อาการคัน

วิธีรักษาอาการคันมือ คันเท้า คันผิวหนัง

อาการคันเป็นอาการที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวและอาจมีความสัมพันธ์กับโรคบางอย่าง หรือเป็นผลจากการอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาการคันสามารถเกิดขึ้นบนส่วนใดของร่างกายก็ได้ มือ เท้า แขน ขา อก เอว ก้น น่อง ศีรษะ คันในร่มผ้า แบ่งอาการเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

  • อาการคันทั่วร่าง ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับโรคภายในที่กระตุ้นให้คันหลายจุดพร้อมกัน
  • อาการคันเฉพาะจุด ซึ่งจะะบอกสาเหตุได้จากการตรวจผื่น มักเกี่ยวกับโรคผิวหนัง

บางครั้งในอาการคันก็อาจมีผื่น จุด หรือตุ่มเกิดขึ้นที่ผิวหนังร่วมด้วย สำหรับอาการคันที่เกิดขึ้นบ่อยมักเป็นอาการคันแบบระยะสั้นและไม่รุนแรง แต่ปัญหานี้บางครั้งก็เป็นเรื้อรังไม่หายขาด อาจสร้างความรำคาญ และยังทำให้ดูเสียบุคลิกภาพด้วย เช่น คันมือ ทำให้ต้องเกามือ หรือ คันเท้า บางคนก็ก้มไปเกาฝ่าเท้าเป็นระยะ

สาเหตุของอาการคัน

อาการคันมักเกิดจากภาวะความผิดปกติบางอย่างบนผิวหนัง แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าได้ด้วย สาเหตุของอาการสามารถจำแนกออกได้ดังนี้

1. ภาวะทางผิวหนังที่ทำให้คันได้บ่อย

  • โรคผิวหนังอักเสบ ซึ่งทำให้ผิวหนังมีผื่นแดง ขุย และเกิดอาการคันได้
  • ลมพิษ (Urticaria) เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นบางอย่างซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้และกลายเป็นผื่นแดง รวมทั้งรู้สึกคันบนร่างกาย
  • หนังศีรษะอักเสบ เป็นการหลุดลอกของผิวหนังบนหนังศีรษะจนก่อให้เกิดอาการคันขึ้น มีสาเหตุจากความชื้น การอักเสบ และการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ

2. ภูมิแพ้และปฏิกิริยาบนผิวหนัง

อาการคันยังสามารถเกิดขึ้นได้จากปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นบนผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสจากภายนอก เช่น

  • แพ้เครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม ยาย้อมผม สีแต่งเล็บ
  • แพ้โลหะบางชนิด เช่น นิกเกิล (Nickel) โคบอลท์
  • แพ้วัสดุประเภทยาง
  • เนื้อผ้า หรือเครื่องนุ่งห่มบางประเภท โดยเฉพาะผ้าที่มีสีย้อมและเรซิน (Resins) ประกอบอยู่
  • ต้นไม้บางชนิด เช่น ดอกทานตะวัน ดอกคำฝอย ดอกทิวลิป
  • ภูมิแพ้อาหาร หรือยาบางประเภท เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) และกลุ่มยาประเภทที่เรียกว่า “โอปิออยด์” (Opioids)

3. ปรสิตและแมลง

  • หิด (Scabies mite) เป็นสัตว์ปรสิตที่ที่ทำให้เกิดอาการคันได้มากโดยเฉพาะเวลากลางคืน มักมีผื่นตามง่ามนิ้วมือ หรือบริเวณที่เป็นซอกต่างๆ เช่น สะดือ รักแร้ เป็นต้น เรียกว่า “โรคหิด” (Scabies)
  • แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ยุง ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้และคันผิวหนังในบริเวณที่โดนกัด

4. การติดเชื้อ

การติดเชื้อโรคบางอย่าง จะมีสัญญาณเตือนในรูปแบบของอาการคันได้ด้วย เช่นโรคและอาการดังต่อไปนี้

  • โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) เป็นการติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียจากน้ำสกปรกที่ก่อให้เกิดอาการคันบริเวณนิ้วเท้า ง่ามเท้า คันเท้า
  • โรคกลาก (Ringworm) เป็นการติดเชื้อราที่ก่อให้เกิดผื่นรูปวงแหวนบนผิวหนัง หรืออาจก่อโรคที่หนังศีรษะ และก่อให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ

5. ภาวะอื่นๆ

อาการคันอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของภาวะสุขภาพที่อาจส่งผลต่ออวัยวะภายในร่างกาย โดยอาจไม่มีอาการอื่นที่สังเกตได้อีก เช่น

