benign prostatic hyperplasia disease definition

ต่อมลูกหมากโต โรคของผู้ชายวัย 50+ รู้จักสาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน

ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) เป็นปัญหาที่คุณผู้ชายควรรู้จักกัน ผู้ชายสูงวัยจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องเผชิญกับอาการจากต่อมลูกหมากโต อย่างท่อปัสสาวะอุดตันและปัสสาวะผิดปกติ จนสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต แล้วต่อมลูกหมากโตเกิดจากอะไรกันแน่ รักษาได้ไหม ตรวจยังไง แล้วนานไปจะกลายเป็นมะเร็งไหม หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย

ต่อมลูกหมาก คืออะไร

หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าต่อมลูกหมาก (Prostate) อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไรในร่างกายของผู้ชาย 

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมชนิดหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ มีขนาดเท่าลูกเกาลัดหรือผลลิ้นจี่ ตำแหน่งจะอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ด้านหน้าของทวารหนัก และล้อมรอบท่อปัสสาวะอยู่ทางด้านหน้า ส่วนหน้าที่ของมันคือ การผลิตของเหลวบางชนิดมาผสมกับอสุจิ (Sperm) จนกลายเป็นน้ำอสุจิ เพื่อเสริมให้ตัวอสุจิแข็งแรงมากขึ้น ลดภาวะเป็นกรด และยังช่วยหล่อลื่นตัวอสุจิขณะหลั่งอีกด้วย

ปกติแล้วต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 20 ปี และกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งหลังอายุ 45 ปีขึ้นไป ทำให้ผู้ชายช่วงวัยนี้เริ่มประสบปัญหาต่อมลูกหมากโต ยิ่งอายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากจะยิ่งโตขึ้นเรื่อย ๆ เลยมักพบว่ากว่า 80% ของชายอายุ 70 ปีขึ้นไป จะเป็นต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต เกิดจากอะไร

ปัจจุบันยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดต่อมลูกหมากโต แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับปริมาณฮอร์โมนที่ไม่สมดุล นั่นคือ ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดต่ำลงเมื่ออายุมากขึ้น ขณะที่ฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ยังมีปริมาณเท่าเดิม จึงอาจส่งผลให้ต่อมลูกหมากเจริญเติบโตอีกครั้ง 

นอกจากปัจจัยด้านอายุ หากคนในครอบครัวมีประวัติสุขภาพเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคอ้วน ความเสี่ยงในการเกิดต่อมลูกหมากโตจะมากขึ้นไปด้วย  

อาการต่อมลูกหมากโต มีสัญญาณผิดปกติไหม

ต่อมลูกหมากอยู่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นอาจไปกดหรือเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้อาการส่วนใหญ่จะเป็นความผิดปกติในการปัสสาวะ โดยอาการที่บ่งบอกถึงต่อมลูกหมากโต มีดังนี้ 

  • ปัสสาวะบ่อยหรือถี่ทุก 1-2 ชั่วโมง จากปกติที่ 4-6 ชั่วโมง
  • ปัสสาวะไหลไม่แรง ไม่พุ่ง ไหลช้า ไหล ๆ หยุด ๆ
  • กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ต้องเข้าห้องน้ำในทันที
  • ปัสสาวะไม่สุด จนอยากปัสสาวะอีกรอบ
  • ปัสสาวะติดขัด หรือต้องเบ่งตอนปัสสาวะจนกว่าจะออก
  • ปัสสาวะกลางดึกบ่อยกว่า 1-2 ครั้ง จนรบกวนเวลานอน
  • ปวดขณะปัสสาวะหรือหลั่งอสุจิ
  • ปัสสาวะมีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไปจากเดิม

คนที่มีปัญหาต่อมลูกหมากโตอาจมีอาการมากน้อยต่างกันไป บางคนอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ส่วนมากอาการต่อมลูกหมากโตมักจะค่อย ๆ แย่ลง ตุณผู้ชายคนที่ไหนที่พบความผิดปกติเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะการปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจเสี่ยงเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไปจนถึงไตเสียหายหรือไตวายได้

ปัสสาวะติดขัดอยู่รึเปล่า? อาการเหมือนเป็นต่อมลูกหมากโตไหมน๊า ไปอัลตราซาวด์ช่องท้องให้ชัวร์ดีกว่า HDmall.co.th รวมโปรตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ราคาพิเศษมาไว้แล้ว คลิกเลย 

การตรวจและวินิจฉัยต่อมลูกหมากโต 

แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพอย่างละเอียด อาการผิดปกติที่เจอ และอาจให้ทำแบบประเมินอาการและความรุนแรงของอาการปัสสาวะผิดปกติ ร่วมถึงมีตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้ 

  • การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักโดยใช้นิ้วคลำหาต่อมลูกหมาก เพื่อดูว่าต่อมลูกหมากโตขึ้น หรือมีลักษณะผิดปกติที่อาจะเป็นมะเร็งหรือไม่ 
  • การตรวจเลือด เพื่อดูความผิดปกติของไต และมีการตรวจเลือดหาค่า PSA (Prostatic Specific Antigen) หรือสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งปกติแล้วค่า PSA ที่สูงขึ้นมักเป็นตัวบ่งบอกถึงต่อมลูกหมากโตขึ้น 
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อหรือโรคอื่น ๆ 

นอกจากนี้ อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลและตัดโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกันกับต่อมลูกหมากโตออกไป เช่น 

  • การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) ดูความผิดปกติของท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
  • การอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก โดยใช้อุปกรณ์ตรวจสอดเข้าไปทางทวาร 
  • การตรวจการไหลของปัสสาวะ เพื่อดูความแรงในการปัสสาวะ และปริมาณปัสสาวะที่เหลือหลังปัสสาวะเสร็จ
  • การตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุที่ต่อมลูกหมากโตขึ้นเกิดจากมะเร็งหรือความผิดปกติอื่น

