ปวดเหงือกเกิดจากอะไร รักษาอย่างไรให้ดีขึ้น scaled

ปวดเหงือกเกิดจากอะไร รักษาอย่างไรให้ดีขึ้น

ปัญหาช่องปากนั้นมีอยู่หลากหลายและไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ฟันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเหงือกซึ่งสร้างความรำคาญ ทรมาน เจ็บปวด และทุกข์ใจให้กับตัวผู้ป่วยอย่างมาก หลายคนไม่มีสมาธิในการทำงาน การเรียน นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิทเพราะปัญหาเจ็บปวดเหงือก เนื่องจากเหงือกเป็นบริเวณที่ไวต่อความรู้สึกอยู่แล้ว อาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเหงือก มักเป็นอาการเจ็บ หรือปวดเหงือก ซึ่งสาเหตุมาจากอะไรบ้าง เรามาดูพร้อมๆ กัน

ความหมายของอาการปวดเหงือก

อาการปวดเหงือก (Sore gum) คือ อาการปวดเจ็บบริเวณเหงือก เหงือกมีอาการไวต่อสัมผัสที่มาแตะผิวเหงือกมากขึ้น เช่น แปรงฟันแล้วรู้สึกเจ็บเหงือก ใช้ไหมขัดฟัน หรือเคี้ยวอาหารที่เนื้อแข็งแล้วรู้สึกเจ็บ หรือปวดง่ายกว่าปกติ

นอกจากนี้อาการปวดเหงือกยังอาจมาพร้อมอาการเลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเหงือกบวม ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่า เหงือกตนเองกำลังมีปัญหา จนกระทั่งเริ่มรู้สึกเจ็บ แสบ หรือปวดเหงือกขึ้นมา เนื่องจากสีเหงือกโดยธรรมชาติมีสีชมพูอยู่แล้ว

สาเหตุของอาการปวดเหงือก

โรคและความผิดปกติที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดเหงือก ได้แก่

1. โรคเหงือกอักเสบ

โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) คือ โรคที่เกิดจากคราบอาหารและแบคทีเรียในช่องปากที่ทำความสะอาดไม่หมด รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคสุรา ของหวาน และสูบบุหรี่มากเกินไป

อาการของโรคเหงือกอักเสบโดยหลักๆ คือ เหงือกบวมขึ้นกว่าปกติ มีขอบเหงือกเป็นสีชมพูเข้มกว่าปกติ หรือเป็นสีแดง มีเลือดออกหลังจากแปรงฟัน มีกลิ่นปาก และมีอาการเจ็บ มีหนอง หรือปวดเหงือกขณะเคี้ยวอาหาร

2. ติดเชื้อราในช่องปาก

การติดเชื้อราในช่องปาก (Oral thrush) เกิดจากการเติบโต และแพร่กระจายของเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ในช่องปาก

การติดเชื้อราในช่องปากยังเกิดขึ้นในผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ทำความสะอาดฟันปลอมไม่ดีพอ

อาการของการติดเชื้อราในช่องปากโดยหลักๆ ได้แก่ มีจุด หรือคราบเมือกสีขาวที่ลิ้นและเจ็บแสบลิ้น เพดานปาก หรือต่อมทอนซิล และหากเชื้อราดังกล่าวลุกลามไปที่บริเวณเหงือก ผู้ป่วยก็อาจรู้สึกระคายเคือง หรือปวดเหงือกได้

3. โรคปริทันต์อักเสบ

โรคปริทันต์อักเสบเป็นอีกโรคในช่องปากที่เป็นขั้นต่อจากโรคเหงือกอักเสบ เกิดจากคราบแบคทีเรีย หรือคราบจุลินทรีย์ในช่องปากที่ไม่ได้ขจัดให้หมดไปจากเหงือก และฟัน จนทำให้เกิดเป็นหินปูนเกาะติดกับรากฟัน และทำให้เกิดการทำลายของกระดูกเบ้าฟันตามมา

