IVF คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร ข้อดี ข้อจำกัด ราคาเท่าไหร่ scaled

IVF คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร ข้อดี-ข้อจำกัด ราคาเท่าไหร่?

สำหรับคู่รักที่ทำ IUI หลายครั้งแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยวิธี IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีนี้เหมาะกับใคร มีขั้นตอนอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เรารวบรวมมาไว้ให้แล้วในบทความนี้

วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี IVF คืออะไร?

IVF (IVF – In Vitro Fertilization) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือที่เรียกกันว่า การทำเด็กหลอดแก้ว

การทำ IVF คือ การนำไข่ที่สุกเต็มที่ออกมาจากรังไข่ แล้วนำมาผสมกับอสุจิในหลอดทดลอง เมื่อเกิดการปฏิสนธิกันแล้ว แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปสู่มดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป

วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี IVF เหมาะกับใคร?

การทำ IVF เหมาะกับฝ่ายหญิงที่มีปัญหาท่อนำไข่อุดตันหรือท่อนำไข่ถูกทำลาย และฝ่ายชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับเชื้ออสุจิ เช่น มีจำนวนอสุจิน้อย อสุจิเคลื่อนที่ได้ไม่ดี

นอกจากนี้ยังเหมาะกับคู่ที่รักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยการฉีดเชื้อผสมเทียม หรือ IUI มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

IUI คืออะไร ช่วยตั้งครรภ์ได้อย่างไร? อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการทำ IUI แบบละเอียดได้ ที่นี่

IVF วิธีนี้ดีที่สุดสำหรับเราจริงมั้ย? อยากขอความเห็นที่สอง จากคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ ดูแลกันตั้งแต่ต้นจบ ทำให้การรักษาภาวะมีบุตรยากไม่ยุ่งยากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คลิกเลย

ขั้นตอนการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี IVF

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นไข่

ในช่วง 2-3 วันแรกของรอบเดือน แพทย์จะนัดฝ่ายหญิงมาตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อนับจำนวนไข่ที่ร่างกายผลิตออกมาในรอบประจำเดือนนั้น

จากนั้นแพทย์จะให้ยากระตุ้นไข่ ซึ่งเป็นยาฉีด เพื่อให้ไข่สุกพร้อมกันหลายใบ และพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ โดยต้องฉีดยากระตุ้นไข่ต่อเนื่องเป็นเวลา 10-12 วัน

หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่เป็นระยะเวลาประมาณ 5 วันแล้ว จะต้องฉีดยาป้องกันไข่ตกด้วย เพื่อไม่ให้ไข่ตกก่อนถึงวันเก็บไข่

ในช่วงระหว่างการฉีดยากระตุ้นไข่ แพทย์จะนัดมาตรวจระดับฮอร์โมน และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ประมาณ 3 ครั้ง และกำหนดวันที่จะเก็บไข่ออกมา โดยพิจารณาจากขนาดไข่เป็นหลัก

เมื่อไข่โตจนมีขนาดประมาณ 18-20 มิลลิเมตร มากกว่า 3 ใบ แพทย์จะนัดเก็บไข่ โดยให้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก และนัดเก็บไข่หลังจากฉีดยาให้ตกไข่แล้ว 34 – 36 ชั่วโมงถัดมา

ขั้นตอนที่ 2 เก็บไข่

ขั้นตอนนี้จะทำในห้องผ่าตัด โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึก หรือยาสลบ เพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกเจ็บ และรู้สึกผ่อนคลายในขณะเก็บไข่

จากนั้นแพทย์จะเก็บไข่ทางช่องคลอด โดยสอดเข็มเล่มบางๆ ผ่านช่องคลอดเข้าไปยังรังไข่ เพื่อดูดไข่สุกออกมาจากถุงรังไข่ โดยใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยหาไข่ ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

หลังจากเก็บไข่แล้ว ผู้รับบริการจะต้องนอนสังเกตอาการต่อที่ห้องพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง อาจมีอาการปวดท้องน้อยได้ ซึ่งอาการจะหายไปเองประมาณ 1-2 วัน

ขั้นตอนที่ 3 เก็บน้ำเชื้อ และคัดแยกอสุจิ

แพทย์จะให้ฝ่ายชายเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ด้วยวิธีการช่วยตัวเอง โดยให้หลั่งออกมาใส่ภาชนะปลอดเชื้อ ก่อนวันที่เก็บน้ำเชื้อ แพทย์จะแนะนำให้ฝ่ายชายงดการมีเพศสัมพันธ์ หรืองดการหลั่งน้ำอสุจิทุกรูปแบบประมาณ 2-3 วัน

จากนั้นแพทย์จะนำน้ำเชื้อส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกเชื้ออสุจิออกจากน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเชื้ออสุจิ ต่อมาก็จะคัดเลือกอสุจิที่มีชีวิต และมีความสมบูรณ์ แข็งแรงออกมา แล้วเติมสารอาหารลงไป เพื่อให้พร้อมที่จะปฏิสนธิต่อไป

ขั้นตอนที่ 4 ผสมไข่กับอสุจิ

ขั้นตอนนี้เป็นการนำตัวอสุจิมาผสมกับไข่ในหลอดทดลอง แล้วปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายน้ำไปผสมกับไข่เอง เมื่อทิ้งระยะเวลาไว้จนเหมาะสมแล้ว ก็จะนำไข่มาตรวจว่า มีตัวอ่อนหรือไม่

