ตุ่มนูนแดงเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง

ตุ่มแดงขึ้นตามตัว ใบหน้า เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

ตุ่มแดงขึ้นตามตัว เป็นอาการแสดงของความผิดปกติทางผิวหนังอย่างหนึ่ง ตุ่มแดงมักมีลักษณะเป็นตุ่มนูนกลมมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตรหรืออาจเล็ก หรือใหญ่กว่านั้น อีกทั้งสามารถเกิดขึ้นได้หลายตุ่ม และเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งบนร่างกายในเวลาเดียวกัน การมีตุ่มแดงขึ้นตามร่างกายไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง แต่ก็ขึ้นอยู่กับโรค หรือความผิดปกติที่ทำให้เกิดตุ่มนูนแดงขึ้นด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มแดงขึ้นตามตัว ใบหน้า

การเกิดตุ่มแดงสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมักเกิดจากโรคผิวหนัง หรือโรคบางอย่างที่มีอาการแสดงออกมาเป็นตุ่มแดง เช่น

  • สิวอักเสบ (Acne Vulgaris) เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันในรูขุมขนจนเกิดการอักเสบขึ้น มักเกิดบริเวณทุกตำแหน่งบนใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง
  • ขนคุด (Keratosis pilaris) หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคหนังไก่” เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนรวมกับมีผิวแห้ง ไม่ได้รับความชุ่มชื้น ทำให้เกิดตุ่มแดงเล็กรอบๆ เส้นขน
  • ไฝแดง (Cherry Angioma) เกิดจากการเจริญเติบโตของเส้นเลือดในผิวหนังชั้นบน ทำให้เกิดตุ่มแดงขึ้นตามร่างกาย มักเกิดในผู้สูงอายุ
  • ติ่งเนื้อ (Skin tags) มีลักษณะเป็นตุ่ม หรือก้อนเนื้อขนาดเล็ก มีเนื้อสีแดงอ่อนๆ หรือสีน้ำตาลขึ้นมาตามผิวหนัง มักเป็นอาการของโรคเบาหวาน วัยหมดประจำเดือน หรือการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไร้ท่อ
  • คีลอยด์ (Keloids) เป็นก้อน หรือตุ่มเนื้อนูน อาจมีสีแดง สีชมพู หรือสีเนื้อ เกิดขึ้นจากการงอกของเนื้อเยื่อพังผืดบริเวณบาดแผลบนผิวหนัง ตุ่มเนื้อคีลอยด์เกิดได้หลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตรไปจนถึงเป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่ต้องผ่าตัดออก
  • โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster) ทำให้ผู้ป่วยมีตุ่มแดงขึ้นตามร่างกาย ก่อนจะกลายเป็นตุ่มพุพอง และตกสะเก็ดเป็นแผลแห้งในภายหลัง
  • โรคผิวหนังผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) เกิดจากการไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่สร้างความระคายเคือง จนทำให้เกิดอาการแพ้ออกมาในรูปของผื่นแดง หรือตุ่มแดง
  • โรคหูด (Wart) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) จนทำให้เซลล์ผิวหนังแข็งตัว และหนาตัวขึ้นมา
  • โรคหิด (Scabies) เกิดจากตัวหิดซึ่งอาศัยอยู่ในผิวหนังของคน จนส่งผลให้เกิดอาการคัน มีผื่น และมีตุ่มแดงขึ้นกระจายไปทั่วตัว
  • โรคกระเนื้อ (Seborrheic keratosis) เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน จนผิวหนังเกิดเป็นตุ่ม หรือติ่งเนื้อขึ้นมาตามผิวหนัง แต่อาจไม่ได้เป็นสีแดงมาก
  • โรคเริม (Cold Sore) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส “เฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus)” จนทำให้เกิดตุ่มน้ำสีแดง ร่วมกับมีอาการคัน และแสบร้อนตามผิวหนังที่มีตุ่มขึ้น
  • โรคเรื้อน (Leprosy Update) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “ไมโคแบคทีเรียม เลปรา (Mycobacterium leprae)” ทำให้เกิดตุ่มแดงนูน เป็นผื่น และมีอาการชาตามร่างกาย
  • โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) เกิดจากการอักเสบของผิวหนังชั้นนอก จนทำให้เกิดตุ่มแดง และมีน้ำเหลืองอยู่ข้างใน ร่วมกับมีอาการคันเกิดขึ้น
  • หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) เป็นอีกโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า “โมลัสคุม คอนทาจิโอซุม (Molluscum contagiosum)” หนึ่งในอาการแสดงของโรคนี้ คือ มีตุ่มแดง หรือชมพู มีรอยบุ๋มยุบลงตรงกลาง

อาการมีตุ่มแดงตามร่างกาย ที่ควรไปพบแพทย์

หากยังไม่เคยมีตุ่มแดงขึ้นตามร่างกาย หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดตุ่มแดงขึ้น แล้วมีตุ่มแดงขึ้นร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัย

