gallstones disease definition scaled

นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร สาเหตุ อาการ ปัจจัยเสี่ยง พร้อมวิธีการรักษา

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัว เพราะไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น หากปล่อยไว้นานๆ อาจลุกลามกลายเป็นโรคร้ายได้…เมื่อรู้แบบนี้แล้ว รีบเช็กตัวเองด่วนว่า เรามีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการของโรคนี้หรือไม่ เพื่อที่จะได้รักษาอย่างทันท่วงที

นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร?

ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย มีลักษณะเป็นถุง อยู่บริเวณหน้าท้อง ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดี โดยทั่วไปมีปริมาณประมาณ 50 มิลลิลิตร

เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป แล้วอาหารเข้าสู่กระบวนการย่อย ถุงน้ำดีจะบีบตัวให้น้ำดีลงมาผสม เพื่อช่วยให้ไขมันละลายและย่อยได้

ในบางรายพบว่า มีการตกตะกอนของสารต่างๆ ในน้ำดี จนเกิดเป็นนิ่ว ซึ่งอาจพบก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้ 

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากสาเหตุใด?

นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากสารละลายหลักในถุงน้ำดีเสียสมดุล โดยอาจมีสารบางอย่างอยู่มากเกินไป แล้วขับออกมาไม่หมด จึงตกตะกอนกลายเป็นนิ่วอยู่ภายใน

นิ่วในถุงน้ำดีที่มักจะตรวจพบ มีด้วยกัน 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่

  1. นิ่วที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) เป็นนิ่วชนิดที่พบมากที่สุด เกิดจากคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี หรือกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถบีบขับคอเลสเตอรอลออกมาได้
  2. นิ่วที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment Stones) นิ่วชนิดนี้มีสีคล้ำกว่านิ่วชนิดแรก เกิดจากสารบิลิรูบิน (สารเคมีชนิดหนึ่งที่ให้สีเหลืองออกน้ำตาล เกิดจากการแตกตัวหรือการตายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด) มีปริมาณความเข้มข้นมาก หรือกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถบีบขับบิลิรูบินออกมาได้ มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด 

อาการแบบไหนที่บอกให้รู้ว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี?

ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีในช่วงเริ่มต้น มักไม่ได้มีอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นนิ่ว โดยมากมักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตราซาวด์ในการตรวจสุขภาพประจำปี

ส่วนบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน จะมีอาการให้สังเกต ดังนี้

  1. รู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหารมันๆ หรืออาหารมื้อหนัก มักจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
  2. ปวดจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือชายโครงด้านขวา
  3. ปวดร้าวบริเวณไหล่ หลัง หรือสะบักขวา
  4. รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
  5. หากมีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน อาจตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม มีไข้ หนาวสั่น

นิ่วในถุงน้ำดีอันตรายอย่างไร?

ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดี นอกจากจะพบอาการต่างๆ ตามข้างต้นแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ก้อนนิ่วอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ตับและตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตัน ติดเชื้อรุนแรง หรืออาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้

อาการที่เป็นอยู่ ใช่นิ่วในถุงน้ำดีรึเปล่า อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

ปัจจัยเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร?

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี มีหลายข้อ ได้แก่ 

  1. ภาวะอ้วน: ผู้ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือมีภาวะอ้วน มักจะมีปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีมาก
  2. ฮอร์โมนเอสโตรเจน: ผู้หญิงโดยเฉพาะในวัย 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด รับประทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน รวมทั้งผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และตั้งครรภ์บ่อยครั้ง ล้วนมีความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงขึ้น
  3. โรคเบาหวาน: ผู้ที่มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวาน ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก มักจะพบว่ามีความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี 
  4. โรคประจำตัวอื่นๆ: ผู้ที่มีโรคเลือด โรคโลหิตจาง และธาลัสซีเมีย มีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
  5. การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว: การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุให้ถุงน้ำดีบีบตัวได้น้อยลง จึงมีโอกาสที่จะตกตะกอนเป็นนิ่วได้
  6. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร: การรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล และมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
  7. พันธุกรรม: ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีนิ่วในถุงน้ำดี มักจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมากขึ้น

นิ่วในถุงน้ำดี รักษาได้อย่างไร?

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการรับประทานยามักจะไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากไม่สามารถสลายก้อนนิ่วได้หมด และอาจกลับมาเป็นนิ่วได้อีกครั้ง ดังนั้น ในปัจจุบันแพทย์จึงแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด 

การผ่าตัดเพื่อรักษานิ่วในถุงน้ำดี มีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) และการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)

นิ่วในถุงน้ำดี ป้องกันได้อย่างไร?

หากไม่อยากเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี สามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับพฤติกรรม ดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและกากใยต่ำ เช่น อาหารทอด ปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลบางชนิด อาหารแปรรูป รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ ไม่ปล่อยให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ หากต้องการลดน้ำหนัก ไม่ควรใช้วิธีอดอาหาร เพื่อให้น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ ควรปรับพฤติกรรมการกิน ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. หมั่นตรวจสุขภาพ วัดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันเสมอ
  4. หากต้องรับประทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนทดแทน หรือ ยาลดคอเลสเตอรอล ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

อย่ารอให้ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีสะสมจนมีอาการหนักแล้วจึงรักษา หากพบว่ามีความเสี่ยง รีบตรวจสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะได้รักษาได้ทัน

สงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีอยู่หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษานิ่วในถุงน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top