การจัดฟันในผู้สูงอายุ ทำได้หรือไม่

การจัดฟันในผู้สูงอายุ ทำได้หรือไม่

การจัดฟันเป็นการรักษาทางทันตกรรมซึ่งมักเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เพราะช่วงอายุดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่ฟันแท้ขึ้นครบและขากรรไกรเจริญเติบโตเต็มที่ อีกทั้งยังใช้เวลาไม่มาก หากต้องการจัดฟันให้เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ

สำหรับช่วงอายุที่เหมาะสมในการจัดฟันโดยใช้เครื่องมือแบบถอดได้ คือ 8-11 ปี ซึ่งเป็นช่วงฟันชุดผสม สามารถใช้เครื่องมือช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของขากรรไกรได้ด้วย

ส่วนช่วงอายุที่เหมาะสมในการจัดฟันโดยใช้เครื่องมือแบบติดแน่นคือ 12-15 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของกะโหลกศีรษะและใบหน้าของคนไข้แต่ละรายด้วย

ในขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุบางรายที่ต้องการเข้ารับการจัดฟัน หรือจำเป็นต้องจัดฟันเพื่อแก้ไขปัญหาช่องปากบางอย่าง

ปัจจุบันนี้มีคำตอบที่แน่ชัดแล้วว่า การจัดฟันสามารถทำได้ทุกช่วงอายุ แต่ก็อาจมีความแตกต่างและความยากในบางประการที่ผู้สูงอายุจะต้องเผชิญในการจัดฟัน

ข้อจำกัดในการจัดฟันเมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

การจัดฟันในช่วงวัยนี้ ด้วยอายุที่มากขึ้นการเคลื่อนของฟันจะไม่เร็วเหมือนช่วงวัยเด็ก จึงทำให้ไม่ว่าผู้เข้ารับบริการจะรับการจัดฟันแบบใดก็ตาม ก็อาจมีปัญหาและมีข้อจำกัดที่จะเกิดขึ้นได้หลายประการ เช่น

1. ไม่สามารถช่วยปรับเปลี่ยนเค้าโครงของใบหน้าได้ 

ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุหลายรายต้องการเข้ารับการจัดฟัน เนื่องจากต้องการให้โครงสร้างใบหน้ายังคงความสวยงาม ไม่หย่อนคล้อยและดูเรียวสวย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยการจัดฟัน เพราะการจัดฟันเป็นการเคลื่อนฟันเท่านั้น

การจัดฟันไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระดูกในคนไข้ที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรและใบหน้าสมบูรณ์แล้ว แต่อาจช่วยเปลี่ยนลักษณะของใบหน้าได้เล็กน้อยจากการเคลื่อนฟัน

เช่น ฟันที่เหยินน้อยลงช่วยให้ริมฝีปากดูอูมน้อยลง แต่ไม่สามารถช่วยลดการอูมของริมฝีปากที่เกิดจากกระดูกขากรรไกรยื่นได้

แต่หากผู้เข้ารับบริการที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ยังต้องการให้การจัดฟันมีผลต่อรูปร่างของใบหน้า  ผู้เข้ารับบริการอาจต้องจัดฟันไปพร้อมกับการทำศัลยกรรมผ่าตัดกระดูกขากรรไกรควบคู่ไปด้วย

2. การเคลื่อนตัวของฟันจะช้ากว่า

ด้วยโครงสร้างกระดูกที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่มาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จึงทำให้ผู้เข้ารับบริการที่เป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุต้องใช้เวลาในการจัดฟันนานกว่าผู้เข้ารับบริการที่ยังเป็นวัยรุ่น

เนื่องจากโครงสร้างร่างกายในวัยเด็กนั้นยังสามารถสร้าง เคลื่อนที่ และทำลายกระดูกได้ค่อนข้างเร็ว จึงทำให้การเคลื่อนที่ของฟันไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นเกิดขึ้นได้เร็วกว่า

