gallstones screening process scaled

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

ถ้าคุณมีอาการปวดท้องแน่นท้องหลังรับประทานอาหารมันๆ ปวดจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือชายโครงด้านขวา แบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง และกำลังสงสัยว่า อาการที่เป็นอยู่อาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดี บทความนี้นำขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีมาฝาก เพื่อให้คุณเข้าใจและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเข้าตรวจร่างกายได้อย่างเหมาะสม

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

เมื่อผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง และสงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติและสาเหตุของอาการปวด แพทย์จะมีวิธีการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

1. ซักประวัติ และตรวจร่างกาย

อันดับแรกแพทย์จะซักประวัติความเจ็บป่วย สอบถามอาการ สอบถามประวัติการใช้ยา และตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อหาสาเหตุว่า อาการปวดท้องนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใด และมีความเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่

2. ตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของตับ

ขั้นตอนต่อมา เมื่อแพทย์สงสัยความผิดปกติ แพทย์จะให้ผู้ป่วยตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของตับ โดยผู้ป่วยจะนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดบริเวณที่จะเจาะเลือด เพื่อทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน ต่อมาก็ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง ใช้เข็มเจาะและเก็บตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ แล้วนำเข็มออก ปลดสายรัด และปิดแผล

3. ตรวจอัลตราซาวด์บริเวณช่องท้องส่วนบน

หากพบว่าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวด์บริเวณช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) ซึ่งเป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบนเหนือสะดือขึ้นไป เพื่อหาก้อนนิ่วในถุงน้ำดี และหาภาวะถุงน้ำดีอักเสบ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เห็นผลได้ชัดเจน ใช้เวลาไม่นาน สามารถทราบผลได้ทันที

ในขั้นตอนนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยจะนอนลงบนเตียง จากนั้นจะนำเจลเย็นมาทาบริเวณผิวหนังที่จะตรวจ แล้วนำหัวเครื่องตรวจมากดเบาๆ บนผิวหนัง และเคลื่อนไปทั่วบริเวณที่จะตรวจ โดยแพทย์จะตรวจหาความผิดปกติจากภาพที่ปรากฏในจอ

ก่อนตรวจนิ่วในถุงน้ำดีด้วยการอัลตราซาวด์ ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยการงดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีไขมันทุกชนิด ประมาณ 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นถุงน้ำดีได้อย่างชัดเจน 

4. ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องและใช้เข็มเจาะ (PTC)

สำหรับผู้ป่วยบางราย ที่แพทย์สงสัยว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี แพทย์อาจส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน โดยส่องกล้องจากปาก ผ่านหลอดอาหาร ลงไปยังกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น จนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก จากนั้นจะฉีดสารทึบแสง แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ไว้

นอกจากนี้ในรายที่ท่อน้ำดีอุดตัน แพทย์อาจใช้เข็มเจาะผ่านตับเข้าไปในท่อน้ำดี (Percutaneous Transhepatic Cholangiography: PTC) โดยแพทย์จะใช้เข็มเจาะพิเศษ เจาะผ่านทางหน้าท้องไปยังท่อน้ำดี แล้วฉีดสารเพิ่มความคมชัดเข้าไป จากนั้นก็ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ตามบริเวณที่สารเคลื่อนผ่าน

หลังจากตรวจวินิจฉัยแล้ว หากพบว่าเป็นนิ่วในท่อน้ำดี แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาต่อไป

อย่าปล่อยให้อาการรุนแรงแล้วจึงรักษา หากเริ่มมีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือรู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทันที

สงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีอยู่หรือเปล่า อยากตรวจนิ่วในถุงน้ำดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษานิ่วในถุงน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top