มีอาการดังนี้

  • เหงือกอักเสบ
  • เหงือกร่น
  • เหงือกบวมแดง
  • มีเลือดออกจากเหงือก
  • มีหนอง
  • ปวดเหงือก
  • เจ็บเหงือกขณะเคี้ยวอาหาร
  • ฟันโยก
  • ฟันห่างขึ้นกว่าเดิม
  • มีกลิ่นปาก

4. ฟันขึ้น

ทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ที่กำลังขึ้น รวมถึงฟันคุดซึ่งเป็นฟันที่ไม่ได้ขึ้นมาตามปกติในช่องปาก ขณะที่ฟันทุกแบบกำลังขึ้นพ้นเหงือกอาจทำให้รู้สึกคัน หรือปวดเหงือกได้ รวมถึงเหงือกบริเวณที่ฟันกำลังขึ้นอาจเป็นสีแดงขึ้นกว่าเดิมได้

หากอยู่ในช่วงวัยรุ่นและมีอาการปวดฟันอย่างรุนแรงชนิดที่ว่า บางคืนปวดจนนอนไม่หลับ ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า สาเหตุของการปวดฟันอาจมาจากฟันคุดก็ได้ และควรรีบไปพบทัตแพทย์เพื่อรับการตรวจให้แน่นอนอีกครั้ง

หากสาเหตุการปวดเหงือกมาจากฟันคุดจริง เมื่อทันตแพทย์ได้ถอน หรือผ่าฟันคุดออกและแผลหายดีแล้ว อาการปวดเหงือกควรจะหายไปด้วย

5. การให้เคมีบำบัด

การให้เคมีบำบัด หรือทำคีโม (Chemotherapy) เพื่อรักษาโรคมะเร็งสามารถส่งผลข้างเคียงไปยังเหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปากได้

ยกตัวอย่างหากผู้ป่วยมีการทำเคมีบำบัดก็สามารถมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น เป็นอาการเหงือกบวม มีเลือดออกที่เหงือก มีหนองในช่องปาก หรือลำคอ ปากแห้ง และรู้สึกเจ็บ หรือปวดเหงือกได้

6. แผลในช่องปาก

การเกิดบาดแผลในช่องปาก (Gum and canker sores) สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บ และปวดเหงือกบริเวณที่มีแผลได้ โดยสาเหตุของการเกิดแผลในช่องปากอาจเกิดมาจากการเผลอกัดเหงือกตนเอง เป็นแผลร้อนใน หรือติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปากก็ได้

7. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมีส่วนทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเหงือกเปลี่ยนแปลงไปด้วย จนทำให้เกิดอาการปวดเหงือกและไวต่อสัมผัสกว่าเดิม

สาเหตุนี้จะพบในผู้ป่วยหญิง โดยการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในที่นี้ยังรวมไปถึงการรับประทานยาคุมกำเนิดด้วย

นอกจากนี้อาการวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการปวดเหงือกได้ โดยเป็นผลมาจากการผลิตน้ำลายในช่องปากที่น้อยลง

น้ำลายมีส่วนสำคัญในการสร้างความชุ่มชื้นให้กับเหงือกและกำจัดแบคทีเรียบางส่วนออกไปจากช่องปาก เมื่อร่างกายผลิตน้ำลายน้อยลงจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคปริทันต์อักเสบรวมถึงการติดเชื้อราในช่องปากได้ง่ายขึ้น

หากคุณกำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง แล้วมีอาการปวดเหงือก น้ำลายน้อยลง อาการที่เกิดขึ้นอาจสัมพันธ์กันก็เป็นได้ แต่หากยังไม่มีเวลาไปปรึกษาแพทย์ด้วยตนเองปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แล้ว เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นว่า ควรจะเข้ารับการรักษา หรือไม่ อย่างไร