  • การทำงานหนักมากเกินไปของต่อมไทรอยด์
  • ภาวะร่างกายขาดธาตุเหล็ก
  • เซลล์เม็ดเลือดแดงมีความเข้มข้นสูง
  • เป็นโรคเกี่ยวกับตับ

นอกจากนี้ อาการคันก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ปัจจุบันโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก สามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้แล้ว

ดังนั้นหากสงสัยว่า ตนเองอาจมีความเสี่ยง หรือมีอาการผิดปกติเข้าข่ายโรคมะเร็ง การไปตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้นก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี

6. การตั้งครรภ์และวัยหมดประจำเดือน

อาการคันสามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ หรือหลังหมดประจำเดือน โดยอาการคันเรื้อรังของหญิงมีครรภ์จะหายไปเองหลังจากคลอด

ส่วนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน อาการคันเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ภายหลังช่วงหมดประจำเดือนแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

อาการคันหลายกรณีจะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่วัน โดยเฉพาะ คันมือ คันเท้า ที่เกิดได้บ่อยจากการสัมผัสบางอย่าง แต่ควรไปพบแพทย์หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกคันรุนแรงขึ้น มีผื่นชัดเจน
  • มีอาการคันต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • รู้สึกคันทั่วร่างกายอย่างหาสาเหตุไม่ได้ เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพได้

การวินิจฉัยอาการ

แพทย์จะสอบถามอาการ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน ตัวอย่างเช่น มีการสัมผัสสารบางอย่างที่ทำให้มีอาการคันหรือไม่ หรือมีอาการคันแบบเป็นๆ หายๆ

หรือในบางกรณี แพทย์อาจมีการขูดตรวจผิวหนังเพื่อไปทดสอบหาสาเหตุต่อไป และหากมีความสงสัยโรคภายในบางอย่าง อาจมีการตรวจเลือด เพิ่มเติมต่อไป

การรักษาอาการคัน

การรักษาอาการคันจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการ แต่ก็ยังมีหลายวิธีที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการและเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการเกาได้ ดังนี้

1. การอาบน้ำ

  • ให้อาบน้ำอุ่น หรือเย็น แทนการอาบน้ำร้อน
  • ใช้เวลาอาบน้ำน้อยกว่า 20 นาที
  • พยายามลดจำนวนครั้งในการอาบน้ำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการอาบน้ำบ่อยเกินไปจะทำให้ผิวหนังแห้ง และระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หอม เจลอาบน้ำ หรือน้ำหอมดับกลิ่นกาย แต่ให้เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีความหอมซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือจะลองใช้เป็นสบู่สูตรอ่อนโยนต่อผิวก็ได้
  • ใช้โลชั่นเพื่อความชุ่มชื้นของผิวหนังหลังจากอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง และควรหลีกเลี่ยงโลชั่นสูตรที่มีการใส่น้ำหอมลงไปด้วย

2. เครื่องนุ่งห่ม

  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เช่น เสื้อขนแกะ หรือเสื้อที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ และเปลี่ยนเป็นสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัวจนเกินไป
  • ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มชนิดอ่อน เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • สวมเสื้อนอนที่เย็นสบาย เบา และหลวม

3. การใช้ยา

  • ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง เมื่อมีภาวะผิวแห้งและแตก เช่น เจลเพิ่มความชุ่มชื้น โลชั่น
  • ใช้ครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของเมนทอล (Menthol) หรือส่วนประกอบช่วยต้านอาการคันอย่างโครทามิตัน (Crotamiton)
  • ใช้ครีมสเตียรอยด์ชนิดอ่อนกับบริเวณผิวหนังอักเสบ แต่ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์
  • ยาเม็ดต้านฮิสทามีน (Antihistamine) สามารถช่วยควบคุมอาการคันที่เกิดจากปฏิกิริยาแพ้ได้ แต่ควรต้องตรวจสอบกับแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาตัวนี้ว่า เหมาะสมกับเราหรือไม่
  • ยาต้านฮิสทามีนบางประเภทอาจมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน ต้องระมัดระวังในการใช้ยาชนิดนี้หากต้องขับรถ หรือใช้งานเครื่องจักรหนักใดๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดที่ไม่ค่อยง่วงแทน
  • หากคุณมีอาการคันบริเวณที่มีขนปกคลุม เช่น หนังศีรษะ ควรใช้โลชั่น หรือน้ำมันที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาอาการคันกับบริเวณดังกล่าวโดยเฉพาะ

อาการคันเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หากเกิดขึ้นก็สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

หรือหากสงสัยว่า อาการค้นเกิดจากอาการภูมิแพ้ ลองหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นนั้นๆ ดูก่อน หากยังไม่พบ หรือไม่แน่ใจ ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งก็มีบริการตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้แล้วเช่นกัน


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top