ICSI คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร ข้อดี ข้อจำกัด ราคาเท่าไหร่ scaled

ICSI คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร ข้อดี-ข้อจำกัด ราคาเท่าไหร่?

การพัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้คู่รักหลายคู่ที่ประสบกับภาวะมีบุตรยาก สามารถมีลูกได้สำเร็จ หนึ่งในวิธียอดนิยม และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก ก็คือ การทำอิ๊กซี่ (ICSI) การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีนี้เหมาะกับใคร มีขั้นตอนอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เรารวบรวมมาไว้ให้แล้วในบทความนี้

วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI คืออะไร?

ICSI (Intracytoplasmic sperm injection) หรือ “อิ๊กซี” คือเทคโนโลยีการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่ต่อยอดจากการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) 

การทำอิ๊กซี่ คือ การคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงเพียง 1 ตัว แล้วฉีดเข้าเซลล์ไข่โดยตรง เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้ว ก็จะเลี้ยงตัวอ่อนต่อในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ จากนั้นจึงย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อรอให้ตัวอ่อนเจริญเติบโต

วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI เหมาะกับใคร?

  • ผู้หญิงที่มีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ท่อนำไข่บวมหรืออุดตัน ภาวะไม่ตกไข่ ภาวะตกไข่ผิดปกติ ความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ 
  • ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ผู้ชายหรือผู้หญิงที่ผ่านการทำหมันแล้ว
  • ผู้ชายที่มีอสุจิไม่แข็งแรง มีปริมาณอสุจิน้อย อสุจิไม่มีคุณภาพ หรืออสุจิมีการเคลื่อนไหวไม่ดี
  • ผู้ชายที่มีปัญหาภาวะท่อนำอสุจิอุดตัน ภาวะหลั่งอสุจิย้อนทาง หรือภาวะหลอดเลือดดำในถุงอัณฑะโป่งพอง
  • คู่ที่ทำ IVF ไม่สำเร็จ
  • คู่รักที่วางแผนจะมีบุตรในอนาคต แต่อยากจะแช่แข็งไข่ที่มีคุณภาพเก็บเอาไว้ก่อน

ICSI เหมาะกับคู่เราไหม มีโอกาสท้องสำเร็จมากแค่ไหน ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง ดูแลกันตั้งแต่ต้นจบ ทำให้การรักษาภาวะมีบุตรยากไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด คลิกเลย

ขั้นตอนการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นไข่

ในช่วง 2-3 วันแรกของรอบเดือน แพทย์จะนัดฝ่ายหญิงมาตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อนับจำนวนไข่ที่ร่างกายผลิตออกมาในรอบประจำเดือนนั้น

จากนั้นแพทย์จะให้ยากระตุ้นไข่ ซึ่งเป็นยาฉีด เพื่อให้ไข่สุกพร้อมกันหลายใบ และพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ โดยต้องฉีดยากระตุ้นไข่ต่อเนื่องเป็นเวลา 10-12 วัน

หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่เป็นระยะเวลาประมาณ 5 วันแล้ว จะต้องฉีดยาป้องกันไข่ตกด้วย เพื่อไม่ให้ไข่ตกก่อนถึงวันเก็บไข่

ในช่วงระหว่างการฉีดยากระตุ้นไข่ แพทย์จะนัดมาตรวจระดับฮอร์โมน และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ประมาณ 3 ครั้ง และกำหนดวันที่จะเก็บไข่ออกมา โดยพิจารณาจากขนาดไข่เป็นหลัก

เมื่อไข่โตจนมีขนาดประมาณ 18-20 มิลลิเมตร มากกว่า 3 ใบ แพทย์จะนัดเก็บไข่ โดยให้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก และนัดเก็บไข่หลังจากฉีดยาให้ตกไข่แล้ว 34 – 36 ชั่วโมงถัดมา

ขั้นตอนที่ 2 เก็บไข่

ขั้นตอนนี้จะทำในห้องผ่าตัด โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึก หรือยาสลบ เพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกเจ็บ และรู้สึกผ่อนคลายในขณะเก็บไข่

จากนั้นแพทย์จะเก็บไข่ทางช่องคลอด โดยสอดเข็มเล่มบางๆ ผ่านช่องคลอดเข้าไปยังรังไข่ เพื่อดูดไข่สุกออกมาจากถุงรังไข่ โดยใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยหาไข่ ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

หลังจากเก็บไข่แล้ว ผู้รับบริการจะต้องนอนสังเกตอาการต่อที่ห้องพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง อาจมีอาการปวดท้องน้อยได้ ซึ่งอาการจะหายไปเองประมาณ 1-2 วัน

ขั้นตอนที่ 3 เก็บน้ำเชื้อ และคัดแยกอสุจิ

ในขั้นตอนนี้แพทย์จะให้ฝ่ายชายเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ด้วยวิธีการช่วยตัวเอง โดยให้หลั่งออกมาใส่ภาชนะปลอดเชื้อ ก่อนวันที่เก็บน้ำเชื้อ แพทย์จะแนะนำให้ฝ่ายชายงดการมีเพศสัมพันธ์ หรืองดการหลั่งน้ำอสุจิทุกรูปแบบประมาณ 2-3 วัน

บางกรณีที่ฝ่ายชายมีความผิดปกติด้านการหลั่งอสุจิ และแพทย์ต้องเก็บอสุจิให้ แพทย์จะดูดน้ำเชื้อจากท่อนำน้ำเชื้อ กระเปาะเก็บน้ำเชื้อ หรือที่ลูกอัณฑะโดยตรง ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดเล็ก 