3. สุขภาพของช่องปากจะเสื่อมโทรมมากกว่า

โรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันบางชนิด เช่น ฟันโยก เหงือกอักเสบชนิดรุนแรง อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้จัดฟันที่สูงอายุแล้ว อีกทั้งการทำความสะอาดช่องปากหลังการติดเครื่องมือจัดฟันก็มักจะมีความยุ่งยากมากกว่าก่อนการจัดฟัน

ดังนั้นเมื่อผู้เข้ารับบริการเลือกที่จะจัดฟันในช่วงที่อายุมากแล้ว ก็ควรดูแลทำความสะอาดฟันหลังการติดเครื่องมือจัดฟันอย่างเข้มงวด และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสื่อมโทรมในช่องปากจากการอักเสบของเหงือก

4. มีข้อจำกัดของร่างกายมากกว่า

ด้วยอายุที่มากขึ้นจึงทำให้ผู้เข้ารับบริการที่สูงอายุบางรายมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัว รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันด้วย หากผู้เข้ารับบริการเป็นโรคเกี่ยวกับสุขภาพในช่องปากก็จะต้องได้รับการรักษาให้หายเสียก่อน จึงจะสามารถเริ่มจัดฟันได้

แต่ก็ใช่ว่าอายุที่เยอะขึ้นจะเป็นอุปสรรคในการจัดฟันเสมอไป เพราะหากผู้เข้ารับบริการมีการดูแลร่างกายและสุขอนามัยในช่องปากให้ดีอยู่แล้ว การตอบสนองต่อการจัดฟันก็ยังสามารถทำได้ตามเวลาที่ประมาณไว้

ส่วนข้อจำกัดอีกอย่างที่อาจเป็นอุปสรรคในการจัดฟันของผู้สูงอายุก็คือ การกระตุ้น หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกร ซึ่งจะสามารถทำได้เฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น

5. การปรับตัวระหว่างการจัดฟันยากกว่าวัยเด็ก 

การจัดฟันย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง เช่น เคี้ยวอาหารยากขึ้น พูดไม่ชัด หรือรู้สึกตึงและปวดฟันบริเวณที่กำลังเคลื่อนเข้าหากัน

อาการเหล่านี้ หากเป็นเด็กๆ หรือวัยรุ่นก็มักจะปรับตัวได้เร็วและทนกว่า เมื่อเทียบกับผู้เข้ารับบริการที่อายุมากแล้ว

แต่ถึงแม้ว่าการจัดฟันในขณะอยู่ในวัยสูงอายุแล้วจะมีข้อจำกัด หรือพบปัญหาได้มากกว่าการจัดฟันในวัยเด็ก แต่ก็ยังนับว่า มีประโยชน์อยู่หลายประการ เช่น

  • ช่วยให้เกิดความมั่นใจขณะเผยรอยยิ้ม หรือพูดมากขึ้น
  • ช่วยปรับ หรือเคลื่อนฟันให้มาอยู่ในตำแหน่งที่สวยงามขึ้น
  • แก้ไขฟันล้มเอียง ช่วยให้สามารถใส่ฟันเทียมได้ในตำแหน่งที่ต้องการ

นอกเหนือจากปัญหาเกี่ยวกับรูปร่างของกระดูกและฟันที่อาจทำให้ไม่สามารถจัดฟันได้ เช่น การสบฟันที่ผิดปกติ ขากรรไกรยื่น ขากรรไกรเบี้ยว หรือรากฟันสั้นเกินไป

ตัวการสำคัญที่เป็นอุปสรรคทำให้ผู้เข้ารับบริการไม่สามารถจัดฟันได้ หรือทำให้การจัดฟันมีปัญหาจนอาจเกิดอันตรายนั้นก็คือ “สุขภาพปากและฟัน” ไม่ใช่เรื่องของ “อายุ” อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจผิดแต่อย่างใด

ดังนั้นการรักษาสุขภาพช่องปากและให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันเป็นประจำ และความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด อาจเป็นตัวช่วยที่จะทำให้คุณสามารถจัดฟันได้แม้อายุจะมากขึ้นแล้ว


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top