Default fallback image

ผ่าตัดเนื้องอกสมอง กับ นพ. จักรี ธัญยนพพร ด้วยบริการจาก HDcare

จะรู้ได้ยังไงว่าเสี่ยงมีเนื้องอกในสมอง อาการบ่งชี้มีอะไร และถ้าเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตทุกรายจริงหรือไม่ มีวิธีรักษาอย่างไร ร่วมเจาะลึกข้อมูล “การผ่าตัดเนื้องอกสมอง” กับหมอเบนซ์ นพ. จักรี ธัญยนพพร ศัลยแพทย์ระบบประสาท เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดรักษาโรคเนื้องอกสมองและโรคหลอดเลือดสมอง หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDCare

อ่านประวัติหมอเบนซ์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเบนซ์” คุณหมอผ่าตัดสมอง กับประสบการณ์ผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง]

สารบัญ

โรคเนื้องอกสมองมีสาเหตุจากอะไร? 

ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า โรคเนื้องอกสมองเกิดจากอะไร บางคนเชื่อว่า อาจเกิดจากพันธุกรรม หรือเชื่อว่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง หรือบางคนเข้าใจว่า เกิดจากโรคอื่นๆ ที่คนไข้เป็นอยู่แล้ว เช่น โรคมะเร็งจากตำแหน่งอื่นของร่างกายแล้วเซลล์มะเร็งกระจายมาที่สมองด้วย

เนื้องอกในสมองมีกี่ชนิด

ในแง่ข้อมูลทางการแพทย์ เนื้องอกในสมองสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่ 

  • เนื้องอกดี เป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องผ่าตัดนำออกก็ได้
  • เนื้องอกที่ไม่ดี ซึ่งหมายถึง เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มะเร็ง สามารถแบ่งย่อยออกได้อีก 2 ชนิด ได้แก่ 
    • เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มะเร็งในสมองเอง
    • เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มะเร็งจากที่อื่นและกระจายมายังสมอง

อาการที่สังเกตได้ว่าเราเป็นโรคเนื้องอกสมอง

การสังเกตอาการและสันนิษฐานว่า อาจเป็นโรคเนื้องอกสมองจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

  • การพบความผิดปกติโดยบังเอิญ เช่น การตรวจเอกซเรย์สมองหลังประสบอุบัติเหตุหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง จนทำให้เห็นเนื้องอกในสมอง
  • การพบอาการผิดปกติที่เกิดจากโรคเนื้องอกสมอง เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนแรง อาการชักกระตุก เป็นอัมพาต

สัญญาณที่บ่งชี้ว่าต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน  

หากพบอาการปวดศีรษะหรือปวดไมเกรน หลังจากนั้นก็ยิ่งปวดแรงมากขึ้นอย่างผิดสังเกต ปวดแรงขึ้นทุกเดือน หรือปวดแบบเฉียบพลันด้วย กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้นเสียที หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนแรง ชักกระตุก คนไข้ควรเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุกับแพทย์

จากกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวหนักๆ เรามีโอกาสพบเคสที่เป็นโรคเนื้องอกสมองได้มากน้อยแค่ไหน?

ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรแต่ละช่วงอายุ 

ในกลุ่มคนที่อายุน้อยๆ จะมีโอกาสพบโรคเนื้องอกสมองได้ค่อนข้างน้อย โดยอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 100 แต่ในกลุ่มผู้ที่เริ่มเข้าวัยสูงอายุ หรือช่วงอายุประมาณ 50-60 ปี จะมีโอกาสพบโรคเนื้องอกสมองได้ประมาณ 5-10% ของกลุ่มประชากรที่อยู่ในช่วงอายุนี้ 

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยด้านอายุ ก็ยังมีปัจจัยด้านเพศและเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงโรคเนื้องอกสมองจึงไม่ได้สัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะเพียงอย่างเดียว และถึงแม้จะมีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า คนไข้ทุกรายที่มีอาการนี้จะเป็นโรคเนื้องอกสมองทั้งหมด ในบางรายอาจปวดศีรษะจากความเครียด การใช้สายตาอย่างหนัก หรือเป็นการปวดศีรษะแบบไมเกรนเท่านั้น

