เหงือกบวมเกิดจากอะไร scaled

เหงือกบวมเกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไร

อาการเหงือกบวม เป็นอีกความผิดปกติของช่องปากที่หลายคนคงเคยพบเจอ ความรุนแรงของอาการเหงือกบวมก็จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิด สำหรับอาการ บางคนอาจมีอาการเหงือกบวมจนพองยื่นออกมามากกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการเหงือกบวมร่วมกับมีหนอง หรือร้อนใน

นอกจากนี้อาการเหงือกบวมยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บแสบช่องปาก รู้สึกคัน ระคายเคืองอีกด้วย อาการเหงือกบวมเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมีวิธีบรรเทากันอย่างไรบ้าง

สาเหตุของอาการเหงือกบวม

อาการเหงือกบวมมักมีสาเหตุหลักๆ มาจากความผิดปกติต่อไปนี้

1. โรคเหงือกอักเสบ

โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) เป็นโรคที่เกิดจากคราบอาหาร รวมถึงเชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่ติดตามซอกเหงือกและฟันจนทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกขึ้น

นอกจากนี้การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคนี้ได้

การแปรงฟันไม่สะอาด ไม่ไปขูดหินปูนกับทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน ก็สามารถทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้เช่นกัน

อาการของโรคเหงือกอักเสบโดยหลักๆ มีดังนี้

  • มีอาการเหงือกแดง บวม
  • มีกลิ่นปาก
  • มีเลือดออกตามไรฟัน
  • รู้สึกเจ็บเหงือกขณะเคี้ยวอาหาร

หากไม่รีบรักษา อาการก็จะนำไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) ซึ่งมีความร้ายแรงถึงขั้นทำให้กระดูกฟันละลายได้

2. การรับสารอาหาร และวิตามินไม่เพียงพอ

การรับสารอาหาร และวิตามินอย่างไม่เพียงพอ หรืออีกได้ว่า “ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)” หมายถึง พฤติกรรมการรับประทานอาหาร วิตามิน หรือแร่ธาตุเสริมที่ไม่เหมาะสมมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จนทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น

หนึ่งในอาการจากภาวะทุพโภชนาการ คือ อาการเหงือกบวม โรคลักปิดลักเปิดซึ่งจะมีอาการเลือดออกตามไรฟัน โดยมักเป็นผลมาจากการขาดวิตามินบี 2 วิตามินบี 12 วิตามินซี ซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยบำรุงเหงือก และฟันให้แข็งแรง

3. การติดเชื้อ

การติดเชื้อในช่องปาก (Infection) เช่น เชื้อรา เชื้อยีสต์ เชื้อไวรัส เชื้อจากโรคเริม (Herpes) ก็สามารถทำให้เกิดอาการเหงือกบวม เป็นแผล หรือเหงือกอักเสบได้

นอกจากอาการเหงือกบวม หากเชื้อที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความผิดปกติในช่องปากมีปริมาณมาก และผู้ป่วยไม่รีบทำการรักษา อาการก็อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหนองในร่องปริทันต์ (Periodontal Abscess) อาจมีไข้ มีตุ่มหนองที่เหงือก และฟันโยก

4. ร้อนใน

แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นแผลที่เกิดได้ที่ภายในกระพุ้งแก้ม ลิ้น และเหงือกทุกบริเวณในช่องปาก มักมีลักษณะเป็นสีขาว มีขอบสีแดง ทำให้รู้สึกเจ็บแสบอยู่ตลอดเวลา และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหงือกบวมในหมู่คนทั่วไป

สาเหตุของแผลร้อนในนั้นมีอยู่มากมาย เช่น การพักผ่อนน้อย การขาดวิตามิน แร่ธาตุ หรือเกลือแร่ การแพ้อาหาร หรือสารเคมี แต่ที่พบได้บ่อยมากคือ การเผลอกัดเหงือกขณะรับประทานอาหาร หรือพูด และการแปรงฟันอย่างรุนแรงเกินไป

5. การใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิดมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติในช่องปากได้ เช่น

  • ยากันชัก (Antiseizure medications)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant drugs)
  • ยาปิดกั้นแคลเซียมซึ่งมักใช้สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ (Calcium Channel Blockers)
  • ยาลดความดันโลหิต (Blood pressure medicines)
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy medications)

6. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ในช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างระหว่างมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการเหงือกบวมได้

ฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการนี้คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งจะมีการหลั่งเพิ่มขึ้น ทำให้มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงที่เหงือกมากขึ้น จนบวม หรือง่ายต่อการถูกสัมผัสแล้วระคายเคือง หรือเจ็บเหงือกได้

หากไม่แน่ใจว่า อาการที่เกิดขึ้นคือเหงือกบวมหรือไม่ หรือเป็นความผิดปกติใดกันแน่ แต่ยังไม่มีเวลาไปพบทันตแพทย์ที่คลินิก หรือโรงพยาบาลด้วยตนเอง ปัจจุบันมีบริการปรึกษาทันตแพทย์ออนไลน์ให้บริการแล้ว

การปรึกษาออนไลน์จะช่วยให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่คุณได้ว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไร หรือควรไปพบทันตแพทย์หรือไม่

การรักษาอาการเหงือกบวม

การรักษาโรคเหงือกบวมจะแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ การรักษาด้วยโดยทันตแพทย์ กับการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองที่บ้านเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

  • การรักษาโดยทันตแพทย์ แพทย์มีการเอกซเรย์ฟันเพื่อดูความผิดปกติของเหงือกและฟัน รวมทั้งขูดหินปูน เกลารากฟัน อาจมีการจัดยาและน้ำยาบ้านปากที่ช่วยรักษาความผิดปกติซึ่งนำไปสู่อาการเหงือกบวมให้ หรืออาจแนะนำยี่ห้อยาสีฟันที่ช่วยบรรเทาอาการนี้หรือหากอาการเหงือกบวมเป็นผลมาจากโรคปริทันต์ที่ร้ายแรง หรือความผิดปกติเกี่ยวกับรากฟัน ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดเหงือกเพื่อทำความสะอาด

วิธีป้องกันอาการเหงือกบวม

อาการเหงือกบวมมีวิธีป้องกันได้ไม่ยาก นั่นคือ การรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นแปรงฟันทุกเช้าเย็นด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน ก่อนการแปรงฟัน และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง

อาการเหงือกบวมอาจไม่ใช่ความผิดปกติทางช่องปากที่ร้ายแรง แต่ก็สามารถเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคเกี่ยวกับเหงือก และฟันอื่นๆ ที่รุนแรงมากขึ้นได้ เพื่อลดโอกาสการเกิดความผิดปกติชนิดนี้ คุณจึงต้องดูแลความสะอาดของเหงือก และฟันให้ดี

หากรู้สึกเจ็บ ระคายเคือง หรือเกิดความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นในช่องปาก ก็อย่าลังเลที่จะไปพบทันตแพทย์


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top