เด็กฟันผุเกิดจากอะไร รักษาอย่างไร พ่อแม่ถอนฟันให้เองได้หรือไม่ scaled

เด็กฟันผุเกิดจากอะไร รักษาอย่างไร พ่อแม่ถอนฟันให้เองได้หรือไม่

ฟันผุเป็นโรคทางช่องปากที่หลายคนต้องเคยเจอ โดยมักมีสาเหตุมาจากการรับประทานของหวาน และพฤติกรรมทำความสะอาดช่องปากที่ไม่ดีพอ

ในวัยเด็กหลายคนคงเคยได้ยินพ่อแม่ขู่อยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าแปรงฟันไม่สะอาด กินลูกกวาดบ่อยๆ ก็จะทำให้ฟันผุ แมงกินฟัน ฯลฯ และสุดท้ายถ้าฟันผุมากๆ ก็ต้องถูกฟันออกกลายเป็นคนฟันหลอ นั่นก็เพราะฟันผุเป็นโรคที่พบบ่อยในวัยเด็ก

ความหมายของโรคฟันผุ

ฟันผุ (Tooth decay) คือ โรคติดต่อในช่องปาก มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคและเศษอาหารที่ทำความสะอาดไม่หมดทำลายผิวฟัน โดยเฉพาะเศษอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล

โรคฟันผุสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำลาย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งส่วนตัวฟัน และรากฟัน โรคฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่มีลักษณะฟันเก มีหลุม หรือร่องเหงือกลึก ก็จะเสี่ยงเป็นโรคฟันผุได้มากกว่า

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุในเด็ก

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคฟันผุในเด็กคือ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ทั่วถึง

ในเด็กเล็ก ฟันผุมักเกิดจากการติดขวดนม หลับคาขวดนม หรือแม้แต่หลับคาเต้านม ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้ทุกวัน เช้า และเย็น ตั้งแต่มีฟันน้ำนมซี่แรก ห้ามหลับคาขวด คาเต้า และควรพบไปพบทันตแพทย์สม่ำเสมอตั้งแต่เล็กๆ เพื่อตรวจฟันและเคลือบฟลูออไรด์

อย่างที่ทราบกันดีว่า เด็กๆ ชอบรับประทานขนมหวาน อาหารเคลือบน้ำตาล หรือน้ำเชื่อม รวมถึงอาหารมัน แป้ง น้ำอัดลม ซึ่งเศษอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่โรคฟันผุได้

ผู้ปกครองไม่ควรหยิบยื่นขนมเหล่านี้ให้กับเด็ก โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรงดของหวานทุกชนิด

ฟันกรามแท้ซี่แรก จะขึ้นสู่ช่องปากในด้านท้ายสุดเมื่ออายุประมาณ 6 ปี ซึ่งฟันซี่นี้มักผุไปก่อนเวลาอันควร เนื่องจากเด็กไม่สามารถแปรงฟันให้สะอาดได้ และผู้ปกครองไม่ทราบว่า “เด็กมีฟันแท้แล้ว”

อีกทั้งวัยเด็กยังเป็นวัยที่เพิ่มเริ่มหัดแปรงฟัน ทำความสะอาดช่องปาก เด็กไม่มีทางที่จะแปรงฟันเองได้สะอาดเนื่องจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก (นิ้วมือ) ยังพัฒนาไม่เพียงพอ

แม้เด็กจะแปรงฟันเองแล้ว ผู้ปกครองก็ต้องแปรงซ้ำและใช้ไหมขัดฟันให้ทุกวันจนกว่าเด็กจะมีอายุ 8 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่กล้ามเนื้อมัดเล็กพัฒนาเต็มที่พอดี และต้องใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์

นอกจากนี้โอกาสที่วัยเด็กจะเป็นโรคฟันผุได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่นั้นเกิดจากชั้นผิวเคลือบของฟันน้ำนมซึ่งเป็นส่วนป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุนั้นมีความหนาเพียงครึ่งหนึ่งของฟันแท้ จึงทำให้เนื้อฟันลึกลงไปถูกทำลายได้ง่ายกว่า

อาการฟันผุในเด็ก

โรคฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น ระยะของโรคฟันผุในเด็กจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่จะพบรอยขุ่นขาวบริเวณผิวฟันด้านบน แต่จะยังไม่มีอาการปวด หรือเสียวฟันเกิดขึ้น
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เนื้อฟันชั้นผิวเคลือบและชั้นด้านในเดินมีรอยผุเป็นรู อาจเห็นเป็นรูสีดำ หรือน้ำตาลเข้มเล็กๆ อีกทั้งเด็กจะเริ่มมีอาการปวดฟันเมื่อเคี้ยวอาหาร เมื่อเศษอาหารเข้าไปติดในรู หรือเสียวฟันเกิดขึ้น เมื่อรับประทานของหวาน ของร้อน หรือของเย็น นอกจากนี้อาจเริ่มมีกลิ่นปากมากกว่าปกติร่วมด้วย
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่อาการโรคฟันผุทะลุไปถึงโพรงประสาทฟันซึ่งจะทำให้เด็กมีอาการปวดฟันมาก เหงือกอักเสบจนบวม

ตำแหน่งของฟันที่มักเกิดการผุได้บ่อยๆ 

ในเด็กเล็ก บริเวณฟันหน้าจะผุเนื่องจากการหลับคาขวด หรือคาเต้า ในเด็กที่เริ่มรับประทานอาหารจะผุบริเวณฟันกรามบดเคี้ยวด้านใน เพราะเป็นบริเวณที่ใช้เคี้ยวอาหารและได้สัมผัสเศษอาหารมากที่สุด