คนกลุ่มไหนที่เสี่ยงเป็นโรคเนื้องอกสมองมากที่สุด

นพ. จักรีกล่าวว่า ในมุมมองของแพทย์นั้นไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า คนกลุ่มไหนที่เสี่ยงเป็นโรคเนื้องอกสมองมากที่สุด แต่ในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วโดยเฉพาะโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งเต้านม มีโอกาสที่เชื้อมะเร็งจากอวัยวะอื่นจะลุกลามขึ้นไปที่สมองได้ 

นอกจากนี้คนอีกกลุ่มที่ควรพึงระวัง คือ กลุ่มผู้ที่เป็นผู้ใหญ่หรือเป็นผู้สูงอายุแล้ว และไม่เคยมีอาการปวดศีรษะมาก่อน แต่วันหนึ่งกลับปวดศีรษะขึ้นมาอย่างผิดสังเกต กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น คนกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีเนื้องอกหรือความผิดปกติในสมองเกิดขึ้น ควรรีบเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความมั่นใจ 

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเนื้องอกสมองหรือไม่ ต้องตรวจอะไรบ้าง?

ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคเนื้องอกสมองโดยหลักๆ จะเริ่มต้นจากการตรวจร่างกายและซักประวัติสุขภาพกับแพทย์ จากนั้นหากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติบางอย่าง ก็จะส่งตัวคนไข้ไปทำการตรวจ Imaging หรือการตรวจเอกซเรย์ร่างกาย ซึ่งปัจจุบันการตรวจสำหรับโรคเนื้องอกสมองจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ 

  • ตรวจ CT Scan สมอง 
  • การตรวจ MRI สมอง (Brain Magnetic Resonance Imaging)

การรักษาโรคเนื้องอกในสมอง แบ่งออกได้กี่วิธี?

สามารถแบ่งออกได้ 4 วิธี ได้แก่

  • การติดตามอาการ แพทย์จะยังไม่ลงมือทำการรักษาใดๆ แต่จะนัดคนไข้ให้เดินทางมาเอกซเรย์สมองตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ทุก 6 เดือนหรือทุก 1 ปี
  • การผ่าตัด เพื่อนำเนื้องอกออกจากสมอง
  • การฉายแสง ซึ่งสามารถแบ่งวิธีฉายแสงออกได้หลายวิธีอีก เช่น การฉายแสงเฉพาะที่ การฉายแสงทั้งสมอง
  • การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งในปัจจุบันหลายสถานพยาบาลยังมียาเคมีบำบัดที่จำเพาะต่อโรคบางโรคด้วย รวมถึงโรคเนื้องอกสมอง ซึ่งทำให้เนื้องอกสลายหายไปได้

การผ่าตัดเนื้องอกสมองในปัจจุบันแบ่งออกได้กี่วิธี?

การผ่าตัดเนื้องอกสมองสามารถแบ่งออกได้ 2 วิธีหลักๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่แพทย์จะผ่าเปิดเนื้อเยื่อและผิวหนังศีรษะออก จากนั้นทำการผ่าเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อนำเนื้องอกในสมองออก 
  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดที่มักมีขนาดแผลเล็กกว่า โดยแพทย์จะผ่าเปิดกะโหลกศีรษะผ่านลำกล้องผ่าตัดพิเศษเพื่อเข้าไปตัดนำเนื้องอกในสมองออก

วิธีผ่าตัดทั้งแบบเปิดและแบบส่องกล้องล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน ไม่ได้มีวิธีไหนที่ดีกว่าหรือด้อยกว่ากัน แต่แพทย์จะเลือกใช้วิธีผ่าตัดที่เหมาะกับปัจจัยของโรคเนื้องอกสมองในคนไข้แต่ละราย เช่น

  • ชนิดของเนื้องอกสมอง
  • ตำแหน่งของเนื้องอกสมอง รวมถึงความตื้นและความลึกของเนื้องอก
  • อายุของคนไข้
  • โรคประจำตัวของคนไข้ซึ่งอาจส่งผลต่อการทนต่อการเสียเลือดได้ไม่เท่ากัน
  • ทางเลือกในการผ่าตัดของแต่ละสถานพยาบาล
  • ความชำนาญของแพทย์ในการผ่าตัด หากแพทย์เชี่ยวชาญในการผ่าตัดวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็ควรเลือกตามความถนัดของแพทย์จะดีที่สุด

ระยะเวลาในการผ่าตัด ใช้เวลานานแค่ไหน?

ขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง รวมถึงความซับซ้อนของโรคเนื้องอกสมองในคนไข้แต่ละราย แพทย์จะคำนึงถึงความปลอดภัย ความถูกต้อง ความเหมาะสม รวมถึงความเชี่ยวชาญของแพทย์ในการผ่าตัดเป็นหลักสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของระยะเวลาผ่าตัด 

คนไข้บางรายที่มีเนื้องอกขนาด 3-4 เซนติเมตร อาจต้องใช้เวลาผ่าตัดถึง 6 ชั่วโมง หรือในบางรายมีเนื้องอกขนาด 10 เซนติเมตร แต่ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 2 ชั่วโมงก็มีเช่นกัน ขึ้นอยู่กับการประเมินแนวทางการผ่าตัดจากแพทย์

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด คนไข้จะต้องตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์สั่ง โดยหลักๆ ได้แก่ การเจาะเลือด การตรวจการทำงานของหัวใจ ตรวจตับ ตรวจปอด รวมถึงต้องงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ล่วงหน้าก่อนผ่าตัด ส่วนขั้นตอนการเตรียมตัวอื่นๆ มักจะเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล และที่สำคัญ คนไข้ควรเตรียมกำลังใจให้พร้อมต่อการผ่าตัดด้วย

การดูแลตนเองหลังผ่าตัด

  • ในช่วง 1-2 วันแรกหลังผ่าตัด แพทย์จะสังเกตอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • แพทย์จะให้ความสำคัญต่อการเสริมสมรรถภาพการทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้อุปกรณ์เสริมการเดิน การเดินเข้าห้องน้ำ การขับถ่าย เนื่องจากการผ่าตัดสมองจะทำให้ความดันในสมองลดลงไประดับหนึ่ง สามารถส่งผลให้คนไข้เวียนศีรษะหรืออ่อนแรงได้ 
  • คนไข้ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลและทำกายภาพบำบัดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด หรือจนกว่าแพทย์จะมั่นใจว่า หลังคนไข้กลับบ้านไปแล้วจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันเองได้ แม้จะมีอาการอ่อนแรงเกิดขึ้น ก็ยังสามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองได้อยู่
  • หากเป็นแผลจากการผ่าตัดแบบส่องกล้อง คนไข้มักจะมีแผลขนาดเล็กที่ดูแลได้ง่าย นอนโรงพยาบาลประมาณ  3-5 วันก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้ 
  • หากเป็นแผลจากการผ่าตัดแบบเปิด คนไข้มักจะนอนโรงพยาบาลประมาณ 7 วัน และอาจมีระยะเวลาพักฟื้นแผลที่นานกว่า
  • ไม่มีข้อจำกัดด้านการกินอาหาร และแพทย์มักจะย้ำเตือนให้คนไข้กินอาหารให้เพียงพอด้วย โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  • หลังเดินทางกลับบ้าน แพทย์จะนัดให้คนไข้กลับมาตรวจเอกซเรย์สมองอีก  

พักฟื้นที่บ้านกี่วัน ถึงกลับไปใช้ชีวิตข้างนอกเป็นปกติได้?

