ปัสสาวะไม่ออก หนึ่งในอาการเกี่ยวกับการขับถ่ายที่หลายคนเผชิญ scaled

ปัสสาวะไม่ออก หนึ่งในอาการเกี่ยวกับการขับถ่ายที่หลายคนเผชิญ

การปัสสาวะเป็นการขับถ่ายเอาของเสียออกมาเป็นน้ำทุกวัน วันละประมาณ 3-4 ครั้ง และควรต้องเกิดขึ้นทุกวันเพื่อไม่ให้ร่างกายสะสมของเสียไว้มากเกินไป อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะไม่ออกเลย

ความหมายของอาการปัสสาวะไม่ออก

อาการปัสสาวะไม่ออก (Urinary Retention) คือ ภาวะที่ไม่สามารถปล่อยปัสสาวะออกมาได้ตามปกติถึงแม้จะรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่ก็ตาม หรืออาจต้องใช้แรงขับปัสสาวะมากกว่าปกติจึงจะมีปัสสาวะออกมา เป็นอาการที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

สาเหตุของอาการปัสสาวะไม่ออก

อาการปัสสาวะไม่ออกมักมีสาเหตุมาจากโรค หรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone) เกิดจากการสะสมของตะกอนเกลือแร่ในน้ำปัสสาวะ เช่น แคลเซียม กรดยูริค จนกลายเป็นผลึกก้อนอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และอุดกั้นไม่ให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้ตามปกติ
  • โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH) ขนาดของต่อมลูกหมากที่โตขึ้นสามารถไปกัดทับทำให้ท่อปัสสาวะตีบลง ส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออกได้
  • การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง (Spinal Cord Injury: SCI) อาการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังไปจนถึงรากประสาทสามารถส่งผลให้ระบบประสาทที่สั่งการระบบทางเดินปัสสาวะทำงานผิดปกติ จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้
  • ภาวะท่อปัสสาวะตีบ (Urethral stricture) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดอุบัติเหตุบริเวณกระดูกเชิงกรานจนส่งผลต่อท่อปัสสาวะ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างโรคหนองใน
  • อาการท้องผูก (Constipation) อุจจาระที่สะสมจนอัดอยู่ในทวารหนักสามารถไปกดท่อปัสสาวะจนทำให้ขับปัสสาวะไม่ออกได้
  • อาการชา (Anethesia) ในกรณีนี้รวมไปถึงการให้ยาชา หรือการดมยาสลบด้วย ซึ่งส่งผลกระทบให้ระบบประสาทที่สั่งการระบบทางเดินปัสสาวะหยุดทำงานชั่วคราว
  • ภาวะเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor issues) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะโดยตรง การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณนี้ เช่น การคลอดบุตร จึงส่งกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และระบบประสาท ทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้
  • ภาวะหูรูดท่อปัสสาวะบีบรัดตัวผิดปกติ (Overactive Bladder: OAB) มักพบในผู้ที่เคยผ่าตัดทางทวารหนัก เช่น เป็นริดสีดวงทวาร ไขสันหลังเคยได้รับบาดเจ็บ

อาการปัสสาวะไม่ออก

ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะไม่ออกมักจะมีระยะเวลาของอาการมากกว่า 1 เดือนไปจนถึงหลายปี และยังอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นได้อีก เช่น

  • ต้องการปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง แม้จะเพิ่งปัสสาวะเสร็จไป
  • ต้องออกแรงขับปัสสาวะมากจึงจะปัสสาวะออก
  • ไม่รู้ว่าตนเองปวดปัสสาวะ ความรู้สึกปวดปัสสาวะขาดหายไป
  • มักปัสสาวะบ่อยภายในระยะเวลาสั้นๆ
  • ปัสสาวะบ่อยมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน
  • ต้องตื่นนอนกลางดึกบ่อยๆ เพื่อปัสสาวะ
  • มีปัสสาวะรั่วไหลระหว่างวัน
  • รู้สึกไม่สบายตัวหลังจากขับปัสสาวะเสร็จ หรือรู้สึกว่า ยังปัสสาวะไม่สุดทั้งๆ ที่ขับปัสสาวะหมดแล้ว
  • อาจพบก้อนอยู่เหนือหัวหน่าวเมื่อกระเพาะปัสสาวะมีน้ำปัสสาวะเต็มแล้ว แต่ไม่สามารถปัสสาวะออกได้

อาการปัสสาวะไม่ออกที่อยู่ในระยะร้ายแรง และควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ มิฉะนั้นอาจทำให้มีการอุดตันของกระเพาะปัสสาวะมากกว่าเดิม จนลุกลามทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ได้แก่

  • ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้อีก และไม่มีปัสสาวะออกมาเลยแม้แต่นิดถึงแม้จะพยายามเบ่งขับอย่างแรงแล้ว
  • เมื่อต้องการปัสสาวะ จะมีอาการปวดปัสสาวะอย่างรุนแรงผิดปกติ
  • ท้องน้อยบวม หรือรู้สึกเจ็บท้องน้อย