8. การใส่อุปกรณ์เสริมในช่องปาก

ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์จัดฟัน รีเทนเนอร์ ฟันปลอม หรือฟันยาง ผู้ที่ใส่อุปกรณ์เหล่านี้ในช่วงแรกๆ ย่อมรู้สึกไม่ชิน คัน เจ็บ หรือปวดเหงือกได้ โดยเฉพาะเมื่ออุปกรณ์ไม่ได้พอดีกับขนาดช่องปาก เช่น อาจหลวม หรือคับตึงเกินไป

นอกจากนี้การทำความสะอาดอุปกรณ์เสริมในช่องปากไม่สะอาด ก็เสี่ยงทำให้เกิดอาการติดเชื้อในช่องปาก และนำไปสู่อาการเหงือกอักเสบจนปวดเหงือกได้

วิธีรักษาอาการปวดเหงือก

วิธีรักษาอาการเหงือกบวมจะรักษาไปตามต้นเหตุที่ทำให้เกิด เช่น

  • แปรงฟันให้สะอาด ใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดคราบสิ่งสกปรก เศษอาหาร และแบคทีเรียออกจากปากให้หมด โดยอาจใช้ยาสีฟันสูตรดูแลเหงือก ช่วยบรรเทาอาการโรคเหงือกอักเสบได้
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์เสริมในช่องปากให้สะอาดตามที่แพทย์แนะนำทุกครั้ง
  • ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหวาน และงดสูบบุหรี่
  • เข้ารับการขูดหินปูน ปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน หรือเกลารากฟันกับทันตแพทย์ ขึ้นอยู่กับอาการที่ทำให้ปวดเหงือกว่า ควรรักษาอย่างไร
  • หากมีฟันคุด ต้องผ่าตัด หรือถอนฟันคุดออก
  • หากเป็นโรคปริทันต์ ให้ผ่าตัดรักษาโรคปริทันต์เสียก่อน ในกรณีที่อาการของโรคร้ายแรง มีการละลายของกระดูกฟันมาก ฟันบางซี่อาจจำเป็นต้องถอน
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อให้แผลร้อนในดีขึ้น
  • ทายาชนิดสเตียรอยด์ที่แพทย์สั่งจ่ายให้บริเวณแผลในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานของร้อนเพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดเหงือกมากกว่าเดิม

วิธีป้องกันอาการปวดเหงือก

วิธีป้องกันอาการปวดเหงือกนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ และแปรงให้สะอาดทั้งส่วนของเหงือก และฟัน หากไม่แน่ใจว่า ตนเองแปรงฟันถูกวิธีหรือไม่ ให้สอบถามกับทันตแพทย์
  • ใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังจากแปรงฟัน โดยไม่ต้องใช้อย่างรุนแรง แต่ให้ใช้ไหมทำความสะอาดเหงือกอย่างนุ่มนวล เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษอาหาร และคราบแบคทีเรียตกค้างอยู่ในซอกฟัน
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อล้างแบคทีเรียในช่องปาก โดยควรสอบถามจากแพทย์ก่อนว่า ควรเลือกใช้สูตร และความเข้มข้นเท่าไรจึงจะเหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงดูแลสุขภาพกระดูก รวมถึงสุขภาพเหงือก เช่น วิตามินซี แคลเซียม
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะน้ำมีส่วนช่วยชะล้างคราบแบคทีเรียตามซอกฟัน และร่องเหงือกได้ด้วย นอกจากนี้น้ำยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปากอีก
  • งดสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินและสารพิษในบุหรี่มีส่วนทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณเหงือกน้อยลง ระคายเคือง ทำให้เหงือกอักเสบ และยังทำให้เหงือกกับริมฝีปากมีสีคล้ำกว่าปกติด้วย
  • หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเครียดและหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากความเครียดจะส่งผลทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดหลั่งมากขึ้น และทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงบริเวณเหงือกด้วย

อาการปวดเหงือกแม้บางครั้งจะไม่ได้เป็นอาการร้ายแรงมาก สามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก หากโรค หรือความผิดปกติที่เป็นต้นตอของอาการปวดเหงือกไม่ได้รุนแรง

แต่หากคุณได้ลองรักษาตามคำแนะนำแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยอีกครั้ง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top