ขึ้นอยู่ความซับซ้อนของโรคเนื้องอกสมอง หากคนไข้มีเนื้องอกชนิดดี หลังกลับบ้านได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แผลเริ่มแห้ง เริ่มทรงตัวได้ดีขึ้น ก็สามารถเริ่มกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ส่วนเรื่องการขับรถด้วยตนเอง ในคนไข้บางรายอาจต้องงด ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ และในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้สอบใบขับขี่ใหม่หลังผ่าตัดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจถึงความพร้อมของร่างกายในการขับขี่พาหนะ ไม่มีความเสี่ยงเกิดภาวะชักระหว่างขับรถจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

การนัดติดตามหลังผ่าตัดเนื้องอกสมอง 

ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอกสมอง โดยส่วนมากแพทย์จะนัดครั้งแรกหลังผ่าตัดได้ 2 สัปดาห์ ต่อด้วย 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด หากไม่มีสัญญาณภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ก็จะทิ้งความถี่ออกไปเป็น 2 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้นหากอาการยังปกติดีก็จะนัดมาตรวจปีละ 1 ครั้ง

เนื้องอกชนิดดี กลายเป็นเนื้อร้ายได้มั้ย?

ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอกสมองว่า เป็นเนื้อดีมากแค่ไหน โดยแพทย์จะวินิจฉัยผ่านผลตรวจชิ้นเนื้อเป็นหลัก 

ขนาดเนื้องอกในสมองมักเท่าไหร่ ที่ใหญ่สุดเท่าไหร่?

ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรที่มารับการตรวจวินิจฉัย โดยส่วนมากเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก อยู่ในขนาดไม่กี่มิลลิเมตรมักจะพบได้ในกลุ่มผู้ที่รักสุขภาพ มีการสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายอยู่บ่อยครั้ง จึงมักตรวจเจอเนื้องอกตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและยังมีขนาดไม่ใหญ่

ในขณะที่เนื้องอกซึ่งมีขนาดใหญ่ มักจะตรวจพบได้ในผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาหรือบริการทางการแพทย์ได้มากนัก เช่น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือห่างไกลโรงพยาบาล โดยสามารถตรวจพบเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ได้ถึง 20 เซนติเมตร

เคสด่วนที่สุดที่คุณหมอเคยพบ กี่วันผ่าตัด?

เคสที่ด่วนที่สุดที่เคยพบคือ ต้องผ่าตัดในทันที มักพบในกรณีคนไข้มาถึงโรงพยาบาลโดยที่ไม่รู้สึกตัวแล้ว จำเป็นต้องรับการผ่าตัดเดี๋ยวนี้

ถ้าปวดหัวเพราะเป็นเนื้องอกในสมองแล้วไม่ทราบหรือไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง จะเกิดอันตรายอย่างไรได้บ้าง?

หากตรวจพบโรคเนื้องอกสมองแล้วไม่รีบรักษา คนไข้ต้องคำนึงถึงชนิดของเนื้องอกที่ตรวจพบ หากเป็นเนื้องอกชนิดดี ไม่มีโอกาสขยายขนาดก็อาจไม่เป็นไร 

แต่หากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ดี ผลข้างเคียงที่ตามมาจากการประวิงเวลาไม่รีบรักษา คือ ความเสี่ยงเกิดโรคร้ายแรงหรืออาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อาการอัมพาต อาการชักกระตุก อาการอ่อนแรงจนถึงขั้นไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตได้

การผ่าตัดเนื้องอกสมองปลอดภัยจริงหรือไม่?

ไม่จริง แต่เป็นเพราะวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบันต่างหาก ที่นำไปสู่การรักษาโรคเนื้องอกสมองที่ปลอดภัยมากขึ้น

การผ่าตัดในเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยง มากกว่าคนหนุ่มสาวหรือไม่ 

มีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากในคนไข้เด็กจะไม่สามารถดมยาสลบในปริมาณเท่ากับผู้ใหญ่ได้ ส่วนคนไข้ที่สูงอายุก็จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านโรคประจำตัวอื่นๆ ที่อาจทำให้การผ่าตัดซับซ้อนขึ้น รวมถึงปริมาณยาสลบที่ใช้ได้ ต่างจากคนไข้วัยหนุ่มสาวที่มักควบคุมระดับอาการของโรคประจำตัวได้ง่ายกว่า

หลังการผ่าตัดจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรคเนื้องอกสมอง หากเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งของสมองที่สั่งการควบคุมแขนและขา การเคลื่อนไหวร่างกายของคนไข้ก็อาจไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมทั้งหมด

อาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดเนื้องอกสมอง 

  • อาการชักกระตุก 
  • ภาวะอัมพาต
  • อาการอ่อนแรง 
  • ภาวะเลือดออกในสมอง

จริงหรือไม่ หากฉายรังสี แล้วมีโอกาสลิ้นชา ถ้าตำแหน่งเนื้องอกใกล้กับบริเวณนั้น 

มีโอกาส โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ฉายรังสี เนื่องจากการฉายรังสีเป็นฉายคลื่นความร้อนเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง จึงมีโอกาสที่เนื้อสมองส่วนอื่นๆ จะเสียหายไปด้วย 

หากคนไข้ฉายรังสีบริเวณใกล้ลิ้น ก็มีโอกาสจะเกิดปัญหาลิ้นชา หรือหากฉายรังสีใกล้สายตา ก็อาจตาบอดได้ หรืออีกกรณี คือ ฉายรังสีใกล้สมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำ ก็มีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมได้

จริงหรือไม่ ว่าการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง มีความเสี่ยงเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต

ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรคเนื้องอกสมอง หากเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งของสมองที่ควบคุมแขนและขา ก็มีโอกาสเกิดอัมพาตได้

เราสามารถป้องกัน หรือตรวจคัดกรอง โรคเนื้องอกในสมองได้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการป้องกันหรือรักษาในเชิงรุกเพื่อป้องกันโรคเนื้องอกในสมองได้ แต่เราสามารถใช้วิธีสังเกตอาการของตนเอง หรือสังเกตโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น หากเป็นโรคมะเร็งที่อวัยวะอื่นและมีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น ก็อาจเป็นสัญญาณของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามไปที่สมอง ให้รีบเดินทางมาตรวจที่โรงพยาลาลโดยเร็ว

หากวันนี้มีคนไข้ที่กำลังป่วยโรคนี้อยู่ คุณหมอจะให้กำลังใจคนไข้อย่างไร เพื่อไม่ให้หมดหวังในการเข้ารับการรักษา    

นพ. จักรีตอบว่า หากสมมติมีคนไข้เป็นโรคนี้หรือตัวหมอเป็นคนไข้โรคเนื้องอกสมอง ก็อยากจะบอกว่า ในปัจจุบันวิทยาการด้านการรักษาทางศัลยกรรมระบบประสาทได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว จึงยังมีโอกาสที่คนไข้จะหายดีและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ไม่อยากให้หมดหวังว่า การรักษาโรคเนื้องอกสมองจะจบลงที่เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตเสมอไป 

ปัจจุบันเราสามารถหลบตำแหน่งของสมองที่อาจทำให้เกิดความเสียหายอื่นๆ หรือภาวะแทรกซ้อนได้ หรือแม้แพทย์จะไม่สามารถเอาเนื้องอกงอกได้จนหมด ก็ยังมีวิธีรักษาอื่นๆ ร่วมด้วยที่ทำให้ผลการรักษาออกมาดีขึ้นได้  ดังนั้นจึงไม่อยากให้ทุกคนกลัว และเดินทางมารักษากับแพทย์ทุกคน

ผ่าตัดเนื้องอกสมอง กับ นพ. จักรี ธัญยนพพร ด้วยบริการจาก HDCare

ปวดศีรษะบ่อย ปวดแรงขึ้น หรือเป็นโรคมะเร็งและมีอาการปวดศีรษะ รู้สึกกังวลใจ อยากปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเนื้องอกสมอง ทักหาทีมงาน HDCare เพื่อนัดคุยกับหมอเบนซ์ได้เลย จะผ่านทางออนไลน์หรือทางออฟไลน์ก็แล้วแต่คุณสะดวก

หรือหากสนใจรับการผ่าตัดกับแพ็กเกจ HDCare บริการผ่าตัดที่สามารถเลือกแพทย์ได้ มีพยาบาลส่วนตัวคอยอยู่เป็นเพื่อนตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล ช่วยตอบทุกคำถามและประสานงานกับโรงพยาบาลให้ สามารถทักเพื่อพูดคุยรายละเอียดและจองคิวผ่าตัดกับทางทีมงาน HDCare ได้ทันที

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top