อาการแทรกซ้อนของอาการปัสสาวะไม่ออก

ผู้ที่มีอาการปัสสาวะไม่ออกจนทำให้น้ำปัสสาวะสะสมอยู่ในร่างกายสามารถเกิดอาการไตวายตามมาได้ ซึ่งจะทำให้ระบบการกรองของเสียทำงานบกพร่อง และยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีของเสียในร่างกายสะสมมากกว่าเดิม

เมื่อของเสียสะสมบางขึ้นๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวซีด มีภาวะเลือดเป็นกรด โพแทสเซียมในเลือดสูง เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลียได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้เพราะน้ำปัสสาวะเป็นของเสีย หากน้ำปัสสาวะยังค้างอยู่ในร่างกายก็ไม่ต่างจากการมีสิ่งสกปรกสะสมอยู่ในร่างกายจึงทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ บางรายอาจปัสสาวะออกมาเป็นน้ำสีขุ่นและมีหนองปน

ผู้ป่วยที่ไม่มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและมีอาการปัสสาวะไม่ออก ก็อาจเกิดนิ่วในภายหลังได้ เนื่องมาจากน้ำปัสสาวะที่คั่งอยู่ข้างในจะสะสมกลายเป็นก้อนนิ่วในภายหลัง

นอกจากนี้อาจพบภาวะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งปัสสาวะโตผิดปกติ หรือฝ่อ เกิดกระเปาะในกระเพาะปัสสาวะซึ่งทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย

ความแตกต่างระหว่างอาการกระเพาะปัสสาวะไม่ออกกับอาการปัสสาวะขัด

หลายคนอาจสับสนกับ “อาการปัสสาวะไม่ออก” และ “อาการปัสสาวะขัด”ว่า แตกต่างกันอย่างไร

คำตอบคือ อาการปัสสาวะขัดเป็นอาการที่ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้บ้าง แต่เป็นไปโดยยาก หรือมีปริมาณปัสสาวะกะปริบกะปรอย นอกจากนี้ปัสสาวะผู้ป่วยยังอาจมีเลือดปน หรือปวดหน่วงท้องน้อยระหว่างปัสสาวะด้วย แต่ก็ยังปัสสาวะออกได้บ้าง

ในขณะที่อาการปัสสาวะไม่ออกนั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้เลย จนทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ

วิธีรักษาอาการปัสสาวะไม่ออก

เป้าหมายสำคัญในการรักษาอาการปัสสาวะไม่ออกคือ ปล่อยให้น้ำปัสสาวะที่สะสมอยู่ออกจากร่างกายให้หมด โดยอาจเป็นการใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อเอาน้ำปัสสาวะออกมา

ส่วนผู้ที่มีอาการปัสสาวะไม่ออกซึ่งเป็นผลกระทบมาจากความผิดปกติ หรือโรคอื่นๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์ก็จะรักษาไปตามอาการโรคนั้นๆ เช่น

  • การรับประทานยาฆ่าเชื้อ ในกรณีปัสสาวะไม่ออกจากภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
  • การขยายท่อปัสสาวะ แล้วใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อนำปัสสาวะออก ในกรณีเป็นภาวะท่อปัสสาวะตีบ
  • การผ่าตัด ในกรณีที่ไม่สามารถใช้สายสวนได้ หรือมีการอุดกั้นที่ท่อปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะตีบมาก ซึ่งเกิดจากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือเกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele)
  • การใส่ท่อระบายเข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อป้องกันการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะในอนาคต
  • การสวนล้างก้อนเลือด ในกรณีที่มีก้อนเลือดไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะใช้ไฟฟ้าจี้เพื่อห้ามเลือด แล้วสวนล้างด้วยน้ำเกลือ

นอกจากนี้หากแพทย์มีการจ่ายยาเพื่อรักษาโรคที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยก็ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อให้อาการบรรเทาได้เร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาการปัสสาวะไม่ออกก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่ยากจะควบคุม เช่น

  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาหดหลอดเลือด ยาต้านฮิสตามีน
  • การคลอดบุตรซึ่งทำให้บริเวณอวัยวะเพศเกิดบาดแผล
  • กล้ามเนื้อหูรูดเสื่อมสภาพซึ่งเป็นผลมาจากอายุที่มากขึ้น
  • ความเสียหายของเส้นประสาทซึ่งเป็นผลมาจากบางโรค เช่น โรคเบาหวาน

ดังนั้นหากมีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะขัด หรือรู้สึกได้ว่า การปัสสาวะผิดปกติไปจากเดิม ให้รีบไปพบแพทย์โดยนำตัวยาที่กำลังรับประทานไปด้วย เพื่อประกอบการวินิจฉัย ที่สำคัญ เมื่อพบแพทย์ควรพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของตนเองอย่างละเอียด จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

นอกจากนี้การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะน้อยลง รวมถึงไม่ควรมีพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะเพราะมีโอกาสทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะตามมาในภายหลัง

อาการปัสสาวะไม่ออกเป็นอาการที่ดูเหมือนไม่รุนแรง นอกจากจะสร้างความรำคาญและทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้แล้ว ยังอาจแฝงภาวะผิดปกติ หรือโรคได้ ดังนั้นจึงเมื่อมีอาการผิดปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top