คัดจมูก อาการกวนใจ ชวนหายใจไม่โล่ง

คัดจมูก แน่นจมูก อาการกวนใจ ชวนหายใจไม่โล่ง

ใครหลายคนคงต้องเคยรู้สึกทรมานกับความรู้สึกแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก ไม่ว่าจะเกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลง หรือเป็นอาการของโรคไข้หวัด เพื่อให้สามารถหาทางบรรเทาอาการน่ารำคาญใจนี้ได้ เราจะมาทำความรู้จักอาการคัดจมูก พร้อมวิธีรับมือกับอาการกวนใจนี้กัน

อาการคัดจมูกคืออะไร?

อาการคัดจมูก (Nasal congestion) เป็นอาการหายใจไม่สะดวก รู้สึกแน่นในโพรงจมูก ส่วนมากมักเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูก โดยร่างกายจะหลั่งสารตัวกลางการอักเสบออกมา เช่น

  • ฮีสทามีน (Histamine)
  • เนโครซิส แฟคเตอร์-อัลฟ่า (Necrosis factor-alpha)
  • อินเทอร์ลิวคิน (Interleukin)

สารตัวกลางเหล่านี้จะทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดในจมูก เพิ่มการหลั่งของเหลว ส่งผลให้เซลล์บริเวณนั้นเกิดการคั่งของของเหลว (น้ำมูก) และบวมขึ้น ขัดขวางอากาศที่เข้ามาผ่านทางเดินหายใจ ทำให้เกิดความรู้สึกแน่น คัดจมูก แน่นจมูก และหายใจไม่สะดวกนั่นเอง

นอกจากนี้มักพบว่า ยังมีอาการอื่นๆ ในระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น

  • มีน้ำมูกไหล
  • อ้าปากหายใจแทนการหายใจทางจมูก
  • การรับรู้กลิ่นแย่ลง ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการรับรู้รส
  • มีเสียงที่พูดเปลี่ยนไป เนื่องจากมีน้ำมูกในโพรงจมูกขัดขวางทางผ่านของอากาศ

สาเหตุของอาการคัดจมูก

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัดจมูก มีอยู่ 2 สาเหตุหลักๆ ด้วยกัน คือ

1. เกิดจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน

  • การติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ที่เป็นไวรัสตัวการก่อโรคไข้หวัดใหญ่
  • การติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Corona virus) และไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza virus) ที่ก่อโรคหวัดธรรมดา
  • การติดเชื้อแบคทีเรียรวมถึงการติดเชื้อที่บริเวณโพรงไซนัสที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

2. เกิดจากการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบทางเดินหายใจเมื่อมีการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น

สาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกได้ เช่น โพรงจมูกอุดตัน ที่เกิดจากความผิดปกติทางกายวิภาค ทำให้หายใจเอาอากาศเข้าไปได้น้อยจึงเกิดความรู้สึกอึดอัด หรือเป็นความรู้สึกของผู้ป่วยที่คิดไปเอง

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคจมูกอักเสบเหี่ยวฝ่อ ผนังกั้นช่องจมูกทะลุ หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดจมูก และ/หรือไซนัส

อาการคัดจมูก แน่นจมูก เกิดจากอะไร

วิธีเบื้องต้นคือ ให้ลองสังเกตจากอาการคัดจมูก แน่นจมูก ของตนเอง ดังนี้

1. พิจารณาจากระยะเวลาของอาการ

โดยปกติแล้วหากเป็นอาการคัดจมูกจากหวัดธรรมดา จะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน

แต่ถ้าหากอาการคัดจมูกไม่หายไปใน 10 วัน หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจพิจารณาว่า การคัดจมูกนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียก็เป็นได้ เช่น ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

2. พิจารณาจากอาการอื่นที่ร่วมด้วย

หากในช่วงที่มีอาการคัดจมูก มีอาการจามบ่อยๆ คันตา คันจมูก หน้าบวม ปวดศีรษะ ร่วมด้วย อาจพิจารณาว่า การคัดจมูกนั้นเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ก็เป็นได้