ในกรณีที่ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อน้อย หรือคุณภาพของอสุจิต่ำกว่ามาตรฐานมาก อาจมีความเสี่ยงสูงที่ไข่จะไม่ได้รับการผสม หากเป็นเช่นนี้แพทย์จะพิจารณาให้ใช้วิธี ICSI แทน ซึ่งเป็นการคัดเลือกอสุจิเพียงตัวเดียว ฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง โดยไม่ต้องรอให้เกิดการปฏิสนธิกันเอง

ICSI คืออะไร เหมาะกับคู่ของเรามากน้อยแค่ไหน? อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการทำ ICSI แบบละเอียดได้ ที่นี่

ขั้นตอนที่ 5 เลี้ยงตัวอ่อน

นักวิทยาศาสตร์จะนำตัวอ่อนที่ได้ ไปเลี้ยงไว้ในตู้เลี้ยงตัวอ่อน ที่มีการควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการแบ่งเซลล์ โดยตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วประมาณ 50% จะสามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) หรือตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิและเจริญเติบโตในระยะเวลา 5-6 วันได้สำเร็จ

หากมีตัวอ่อนเป็นจํานวนมาก แพทย์อาจแนะนําให้แช่แข็งตัวอ่อนเพื่อเก็บตัวอ่อนไว้สำหรับอนาคต

ขั้นตอนที่ 6 ย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก

ก่อนย้ายตัวอ่อน ผู้รับบริการต้องรับประทานยาฮอร์โมน เป็นเวลา 14-21 วัน เพื่อให้มดลูกพร้อมสําหรับการฝังตัวอ่อน

สำหรับขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึก หรือยานอนหลับ แพทย์จะสอดสายสวนผ่านปากมดลูก จากนั้นจะดูดตัวอ่อน ไปวางไว้บนเยื่อบุโพรงมดลูก

การย้ายตัวอ่อนมีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่

  1. การย้ายตัวอ่อนรอบสด เป็นการใส่ตัวอ่อนสดเข้าไปในโพรงมดลูก ในช่วง 3-7 วัน หลังจากเก็บไข่
  2. การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง เป็นการละลายตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งเอาไว้จากการทำเด็กหลอดแก้ว แล้วจึงค่อยใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก โดยการแช่แข็งตัวอ่อนไว้ มีจุดประสงค์เพื่อเตรียมผนังมดลูกให้เหมาะสมก่อน หรือในกรณีที่มีไข่ปฏิสนธิหลายใบและคู่สมรสต้องการเก็บไว้ก่อน โดยการย้ายตัวอ่อนประเภทนี้สามารถทำได้แม้จะเก็บไข่และปฏิสนธิมานานหลายปีแล้วก็ตาม

วิธีการปฏิบัติตัวหลังทำ IVF

  1. หลังจากย้ายตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว ควรนอนพักผ่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  2. สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเกร็งหน้าท้อง และการออกกำลังกายหักโหม
  3. ห้ามรับประทานยาอื่นๆ นอกเหนือจากแพทย์กำหนด
  4. หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
  5. กลับไปพบแพทย์ตามนัด โดยแพทย์จะนัดตรวจการตั้งครรภ์ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากการย้ายตัวอ่อน
  6. ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจปัสสาวะเพื่อการตั้งครรภ์เอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้

ข้อดีของการทำ IVF

  1. สามารถตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนได้ ส่งผลให้มีบุตรที่แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม โดยแพทย์จะแนะนำให้ตรวจในผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่เคยมีโรคทางพันธุกรรม รวมไปถึงผู้ที่เคยแท้ง 2 ครั้งขึ้นไป
  2. สามารถเก็บตัวอ่อนไว้ได้นานถึง 10 ปี ด้วยการแช่แข็ง

ข้อจำกัดของการทำ IVF

  1. อาจเกิดการตั้งครรภ์แฝด เนื่องจากมีการใส่ตัวอ่อน 1-3 ตัวเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
  2. อาจมีอาการปวดท้อง เนื่องจากรังไข่ตอบสนองฮอร์โมนมากผิดปกติ
  3. มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดจากการที่ไข่ไปฝังตัวบริเวณท่อนำรังไข่แทนที่จะเป็นมดลูก ซึ่งมีโอกาสเกิดอยู่ที่ประมาณ 2-5%
  4. มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด

รักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี IVF ราคาเท่าไหร่?

การทำ IVF ราคาอยู่ที่ประมาณ 127,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ และแต่ละแพ็กเกจว่าครอบคลุมรายการใดบ้าง แต่ถ้าอยากอยากเช็กราคาให้แน่ชัด สามารถทักหา HDcare ได้ทันที

จะเห็นได้ว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF มีข้อดีตรงที่สามารถตรวจโครโมโซมได้ ลดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ แต่ก็มีข้อจำกัดคือ ราคาสูง มีโอกาสติดเชื้อ อาจเกิดลูกแฝด คลอดก่อนกำหนด หรือท้องนอกมดลูกได้ ดังนั้น แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรเลือกวิธีไหนดี? วิธีไหนเพิ่มโอกาสท้องได้ดีที่สุด? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top