ตำแหน่งดังกล่าวจึงเป็นแหล่งรวมของเศษอาหารที่เข้าไปติดตามร่องเหงือก และระหว่างซี่ฟัน

อีกทั้งเวลาแปรงฟัน เด็กหลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแปรงฟันกรามมากนัก เพราะอยู่ลึกข้างในช่องปาก จึงทำให้ง่ายต่อการผุนั่นเอง

อันตรายของโรคฟันผุ

โรคฟันผุหากไม่รีบรักษา จะทำให้โพรงประสาทฟันเสียหายหนัก จนเกิดความเจ็บปวดมาก เด็กอาจไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เพราะปวดฟันอยู่ตลอดเวลา

โรคฟันผุสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ เพราะหากเด็กปวดฟันจนนอนไม่หลับ ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตจะหลั่งผิดปกติ ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็กได้

และหากฟันเกิดการอักเสบหนักจนมีหนองไหลออกมา ทันตแพทย์ก็ต้องพิจารณาถอนฟัน ซึ่งน่ากลัวเกินไปสำหรับเด็ก

เด็กที่ต้องถอนฟันน้ำนมเพราะโรคฟันผุก่อนระยะเวลาที่ฟันน้ำนมจะหลุด ต้องใช้เวลารอจนกว่าฟันแท้จะขึ้นนานกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจในภาพลักษณ์ รวมถึงมีความเสี่ยงที่ฟันแท้ซึ่งขึ้นมาในภายหลังจะมีการขึ้นผิดปกติได้ด้วย

สามารถถอนฟันผุให้เด็กเองได้หรือไม่?

ไม่ว่าโรคฟันผุที่เกิดขึ้นจะอยู่ในระยะแรก หรือระยะที่ 3 ห้ามผู้ปกครองถอนฟันให้เด็กเองเด็ดขาด และต้องพาเด็กไปให้ทันตแพทย์เป็นผู้รักษาโรคฟันผุเท่านั้น

การรักษาโรคฟันผุต้องอาศัยเครื่องมือทำทันตกรรมรวมถึงความเชี่ยวชาญจากทันตแพทย์ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างปลอดภัย และสะอาด

การถอนฟันให้เด็กเองมีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะได้รับบาดเจ็บจากการถอนฟันผิดวิธี และยังเสี่ยงติดเชื้อจากอุปกรณ์ถอนฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดด้วย

โรคฟันผุไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กมีอาการเสียวฟันก่อนจึงจะไปพบทันตแพทย์ แต่ให้ผู้ปกครองหมั่นพาเด็กมาเข้ารับการตรวจฟันน้ำนมทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง โดยไม่ต้องรอให้ฟันแท้ขึ้นก่อนแล้วจึงเข้ารับการตรวจ

การตรวจตั้งแต่เด็กๆ ยังมีฟันน้ำนมอยู่นั้นเพื่อที่ทันตแพทย์จะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่า ภายในช่องปากมีฟันซี่ใดมีลักษณะคล้ายฟันผุหรือไม่ เพื่อจะได้รักษาอย่างถูกต้องให้เร็วที่สุด ก่อนโรคจะลุกลาม

วิธีรักษาโรคฟันผุในเด็ก

การรักษาโรคฟันผุในเด็กจะรักษาไปตามอาการของโรคว่า อยู่ในระยะใด

หากโรคฟันผุยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เห็นเป็นเพียงรอยขาวขุ่นหรือน้ำตาล ยังไม่เป็นรู ทันตแพทย์จะพิจารณาให้เคลือบฟลูออไรด์เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับผิวฟันก่อน

แต่หากทันตแพทย์ตรวจพบอาการฟันผุอย่างชัดเจนและวิธีเคลือบฟลูออไรด์ไม่สามารถรักษาโรคฟันผุได้ ทันตแพทย์จะทำความสะอาดฟัน กำจัดหินปูน และเริ่มอุดฟัน หรือครอบฟันส่วนที่ผุจนเนื้อฟันสึกกร่อนเป็นรูด้วยวัสดุที่สีเหมือนเนื้อฟัน

ในกรณีที่เด็กเป็นโรคฟันผุอย่างเห็นได้ชัดและระยะของโรคลุกลามลงไปถึงโพรงประสาทฟัน รวมถึงลามไปที่ฟันซี่ใกล้เคียงแล้ว ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องกำจัดโพรงประสาทส่วนที่เสียหายจากโรคฟันผุออกไป แล้วรักษารากฟันน้ำนมแล้วครอบฟันซี่นั้นให้เรียบร้อย

แต่หากการรักษา หรือกำจัดโพรงประสาทฟันที่เสียหายไม่สามารถช่วยให้ฟันซี่ที่ผุกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ทันตแพทย์จะถอนฟันซี่นั้นออก ถ้าเป็นฟันหลังอาจใช้เครื่องมือกันช่องว่างสำหรับฟันแท้ แล้วใส่ฟันปลอมแทนที่ให้ หรืออาจให้เด็กรอให้ฟันแท้ขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป

โรคฟันผุเป็นโรคทางช่องปากที่ส่งผลร้ายแรงเป็นระยะยาวไปถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้ปกครองทุกคนต้องคอยดูแลสุขภาพฟันและช่องปากของเด็กๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงควบคุมการชนิดของอาหารและปริมาณอาหารที่เด็กๆ รับประทาน เพื่อลดความเสี่ยงก่อโรคฟันผุ

ทั้งนี้เพื่อให้เด็กมีฟันน้ำนมที่แข็งแรง หรือมีฟันแท้ที่แข็งแรงมากที่สุด เพื่อเตรียมไว้ใช้งานไปตลอดชีวิต


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top