  • ตุ่มแดงขึ้นตามตัว โดยไม่ทราบที่มาที่ไป
  • ตุ่มแดงมีขนาดใหญ่ หรือมีหนองอยู่ในตุ่มด้วย รวมถึงมีการกระจายตัวไปทุกส่วนของร่างกายมากขึ้น
  • รู้สึกเจ็บแสบที่ตุ่มแดง

หรือหากไม่มีเวลาไปพบแพทย์ ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ให้บริการแล้ว เรียกว่า “สะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการเดินทางและประหยัดเวลาในการรอพบแพทย์” ที่สำคัญยังสามารถเลือกได้ว่าจะโทรคุย หรือเปิดกล้องวิดีโอคอล

การรักษาอาการตุ่มแดง

การรักษาตุ่มแดงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดตุ่มแดง เช่น

  • รับประทานยารักษาสิว หรือทายารักษาสิว ยาต้านเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดตุ่มแดง เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซต์ (Benzoyl Peroxide) ครีมเพอร์เมทริน (Permethrin cream) ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine)
  • การทาครีมที่มีสารเรตินอยด์ ซึ่งเป็นสารวิตามินเอที่ช่วยบำรุงผิว เช่น เจลดิฟฟาริน (Differin Gel) ยาเตรทติโนอิน (Tretinoin)
  • การรับประทานยาคุมกำเนิด ซึ่งช่วยลดสิวได้ในผู้หญิง หากไม่แน่ใจว่าควรรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างไร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยและประสิทฑิภาพในการรักษาสิวที่ดี
  • การฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคบางอย่างที่เกี่ยวกับตุ่มแดง เช่น วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพราะผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดในภายหลังได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน
  • การตัดตุ่มนูน ติ่งเนื้อ รวมถึงรักษาสิวด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การเลเซอร์ จี้ด้วยไฟฟ้า ทำศัลยกรรม การผ่าตัด การใช้ไนโตรเจนเหลวทำให้ผิวหนังเย็นจัดแล้วตัดชิ้นเนื้อออก

การดูแลผิวบริเวณที่มีตุ่มแดง

นอกจากนี้การดูแลผิวบริเวณที่มีตุ่มแดงให้เหมาะสม ก็ช่วยบรรเทาอาการตุ่มแดงได้ เช่น

  • อย่าขัดผิวบริเวณที่มีตุ่มนูน แต่ให้ใช้น้ำสะอาดอุ่นๆ หรือน้ำเกลือเช็ดผิวที่มีตุ่มแดงเบาๆ
  • อย่าทาแป้ง โลชั่น หรือใช้เครื่องสำอางบริเวณที่มีตุ่มแดงจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือหากต้องการทาสารบำรุงผิวใดๆ บริเวณที่มีตุ่มแดง ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • อย่าปล่อยให้ผิวที่มีตุ่มแดงเปียกชื้น และควรทำความสะอาดผิวบริเวณนั้นให้แห้ง ได้รับอากาศถ่ายเทเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัด หากจำเป็นควรทาครีมกันแดดที่แพทย์แนะนำ
  • พยายามหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสผิวของผู้อื่น พยายามไม่ออกไปเจอผู้คนจนกว่าอาการของโรคจะดีขึ้น เพราะโรคผิวหนังหลายๆ โรคเป็นโรคติดต่อที่ส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสแม้เพียงเล็กน้อย
  • รักษาความสะอาดข้าวของเครื่องใช้รอบตัว รวมถึงทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าอยู่เสมอ และไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ
  • ใส่เสื้อผ้าที่เนื้อผ้านุ่มสบาย เสื้อผ้าไม่คับจนเกินไปเพื่อให้สบายตัว และเนื้อผ้าไม่เสียดสีกับตุ่มแดงจนเกิดแผล
  • ตัดเล็บ และตะไบเล็บให้ไม่คมเพื่อป้องกันการขูดโดนแผล
  • ไม่เกา หรือแกะตุ่ม เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบมากกว่าเดิม
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอจนเสี่ยงติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ได้ง่าย

การเกิดตุ่มนูนแดงตามร่างกายไม่ใช่อาการอันตรายร้ายแรงที่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที โดยตุ่มแดงอาจเกิดจากสิ่งสกปรก หรือสารสร้างความระคายเคืองบางอย่างที่เพียงทำความสะอาดร่างกาย หรือรับประทานยาฆ่าเชื้อก็หายได้

อย่างไรก็ตาม หากคุณมีตุ่มแดงขึ้นตามร่างกายอย่างที่ไม่เคยเป็น และลองรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองแล้วยังไม่หายดี รวมถึงมีอาการข้างเคียงอื่นๆ เกิดขึ้นอีก ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยทันที


คำถามที่พบบ่อย



ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top