื้อเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ประกอบด้วยพังผืดและเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำนม ขนาดประมาณ 1-5 เซนติเมตร ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ไม่เป็นอันตราย และในบางครั้งสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

2. กลุ่มโรคถุงน้ำในเต้านม (Fibrocystic Changes)

เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ุ มีหลายภาวะ เช่น 

  • ถุงน้ำในเต้านม (Breast Cysts) 
  • ท่อน้ำนมขยายหรือโป่งพอง (Duct Ectasia)
  • พังผืด (Fibrosis) 
  • ท่อน้ำนมหนาตัว (Ductal Hyperplasia) 

โรคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอันตราย ถ้าไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา โดยภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ถุงน้ำในเต้านม หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ซีสต์เต้านม” เกิดจากร่างกายของผู้หญิงมีการเตรียมพร้อมให้นมบุตรในทุกๆ เดือน ตามปกติแล้ว ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ ไม่มีการตั้งครรภ์ เมื่อมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเพศลดลง ถุงน้ำก็จะค่อยๆ ยุบลงไปเอง แต่ในบางครั้งก็อาจมีบางถุงที่ยังพองอยู่ และทำให้เกิดซีสต์ที่เต้านมได้

3. ก้อนแข็งที่เกิดจากเซลล์ไขมันในเต้านมถูกทำลาย (Fat Necrosis)

เป็นความผิดปกติในเต้านมที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่มะเร็ง และไม่เป็นอันตราย มีสาเหตุมาจากเต้านมได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนทำให้เซลล์ไขมันในเต้านมตาย ซึ่งเซลล์ไขมันเหล่านี้จะไม่ได้สลายไป แต่จะจับตัวเป็นก้อนแข็งแทน

นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่เสริมหน้าอกด้วยการฉีดไขมันด้วย โดยจะมีเซลล์ไขมันบางส่วนที่ตายและฝ่อตัวลง ในระยะยาวจะมีแคลเซียมมาเกาะเซลล์ไขมันที่ตายไป ทำให้เป็นก้อนแข็ง และมีลักษณะคล้ายกับเซลล์มะเร็ง

4. มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป เกิดจากเซลล์เต้านมกลายพันธ์ุและเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอก มีลักษณะเป็นก้อนแข็งกว่าก้อนเนื้อชนิดอื่น และอาจทำให้เกิดอาการผิวหนังดึงรั้ง หัวนมดึงรั้ง หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย

ชนิดของมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 

  • เนื้องอกเต้านมชนิด DCIS (Ductal Carcinoma In Situ) เป็นเซลล์มะเร็งที่อยู่ในท่อน้ำนม เป็นชนิดที่มีโอกาสแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก มักอยู่แต่ในเต้านม
  • มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Invasive cancer) เป็นเซลล์มะเร็งที่มีการทะลุเยื่อบุท่อน้ำนม เป็นชนิดของมะเร็งเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุด เมื่อเป็นแล้ว จะมีโอกาสแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกายผ่านระบบไหลเวียนโลหิตและต่อมน้ำเหลืองได้

5. ภาวะมีของเหลวออกจากหัวนม (Nipple Discharge)

สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น เนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง มะเร็งเต้านม ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาทางจิตเวช ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรด ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาคุมกำเนิด ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการตั้งครรภ์

หากคุณมีของเหลวคัดหลั่งออกมาจากหัวนม โดยที่ไม่มีการบีบกระตุ้น และออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำสีใส น้ำสีเหลืองใส หรือมีเลือดปน แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านม เพราะอาจเกิดจากสาเหตุที่เป็นอันตรายได้

6. เต้านมอักเสบ (Mastitis)

มักเกิดในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยเกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเต้านม และท่อน้ำนมอุดตัน มีสาเหตุมาจากร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากเกินกว่าที่ลูกต้องการ ทำให้ลูกดูดนมไม่หมด มีน้ำนมค้างอยู่ที่เต้า และทำให้เกิดการอุดตันตามมา

เต้านมอักเสบนั้น จะทำให้เกิดอาการเต้านมบวมแดง คันที่เต้านม รู้สึกเจ็บหรือร้อนบริเวณเต้านม มีของเหลว หรือเลือดไหลออกจากหัวนม มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย และในบางรายอาจคลำพบก้อนที่บริเวณเต้านมด้วย

เมื่อเป็นแล้ว สามารถไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการระบายน้ำนม และแนะนำวิธีการให้นมบุตรและดูแลเต้านมขณะให้นมบุตรอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการอุดตันซ้ำ

7. ท่อน้ำนมขยาย หรือโป่งพอง (Mammary Duct Ectasia) 

ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มีสาเหตุมาจากการอักเสบและอุดตันของท่อน้ำนมบริเวณใต้หัวนม ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และมีน้ำคัดหลั่งข้นเหนียวสีเทาถึงสีเขียวออกมาทางหัวนม สามารถรักษาด้วยวิธีเดียวกับเต้านมอักเสบ

จะเห็นได้ว่า ความผิดปกติของเต้านมเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งสาเหตุที่ไม่เป็นอันตรายอย่างถุงน้ำในเต้านม หรือเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง และสาเหตุที่เป็นอันตรายอย่างมะเร็งเต้านม การดูแลสุขภาพเต้านมของตัวเองอยู่เสมอ หมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย

สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top