ต่อมลูกหมากโต รักษาได้ไหม

การรักษาต่อมลูกหมากโตจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ขนาดของต่อมลูกหมากที่โตขึ้น อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย คนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวัน แพทย์จะเฝ้าดูอาการ และให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อประคองอาการไม่ให้แย่ลง เมื่อเริ่มมีอาการมากขึ้นอาจให้ใช้ยารักษา ส่วนคนที่มีอาการรุนแรงหรือยาใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดต่อมลูกหมาก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ลดการดื่มน้ำก่อนเข้านอนตอนกลางคืน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน อย่างชาและกาแฟ 
  • เลี่ยงการรับประทานยาลดความดันโลหิตก่อนนอน เพราะยาบางกลุ่มอาจมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ 
  • ปัสสาวะทุก 2-3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอให้ปวดแล้วค่อยเข้าห้องน้ำ
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใยอาหาร เพื่อป้องกันท้องผูก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพของต่อมลูกหมาก เช่น สตรอเบอร์รี่และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม เลมอน ถั่ว มะเขือเทศ หรือบรอกโคลี่
  • ออกกำลังเป็นกำลังเป็นประจำ เพื่อช่วยควบคุมหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ไม่เป็นโรคอ้วน 

การรับประทานยารักษาอาการ

แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาต่อมลูกหมากโต เช่น

  • ยากลุ่มแอลฟา บล็อกเกอร์ (Alpha Blocker) เช่น ยาอัลฟูโซซิน (Alfuzosin) และยาด็อกซาโซซิน (Doxazosin) ช่วยคลายกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก ทำให้ท่อปัสสาวะกว้าง จึงง่ายต่อการปัสสาวะมากขึ้น
  • ยาลดขนาดต่อมลูกหมาก (5-Alpha Reductase Inhibitors) เช่น ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) และยาดูทาสเตอไรด์ (Dutasteride) ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้ต่อมลูกหมากหดตัวลง สามารถปัสสาวะได้ง่ายขึ้น โดยอาจใช้เวลาสักระยะกว่าจะเห็นผลหรือประมาณ 6 เดือน และอาจส่งผลให้อารมณ์ทางเพศผู้ปวยลดลง
  • ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) มักใช้เป็นยารักษาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แต่ก็นำมาใช้รักษาต่อมลูกหมากโตด้วยเช่นกัน

การผ่าตัดหรือส่องกล้องต่อมลูกหมาก

การผ่าตัดหรือการส่องกล้องต่อมลูกหมาก เพื่อผ่าเอาต่อมลูกหมากส่วนที่ปิดกั้นทางเดินปัสสาวะออก มีอยู่หลายวิธี เช่น  

  • การผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะเพื่อขูดต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate: TURP) เป็นวิธีที่นิยมใช้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ยาใช้ไม่ได้ผล มีภาวะแทรกซ้อน หรือคนที่ใส่สายสวนปัสสาวะ 
  • การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate: TUIP) โดยจะสร้างรอยขนาดเล็ก 1-2 รอย ไว้ที่ต่อมลูกหมาก เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกมาจากท่อปัสสาวะได้ง่ายขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตไม่มาก
  • การผ่าตัดด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave Thermotherapy: TUMT) วิธีนี้เป็นการกำจัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากบางส่วนออกด้วยคลื่นไมโครเวฟ จึงช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากและทำให้ปัสสาวะง่ายขึ้น
  • การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ (Transurethral Laser Vaporization of Prostate) จะช่วยสลายเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่ปิดกั้นท่อปัสสาวะออกไป วิธีนี้มักได้ผลการรักษาดี ผลข้างเคียงน้อย และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน เหมาะกับคนที่มีโรคประจำตัวหลายโรค มีความเสี่ยงจากการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
  • การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมากออก มักใช้กับผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโตมากเกินไป 
  • การผ่าตัดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดด้วยน้ำแรงดันสูง (Aquablation) และการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) 

การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีการผ่าตัดไม่สามารถทำได้ทุกราย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้จึงต้องรับการรักษาด้วยวิธีอื่นตามที่แพทย์เห็นสมควรเห็น โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะที่ยังไม่ได้รักษา โรคท่อปัสสาวะตีบ โรคทางระบบประสาท หรือมีประวัติฉายรังสีที่ต่อมลูกหมากหรือผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ 

ต่อมลูกหมากโตแล้วจะเป็นมะเร็งไหม

ต้องบอกก่อนว่า ต่อมลูกหมากโตนั้นไม่ใช่โรคมะเร็ง และงานวิจัยบางส่วนบอกได้ว่า ต่อมลูกหมากโตไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่บางคนอาจเป็นทั้งต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากพร้อมกันก็ได้ และอาการของโรคก็ยังมีความคล้ายคลึงกันด้วย 

ปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุการเกิดต่อมลูกหมากโตที่ชัดเจน ทำให้ป้องกันโรคได้ยากไปด้วย การหมั่นสังเกตอาการตัวเอง เมื่อพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์จะช่วยให้ได้รับคำแนะนำและการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะตอนวัยหนุ่มหรือตอนสูงอายุ ต่อมลูกหมากโตก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด

อย่ารอให้เกิดอาการต่อมลูกหมากโต แล้วค่อยไปหาคุณหมอ มาทำนัดปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจประเมินตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนจะปัสสาวะลำบากจนทรมานใจดีกว่า ทักแอดมินให้ช่วยดูแลทุกขั้นตอน ที่นี่ ได้เลย! หรือหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพต่อมลูกหมาก และแพ็กเกจดูแลสุขภาพอื่น ๆ HDmall.co.th มีครบ คลิกเลย  

Scroll to Top