12 เรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IUI scaled

12 เรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IUI

การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine insemination, IUI) เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก ถือเป็นวิธีการรักษาผู้มีบุตรยากยอดนิยมและหลายคนให้ความสนใจ เพราะมีวิธีการที่ไม่ซับซ้อน ใกล้เคียงกับวิธีธรรมชาติ รวมทั้งมีราคาไม่แพง ในบทความนี้เราจึงรวบรวมเรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IUI มาฝาก

เรื่องที่คนอยากรู้เกี่ยวกับการทำ IUI

1. การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI เหมาะกับใคร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

ตอบ: ในการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากนั้น คุณหมอจะพิจารณาจากความพร้อมของทั้งผู้ชายและผู้หญิง ว่าเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด แต่โดยปกติแล้วจะเลือกทำ IUI ก่อน เพราะเป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อน และราคาถูกที่สุด ถ้าไม่สำเร็จจึงค่อยขยับเป็นวิธี IVF และ ICSI ตามลำดับ

IUI คือ การฉีดเชื้ออสุจิ ที่ผ่านการคัดกรองตัวที่แข็งแรงเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง โดยใช้ท่อพลาสติกขนาดเล็กสอดผ่านปากมดลูก แล้วฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกช่วงที่ไข่ตก โดยอสุจิจะว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ที่ท่อนำไข่เองตามธรรมชาติ คล้ายกับการมีเพศสัมพันธ์

  • เหมาะสำหรับ: คู่ที่ฝ่ายชายมีอสุจิที่ไม่แข็งแรง หรือฝ่ายหญิงที่ไข่ตกน้อย หรือมูกช่องคลอดเหนียวข้นเกินไป อสุจิว่ายเข้าไปไม่ได้
  • ข้อดี: ราคาถูกที่สุด คล้ายธรรมชาติ เจ็บตัวน้อยที่สุด
  • ข้อจำกัด: ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่อุดตัน เคยตัดท่อนำไข่ ใช้วิธีนี้ไม่ได้
  • โอกาสท้อง: เฉลี่ยประมาณ 5 – 15%

เช็คโปรฯ รักษาภาวะมีบุตรยาก พร้อมเปรียบเทียบราคา จากคลินิกและ รพ. ชั้นนำ คลิกเลย

2. การทำ IUI ทำได้ทุกคนไหม ไม่เหมาะกับใคร

ตอบ: แม้ว่า IUI จะเป็นทางเลือกแรกๆ ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับวิธีการ IUI โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคต่างๆ ดังนี้

  • ผู้หญิงที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แบบรุนแรง
  • ผู้หญิงที่ตัดต่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้าง หรือผูกท่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้างแล้ว
  • ผู้หญิงที่มีโรคเกี่ยวกับท่อนำรังไข่ชนิดรุนแรง
  • ผู้หญิงที่เกิดการติดเชื้อในอุ้งกระดูกเชิงกราน
  • ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี เนื่องจากอาจมีภาวะมดลูกเสื่อม อีกทั้งรังไข่ยังเหลือไข่จำนวนไม่มาก ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์จากการทำ IUI น้อยกว่าปกติ
  • ผู้ชายที่ไม่สามารถผลิตเชื้ออสุจิได้ 

หากใครที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลรับทราบ เพื่อที่จะช่วยประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

3. ทำ IUI แล้วไม่ติดกี่ครั้ง ถึงควรเปลี่ยนวิธี

ตอบ: การทำ IUI ถือเป็นวิธีการยอดนิยมสำหรับผู้เริ่มต้นรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่หลายคนเจอปัญหาว่า ฉีดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่ติดสักที และสงสัยว่า ควรเปลี่ยนวิธี หรือลองวิธีเดิมต่อไปก่อน

สำหรับการทำ IUI นั้น ยิ่งทำติดต่อกันหลายรอบ ก็ยิ่งเพิ่มอัตราความสำเร็จได้มากขึ้น ส่วนใหญ่มักจะสำเร็จในครั้งที่ 3-4 หากไม่สำเร็จก็สามารถทำต่อเนื่องได้ โดยแพทย์อาจตรวจดูสาเหตุเพิ่มเติม เพื่อหาทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรทำเกิน 6 ครั้ง หากลองทำถึง 6 ครั้งแล้วยังไม่สำเร็จ แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธี IVF หรือ ICSI แทน

คู่เรา เหมาะกับวิธีไหน? IUI IVF หรือ ICSI ทักหาทีม HDcare เพื่อปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางผ่านไลน์ได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย

4. ทำไมไม่สามารถเลือกเพศลูกได้ 

ตอบ: การทำ IUI ไม่สามารถเลือกเพศลูกได้ เนื่องจากเป็นการปฏิสนธิโดยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังผิดกฎหมายของประเทศไทยอีกด้วย

