ขั้นตอนการตรวจร่างกายก่อนทำ IUI IVF และ ICSI scaled

ขั้นตอนการตรวจร่างกายก่อนทำ IUI, IVF และ ICSI

ถ้าคุณหรือคู่รักอยู่ในภาวะมีบุตรยาก และกำลังมองหาวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก บทความนี้นำวิธีการตรวจภาวะมีบุตรยากที่เป็นที่นิยมทั้ง 3 แบบ ไม่ว่าจะเป็นการผสมเทียม (IUI) การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการทำเด็กหลอดแก้วอิ๊กซี่ (ICSI) มาฝาก เพื่อให้คุณเข้าใจและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเข้าตรวจร่างกาย

วิธีการตรวจร่างกาย ก่อนทำ IUI, IVF และ ICSI

วิธีการตรวจร่างกายก่อนรักษาภาวะมีบุตรยากทั้ง 3 วิธี ไม่ว่าจะเป็น IUI, IVF และ ICSI มีวิธีและขั้นตอนการตรวจร่างกายเหมือนกัน ดังนี้

วิธีตรวจร่างกายสำหรับฝ่ายหญิง

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจเลือดและโรคต่างๆ

ในขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจร่างกายด้วยการเจาะเลือด โดยผู้รับบริการนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดบริเวณที่จะเจาะเลือด เพื่อทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน จากนั้นก็ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง ใช้เข็มเจาะและเก็บตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ แล้วนำเข็มออก ปลดสายรัด และปิดแผล โดยส่วนใหญ่จะมีรายการตรวจ ดังนี้

  1. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
  2. ตรวจหมู่เลือด (Blood group and Rh group)
  3. ตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV)
  4. ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
  5. ตรวจไวรัสตับอักเสบ (HBsAg และ Anti HCV)
  6. ตรวจโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
  7. ตรวจโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)

ขั้นตอนที่ 2 ตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด 

ขั้นตอนการตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด เป็นวิธีการเจาะเลือดแบบเดียวกับขั้นตอนที่ 1 โดยรายการตรวจมักมีดังนี้

  1. ระดับฮอร์โมน Estradiol (E2) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญที่สุด หากฮอร์โมนนี้เกิดความผิดปกติ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
  2. ระดับฮอร์โมน Follicle Stimulating Hormone (FSH) เป็นฮอร์โมนที่มีผลกระตุ้นการเจริญของไข่
  3. โปรแลคติน (Prolactin: PRL) เป็นสิ่งที่กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนม และมีผลต่อการทำงานของรังไข่
  4. ฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone: LH) เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ไข่สุกและตก
  5. ฮอร์โมนแอนตี้มูลเลอเรียน (Anti-Mullerian Hormone: AMH) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ ซึ่งบ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่หรือบอกจำนวนไข่ที่สามารถผลิตได้

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด

การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เป็นการตรวจหาความผิดปกติในถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ เนื้องอกในมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก หรือก้อนเนื้อภายในอุ้งเชิงกราน

ในขั้นตอนนี้ แพทย์จะให้ผู้รับบริการนอนลงบนเตียง จากนั้นจะสอดหัวตรวจอัลตราซาวด์เข้าไปทางช่องคลอด 

แนะนำว่า ควรรอให้หมดประจำเดือนอย่างน้อย 3 วัน ก่อนมาตรวจ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บทางช่องคลอด ภายใน 2 วัน ก่อนเข้ารับการตรวจ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 1 วัน

อยากมีลูก ไม่รู้จะเลือกวิธีไหนดี? อยากปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่ 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับบริการตรวจร่างกายสำหรับฝ่ายหญิง

ก่อนที่จะถึงวันนัดตรวจร่างกาย เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก ควรเตรียมตัวให้พร้อม ดังนี้

  • ไม่ต้องงดเครื่องดื่มและอาหาร
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ก่อนตรวจสุขภาพอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 วัน ก่อนตรวจ
  • งดสวนล้างช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บทางช่องคลอดอย่างน้อย 2 วัน ก่อนตรวจ
  • ควรตรวจหลังประจำเดือนหมดแล้วอย่างน้อย 3 วัน