ขั้นตอนที่ 4 ผสมไข่กับอสุจิ

แพทย์จะนำน้ำเชื้อส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกเชื้ออสุจิออกจากน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเชื้ออสุจิ

ต่อมาก็จะคัดเลือกอสุจิที่มีชีวิต และมีความสมบูรณ์ แข็งแรงที่สุดออกมา 1 ตัว แล้วนำเข็มที่บรรจุอสุจิตัวนั้นฉีดเข้าไปยังเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ

ขั้นตอนที่ 5 เลี้ยงตัวอ่อน

นักวิทยาศาสตร์จะนำตัวอ่อนที่ได้ไปเลี้ยงไว้ในตู้เลี้ยงตัวอ่อน ที่มีการควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการแบ่งเซลล์ โดยตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วประมาณ 50% จะสามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) หรือตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิและเจริญเติบโตในระยะเวลา 5-6 วันได้สำเร็จ

หากมีตัวอ่อนเป็นจํานวนมาก แพทย์อาจแนะนําให้แช่แข็งตัวอ่อนเพื่อเก็บตัวอ่อนไว้สำหรับอนาคต

ขั้นตอนที่ 6 ย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก

ก่อนย้ายตัวอ่อน ผู้รับบริการต้องรับประทานยาฮอร์โมน เป็นเวลา 14-21 วัน เพื่อให้มดลูกพร้อมสําหรับการฝังตัวอ่อน

สำหรับขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความเจ็บปวด หรือยานอนหลับ แพทย์จะสอดสายสวนผ่านปากมดลูก จากนั้นจะดูดตัวอ่อน ไปวางไว้บนเยื่อบุโพรงมดลูก

การย้ายตัวอ่อนมีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่

  1. การย้ายตัวอ่อนรอบสด เป็นการใส่ตัวอ่อนสดเข้าไปในโพรงมดลูก ในช่วง 3-7 วัน หลังจากเก็บไข่
  2. การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง เป็นการละลายตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งเอาไว้จากการทำเด็กหลอดแก้ว แล้วจึงค่อยใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก โดยการแช่แข็งตัวอ่อนไว้ มีจุดประสงค์เพื่อเตรียมผนังมดลูกให้เหมาะสมก่อน หรือในกรณีที่มีไข่ปฏิสนธิหลายใบและคู่สมรสต้องการเก็บไว้ก่อน โดยการย้ายตัวอ่อนประเภทนี้สามารถทำได้แม้จะเก็บไข่และปฏิสนธิมานานหลายปีแล้วก็ตาม

อ่านขั้นตอนการทำ ICSI แบบเจาะลึกทุกขั้นตอน ละเอียดที่สุด เพื่อให้คุณพร้อมที่สุดสำหรับการมีบุตร ได้ที่นี่

วิธีการปฏิบัติตัวหลังทำ ICSI

  1. หลังจากย้ายตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว ควรนอนพักผ่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  2. สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเกร็งหน้าท้อง และการออกกำลังกายหักโหม
  3. ห้ามรับประทานยาอื่นๆ นอกเหนือจากแพทย์กำหนด
  4. หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
  5. กลับไปพบแพทย์ตามนัด โดยแพทย์จะนัดตรวจการตั้งครรภ์ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากการย้ายตัวอ่อน
  6. ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจปัสสาวะเพื่อการตั้งครรภ์เอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้

ข้อดีของการทำ ICSI

  1. มีโอกาสปฏิสนธิสูงกว่า เมื่อเทียบกับวิธี IVF
  2. สามารถตรวจความผิดปกติของโครโมโซมของตัวอ่อนได้ ส่งผลให้มีบุตรที่แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
  3. แม้จะทำหมันแล้ว หรือในผู้ชายที่เป็นหมัน ก็มีโอกาสมีลูกได้
  4. เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมีไข่เหลือน้อย
  5. สามารถเก็บตัวอ่อนไว้ได้นานถึง 10 ปี ด้วยการแช่แข็ง

ข้อจำกัดของการทำ ICSI

  1. มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป อาการบาดเจ็บหรือติดเชื้อจากการเก็บไข่ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ไข่จะแตกระหว่างทำ หรือหลังจากปฏิสนธิแล้วไข่หยุดเจริญเติบโต ทำให้มีโอกาสปฏิสนธิไม่สำเร็จ
  2. มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือคลอดก่อนกำหนด

อย่างไรก็ตาม หากเลือกทำ ICSI กับแพทย์เฉพาะทางและนักวิทยาศาสตร์ ที่มีความสามารถและมีประสบการณ์สูง ในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

รักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI ราคาเท่าไหร่?

การทำ ICSI ราคาอยู่ที่ประมาณ 175,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ และแต่ละแพ็กเกจว่าครอบคลุมรายการใดบ้าง  แต่ถ้าอยากอยากเช็กราคาให้แน่ชัด สามารถทักหา HDcare ได้ทันที

แม้ว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI จะมีราคาค่อนข้างสูง และมีขั้นตอนซับซ้อน แต่ก็มีข้อดีตรงที่มีโอกาสสำเร็จสูง และยังสามารถตรวจโครโมโซม ลดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้

หากยังไม่มั่นใจว่า วิธีนี้เหมาะกับเราจริงหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรเลือกวิธีไหนดี? วิธีไหนเพิ่มโอกาสท้องได้ดีที่สุด? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top