โดยแพทยสภาได้มีประกาศเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ไว้ว่า การเลือกเพศของลูกจะทำได้เฉพาะการตรวจวินิจฉัยโรคตามความจำเป็น และต้องไม่กระทำในลักษณะการเลือกหรือกำหนดเพศ โดยสถานพยาบาลและแพทย์ผู้ให้บริการต้องได้รับหนังสือรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้

5. การทำ IUI สามารถมีลูกแฝดได้หรือไม่

ตอบ: ในการทำ IUI นั้น หากมีการกระตุ้นไข่จนตกไข่มากกว่า 1 ฟอง ก็อาจเกิดลูกแฝดได้ เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์กันตามปกติ ก็มีโอกาสเกิดแฝดได้จากการที่เซลล์แบ่งตัวมากกว่าปกติเช่นกัน

6. ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้การทำ IUI ประสบความสำเร็จ

ตอบ: ความสำเร็จจากการทำ IUI ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อการกระตุ้นการตกไข่ คุณภาพของไข่และอสุจิ ความแข็งแรงของตัวอ่อน ความพร้อมทางด้านร่างกายของผู้หญิง ความพร้อมทางด้านการเงินของคู่สมรส (เนื่องจากต้องทำซ้ำหลายครั้ง) รวมไปถึงอายุ ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ หากคนไข้มีอายุมากขึ้น อัตราความสำเร็จก็จะลดลง

7. ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถทำ IUI ได้หรือไม่

ตอบ: ตอนนี้กฎหมายในเมืองไทยอนุญาตเฉพาะคู่ที่จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น โดยต้องแสดงทะเบียนสมรสก่อนทำด้วย ดังนั้น หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็จะไม่สามารถทำ IUI ได้

8. ทำหมันแล้ว สามารถทำ IUI ได้หรือไม่

ตอบ: สำหรับผู้หญิงที่ทำหมันแล้ว จะไม่สามารถทำ IUI ได้ เนื่องจากการทำหมันของในผู้หญิง เป็นการผูก รัด หนีบ หรือตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้าง การที่ไม่มีท่อนำไข่ ส่งผลให้เชื้ออสุจิไม่สามารถว่ายผ่านไปปฏิสนธิกับไข่ได้ ดังนั้น หากต้องการมีลูก แพทย์อาจพิจารณาให้แก้หมัน หรือทำ IVF, ICSI แทน

ส่วนผู้ชายที่ทำหมันแล้ว แม้ว่าจะสามารถต่อหมันได้ แต่โอกาสสำเร็จมีไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากอสุจิอาจมีไม่เพียงพอต่อการฉีดกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ในกรณีนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ทำ ICSI ร่วมกับการทำ PESA

ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยวิธีไหนดี ไม่แน่ใจว่า วิธีไหนจะเพิ่มโอกาสท้องได้ดีที่สุด นัดคุยกับคุณหมดเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่ 

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IUI

9. การตั้งครรภ์โดยวิธี IUI มีความเสี่ยงแท้งง่ายจริงไหม

ตอบ: ความเสี่ยงในการแท้งบุตรของการตั้งครรภ์โดยวิธี IUI กับวิธีการทางธรรมชาตินั้น ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก เพราะการแท้งไม่ได้มีสาเหตุมาจากวิธีการที่ทำให้ตั้งครรภ์ แต่มีผลมาจากปัจจัยอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ดูแลจะช่วยประเมินความเสี่ยง โดยสอบประวัติ ตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรม และการติดตามการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยในการพิจารณาความเสี่ยงและให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม

10. การทำ IUI จะรู้สึกเจ็บมาก ใช่ไหม

ตอบ: การทำ IUI นั้นเป็นวิธีที่เจ็บตัวน้อยกว่าวิธีอื่นๆ เช่น IVF, ICSI อย่างไรก็ตาม การฉีดอสุจิผ่านทางปากมดลูกอาจทำให้รู้สึกปวดบีบได้เล็กน้อย แต่อาการปวดนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด และอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน 

11. ทำ IUI ครั้งแรกก็สามารถมีลูกได้เลย

ตอบ: การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกเป็นวิธีกึ่งธรรมชาติ โอกาสตั้งครรภ์จึงไม่สูงนักเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้ว คู่สามีภรรยาที่เลือกวิธีนี้ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก จะใช้เวลา 2-3 รอบ จึงจะตั้งครรภ์

12. หลังจากทำ IUI แล้วต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน

ตอบ: หลังจากทำ IUI แล้ว สามารถกลับบ้านได้ในวันนั้น และทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการออกกำลังกายอย่างหักโหม

เชื่อว่า หลายคู่น่าจะหมดกังวลเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการ IUI และสามารถตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้นว่า เราและคู่รักเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่

ข้อมูลที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top