วิธีตรวจร่างกายสำหรับฝ่ายชาย

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจเลือดและโรคต่างๆ

ในขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจร่างกายด้วยการเจาะเลือด โดยผู้รับบริการนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดบริเวณที่จะเจาะเลือด เพื่อทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน จากนั้นก็ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง ใช้เข็มเจาะและเก็บตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ แล้วนำเข็มออก ปลดสายรัด และปิดแผล โดยมีรายการตรวจเช่นเดียวกันกับฝ่ายหญิง

ขั้นตอนที่ 2 ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ

ขั้นตอนนี้เป็นการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ (Sperm Count) เพื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำเชื้อ ความมีชีวิตของตัวอสุจิ ความเข้มข้นของอสุจิ รูปร่างของตัวอสุจิ การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ ความไวของน้ำเชื้อ รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาว

ผู้รับบริการควรงดสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรงดการมีเพศสัมพันธ์หรือหลั่งอสุจิอย่างน้อย 2-7 วัน เพื่อให้มีจํานวนน้ำเชื้อมากที่สุด

สำหรับขั้นตอนการตรวจนั้น แพทย์จะขอให้ผู้รับบริการช่วยตัวเอง เพื่อเก็บน้ำเชื้อ ให้ได้ตัวอย่างน้ำเชื้อที่สะอาดใส่ในภาชนะที่ปลอดเชื้อ แล้วนำมาวิเคราะห์ต่อไป

วิธีการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

องค์การอนามัยโลก (WHO Criteria) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิไว้ดังนี้

  1. การตรวจดูด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination) โดยสิ่งที่ตรวจดูคือ ตรวจดูลักษณะทั่วไป ได้แก่ ดูสี ความขุ่นใส การละลายตัว ปริมาตรของน้ำอสุจิ ความหนืด ความเป็นกรดด่าง
  2. การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) ตรวจจำนวนตัวอสุจิ อัตราการเคลื่อนไหว อัตราการมีชีวิตของอสุจิ เปอร์เซ็นต์ของตัวอสุจิที่มีรูปร่างปกติ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง

รายการตรวจเพิ่มเติมสำหรับฝ่ายชาย

ในปัจจุบันนี้มีรายการตรวจเพิ่มเติมสำหรับฝ่ายชาย นอกเหนือจากตรวจอสุจิโดยทั่วไป เรียกว่า Sperm DNA Fragmentation Index (DFI) หรือการตรวจการแตกหักของ DNA ในอสุจิ เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น โดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Hamilton Thorne IVOS II ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจหาความเสียหายหรือการแตกหักของ DNA ในหัวอสุจิ

หาก DNA ของอสุจิไม่สมบูรณ์ หรือค่าการแตกหักเสียหาย สูงกว่าร้อยละ 30 ก็จะทำให้โอกาสในการทำเด็กหลอดแก้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โดยสาเหตุที่ DNA ในอสุจิมีการแตกหักนั้น อาจเกิดได้จากอายุที่มากขึ้น ความเครียด รูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงมลพิษในสิ่งแวดล้อม 

สำหรับขั้นตอนการตรวจการแตกหักของ DNA ในอสุจิ จะใช้วิธีการเก็บอสุจิใส่ภาชนะที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้ เหมือนกับขั้นตอนการเก็บน้ำเชื้อ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับบริการตรวจร่างกายสำหรับฝ่ายชาย

ก่อนที่จะถึงวันนัดตรวจร่างกาย เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก ควรเตรียมตัวให้พร้อม ดังนี้

  • ไม่ต้องงดเครื่องดื่มและอาหาร
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ก่อนตรวจสุขภาพอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • งดการหลั่งเชื้ออสุจิประมาณ 2-7 วัน ก่อนเข้ารับการตรวจ

เมื่อรู้แล้วว่า การตรวจร่างกายก่อนรักษาภาวะมีบุตรยาก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธี IUI, IVF หรือ ICSI ต้องทำอย่างไรบ้าง มาเตรียมตัวให้พร้อมกันตั้งแต่วันนี้เลย

ถ้ามีปัญหาสุขภาพและยังไม่แน่ใจว่า สามารถรักษาภาวะมีบุตรยากได้หรือไม่? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top