วิธีการรักษาอาการคัดจมูก แน่นจมูก

การใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูก (Nasal decongestant)

ยาจะเพิ่มการหลั่งสารนอร์อิพิเนฟรีน (Norepinephrine) ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดที่บริเวณโพรงจมูก ลดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก จึงเป็นการขยายช่องว่างโพรงจมูก ทำให้รู้สึกโล่ง สามารถหายใจได้สะดวกขึ้น

ในไทยมียาบรรเทาอาการคัดจมูก 2 รูปแบบคือ ชนิดพ่นจมูก และชนิดรับประทาน โดยมีรูปแบบการใช้งานที่ต่างกัน ดังนี้

1. ยาบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดพ่นจมูก

  • ออกฤทธิ์ได้ไวกว่าชนิดรับประทานคือ ออกฤทธิ์ภายใน 3-5 นาที แต่จะออกฤทธิ์สั้นกว่าชนิดรับประทาน
  • อาการข้างเคียงของยาคือ อาจเกิดการระคายเคียงเยื่อบุโพรงจมูก หากมีการใช้ยาบ่อยครั้ง หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ยาชนิดพ่นจมูกเกิน 3-5 วัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกรุนแรงขึ้นกว่าเดิม (Rebound congestion)

2. ยาบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดรับประทาน

  • ใช้เวลาในการออกฤทธิ์นานกว่ายาชนิดพ่น คือ ต้องใช้เวลา 3-6 ชั่วโมงยาจึงจะออกฤทธิ์ แต่สามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า และเกิดการระคายเคืองโพรงจมูกน้อยกว่า
  • ไม่ทำให้เกิดอาการคัดจมูกรุนแรงขึ้น เมื่อใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ข้อควรระวังคือ ยาชนิดรับประทานจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด จึงไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคความดันโลหิตสูง

หมายเหตุ: การเลือกวิธีการใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูก แน่นจมูก ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร

การสวนล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

เป็นวิธีหนึ่งวิธีแก้แน่นจมูกหายใจไม่สะดวกที่ได้รับความนิยม สามารถเพิ่มความชื้นให้กับน้ำมูกที่เหนียวเป็นก้อนติดอยู่ตามทางเดินหายใจ ช่วยให้สามารถขับน้ำมูกออกได้ง่ายยิ่งขึ้น ลดอาการแน่นจมูกลง สามารถหาซื้ออุปกรณ์ได้ง่าย หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาในร้านขายยาที่มีเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำและวิธีใช้อย่างถูกวิธี

วิธีรักษาอาการคัดจมูกที่เกิดจากอาการแพ้

  • หากเป็นการคัดจมูกที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงให้พ้นจากสารก่อภูมิแพ้นั้นให้มากที่สุด
  • สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องการการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากการหายใจเป็นอีกทางเลือก ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้
  • เสริมสร้างร่างกายและภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพยายามลดความเครียด
  • ทำความสะอาดที่พักอาศัย เครื่องนอน เครื่องใช้ให้บ่อยครั้งขึ้น เพื่อให้ปราศจากฝุ่นและเชื้อโรคต่างๆ
  • หากเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ควรจำกัดบริเวณที่สัตว์เลี้ยงเข้าถึงได้ เช่น ไม่เลี้ยงในห้องนอน เพื่อป้องกันขนสัตว์ ตัวไร

อาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก ผลกระทบต่อร่างกายได้หลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ตามมาได้ อาการเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็อาจส่งผลกระทบไปยังระบบต่างๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงการรับกลิ่นด้วย

หากคุณมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก ผิดปกติต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือมีอาการคัดจมูกเรื้อรังเป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือนโดยพยายามแก้ไขด้วยตนเองแล้ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top