ริดสีดวงแตก ทำอย่างไร

ริดสีดวงแตก ทำอย่างไร

ริดสีดวงทวารเกิดได้บ่อยในช่วงอายุ 30-40 ปี เนื่องจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดบริเวณรูทวาร หากก้อนริดสีดวงทวารแตกจะมีเลือดสดไหลซึมออกมาจากรูทวาร ทั้งในขณะนั่ง เดิน หรือยืนนาน หรือสามารถแตกได้ขณะขับถ่าย

ทั้งนี้ หากเลือดสามารถหยุดไหลเองได้ก็ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้ามีเลือดออกมากจนเกิดภาวะซีด อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก และชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบพบแพทย์ทันที

ริดสีดวงทวารคืออะไร?

โรคสีดวงทวารเกิดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อบริเวณปากทวารที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เนื้อเยื่อนี้มีความยืดหยุ่นสูง ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก หรือแรงเสียดสีระหว่างอุจจาระกับทวารหนัก และช่วยให้รูทวารปิดสนิท

เมื่อมีการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณทวารหนักจากการเบ่งถ่าย ท้องผูก หรือถ่ายบ่อยจากท้องเสีย หรือเมี่ออายุมากขึ้น จะทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณนั้นโป่งพอง เกิดก้อนเนื้อบวมเต่งที่ปากทวารหนักและเลื่อนออกมาจากรูทวาร จนทำให้มีเลือดปนออกมากับอุจจาระนั่นเอง

ริดสีดวงแตก เป็นเพราะอะไร อาการเป็นอย่างไร?

ริดสีดวงแตกเกิดจากแรงดันภายในช่องท้องอาจเกิดจากการเบ่งอุจจาระมากเกินไป ทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองอยู่แล้วพองยิ่งขึ้นจนแตกตัวในที่สุด หรืออาจเกิดจากก้อนอุจจาระที่แข็งจนเกินไป เมื่อมีการขับถ่าย ก้อนอุจจาระจะไปเสียดสีกับเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแตกและมีเลือดไหลออกมา

อาการที่มักจะพบได้บ่อยหลังจากที่ริดสีดวงแตกคือ มีเลือดไหลปริมาณมาก ไหลไม่หยุด และอาการเจ็บแสบบริเวณรูทวาร

ริดสีดวงแตกแบบไหนอันตราย ต้องรีบไปพบแพทย์?

ถ้าริดสีดวงแตกแล้วมีเลือดไหลออกมามากกว่าปกติ อีกทั้งไม่หยุดไหลเอง ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจจะเกิดภาวะซีดจากการขาดเลือด ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ชีพจรเต้นเร็วและแรง หน้ามืด มือเท้าเย็น หรือเป็นลมไปได้

นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก หรือผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน โรคประจำตัว ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

การปฐมพยาบาล หรือดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อริดสีดวงแตก

  • เบื้องต้นควรนำผ้าสะอาดมารองรับ หรือสวมใส่ผ้าอนามัยไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล เพื่อซับเลือดที่ไหลออกมา ป้องกันสิ่งสกปรกมาสัมผัสแผล ควรเลือกผ้าอนามัยแบบกลางคืนเพราะแผ่นใหญ่ รองรับได้ทั่วทั้งก้น หากมีเลือดไหลมากควรเปลี่ยนผ้าอนามัย หรือเปลี่ยนทุก 3-4 ชั่วโมงก็ได้
  • ไม่แนะนำให้แช่น้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการปวด เนื่องจากความร้อนจะไปขยายหลอดเลือดบริเวณปากทวาร ทำให้เลือดยิ่งไหลมากขึ้น และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในกระแสเลือดจากน้ำที่แช่และจากภาชนะใส่น้ำได้อีกด้วย
  • สามารถใช้แผ่นประคบเย็นประคบบริเวณรอบริดสีดวงทวาร ประมาณ 2-3 นาทีแล้วพัก ประมาณ 3 รอบ เพื่อช่วยลดการอักเสบ และยังช่วยให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดไหลได้อีกด้วย ระวังอย่าให้ถุงประคบสัมผัสกับริดสีดวงโดยตรง เนื่องจากยังเป็นแผลเปิดอาจเกิดการติดเชื้อได้
  • อาจใช้ว่านหางจระเข้ช่วยในการปฐมพยาบาล เนื่องจากว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยลดอาการอักเสบ และช่วยสมานแผล วิธีทำง่ายๆ โดยการนำใบว่านหางจระเข้สดมาปอกเปลือกออก แล้วล้างยางสีเหลืองออกให้หมด ล้างให้สะอาด ให้เหลือเฉพาะเมือกกับเนื้อวุ้นสีขาวใส ใช้ทาบริเวณที่ริดสีดวงที่แตก ช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้นได้เช่นเดียวกัน

วิธีป้องกันไม่ให้ริดสีดวงแตก

  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผักและผลไม้ เพื่อช่วยลดแรงเบ่งในการขับถ่าย
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้ประมาณวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้ก้อนอุจจาระนิ่มขึ้น จะได้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระแรงเกินไป อาจทำให้เพิ่มแรงดันและเลือดเลือดที่โป่งพองในรูทวารแตกได้
  • หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน เพราะเป็นการเพิ่มแรงกดบนเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนัก และกีดขวางการไหลเวียนของเลือดที่เป็นรอยโรคของริดสีดวง จนอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้ ดังนั้นควรลุกเดินบ้างเป็นระยะๆ
  • เลือกใช้กระดาษชำระแบบนุ่ม ใช้กระดาษชำระแบบเปียก หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดก้นหลังการขับถ่าย เพื่อลดแรงเสียดสี และลดการระคายเคืองผิวหนังได้
  • หากก้อนริดสีดวงทวารใหญ่มากกว่าปกติและไม่สามารถดันกลับเข้าไปในรูทวารได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและแนะนำยาที่เหมาสมกับระดับอาการ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดริดสีดวงทวารแตก หรือหากยังมีอาการเจ็บ ก้อนริดสีดวงทวารมีขนาดเท่าเดิม หลังจากพยายามรักษาด้วยตัวเองเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน

ริดสีดวงทวารแม้จะเป็นโรคที่น่าเขินอายสำหรับใครหลายๆ คน แต่หากเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ขึ้นมา หากพยายามรักษาด้วยตนเองแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ขออย่าเขินอายที่จะไปพบแพทย์

การรักษาริดสีดวงทวารจากแพทย์อย่างถูกต้องและการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ จะช่วยให้โรคริดสีดวงทวารที่เป็นอยู่ทุเลาลงและหายเป็นปกติได้

บทความแนะนำ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • วรวุฒิ เจริญศิริ, ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ, ริดสีดวงทวาร (HEMORRHOIDS) (https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/hemorrhoids), 2560.
  • นพพล เฟื่องวรรธนะ และวรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ, ภาควิชาศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, Hemorrhoid (http://oldweb.pharm.su.ac.th/thai/Organizations/DIS/Articles/PDF_Files/health001.pdf), 25 พฤษภาคม 2562.
  • Mayo Clinic, Hemorrhoids (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hemorrhoids/diagnosis-treatment/drc-20360280), 6 November 2018.
Scroll to Top