วิธีใช้ยาดมอย่างเหมาะสม ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น scaled

วิธีใช้ยาดมอย่างเหมาะสม ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ยาดมเป็นหนึ่งในสิ่งของที่หลายคนมีพกติดกระเป๋าเอาไว้ เราทุกคนมักรู้จักสรรพคุณของยาดมเพียงแค่แก้อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นตัวช่วยชั้นดีเมื่อเกิดอาการเมารถ หรือเมาเรือ หรือเมื่อได้รับกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ความจริงแล้วยาดมมีสรรพคุณอะไรบ้าง ทำไมยาดมจึงได้รับความนิยม แล้วมีข้อควรระวังอะไรในการใช้ยาดมบ้าง ข้อมูลในส่วนนี้เป็นเรื่องที่คนใช้ยาดมทุกคนควรรู้

ความหมายของยาดม

ยาดม (Smelling salts) คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผสมของสมุนไพร แอลกอฮอล์ สารแอมโมเนียมคาร์บอเนต (ammonium carbonate) เพื่อให้เกิดกลิ่นสำหรับสูดดมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางอย่าง

ส่วนประกอบหลักๆ ของยาดมมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ การบูร (Camphor) สารเมนทอล (Menthol) และพิมเสน (Borneol camphor)

นอกจากนี้ก็อาจมีสมุนไพรบางชนิดใส่ลงไปในยาดมเพื่อใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ขับลม ขับเหงื่อ แก้ท้องอืด หรือทำให้มีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น เช่น พริกไทยดำ กระวาน กานพลู รวมทั้งมีน้ำมันระเหยที่ช่วยในการทำละลายสารอื่นๆ เช่น น้ำมันงา น้ำมันแร่

สรรพคุณของยาดม

ยาดมมีสรรพคุณดีสำหรับผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หายใจไม่สะดวก มีอาการคล้ายจะหน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ มีอาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน

ยาดมจะออกฤทธิ์ผ่านการสูดดมสารจากแท่งยาดม สารเหล่านี้จะเข้าไปช่วยให้ทางเดินหายใจซึ่งนำส่งแก๊สออกซิเจนสู่สมองโล่งยิ่งขึ้น ทำให้ผู้สูดดมหายใจสะดวกและเร็วขึ้น รู้สึกผ่อนคลาย เย็นจมูก อาการวิงเวียนศีรษะบรรเทาลง

นอกจากนี้ยาดมยังทำให้รู้สึกตื่นตัวมากขึ้นในผู้ที่ใกล้จะหมดสติ หรือหมดแรงจนไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้าได้

ด้วยประโยชน์ของยาดมท่มีมากมาย ยาดมจึงไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังในการแข่งขันมากจนเสี่ยงหมดแรง หรืออ่อนเพลียจนไม่สามารถมีสมาธิกับการแข่งขันได้ตลอดอีกด้วย เช่น นักมวย นักวิ่งมาราธอน นักฟุตบอล นักยกน้ำหนัก

เนื่องจากว่ายาดมมีส่วนช่วยให้ระบบทางเดินหายใจของนักกีฬาฟื้นตัวได้ไว ทำให้รู้สึกตื่นตัว และจดจ่ออยู่กับการแข่งขันได้ต่อไปอย่างไรก็ตาม ยาดมไม่ได้มีส่วนช่วยให้พละกำลังของผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น หรือช่วยให้การเคลื่อนไหวว่องไวขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหน้ามืด วิงเวียน ปวดศีรษะบ่อยๆ คลื่นไส้ จนรบกวนคุณภาพชีวิต เช่น ไปทำงานไม่ได้ รับประทานอาหารไม่ได้ แนะนำว่า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดจะดีที่สุด

หากตรวจพบความผิดปกติอื่นใด เช่น ความดันโลหิตผิดปกติ หินปูนในหูเคลื่อน น้ำในหูไม่เท่ากัน จะได้รักษาได้ถูกวิธีและทันเวลา

ข้อควรระวังในการใช้ยาดม

หลายคนอาจเข้าใจว่า ยาดมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีผลข้างเคียง หรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ความจริงยาดมก็มีข้อควรระวังในการใช้บางประการ มิฉะนั้นการออกฤทธิ์ของยาดมก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้

  • อย่าใช้ยาดมในผู้ที่ประสบอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ เพราะสารแอมโมเนียในยาดมมีส่วนทำให้ร่างกายผู้ประสบอุบัติเหตุเกิดปฏิกิริยาตอบกลับต่อกลิ่นแปลกปลอมที่เข้ามาในโพรงจมูก จึงทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุอาจรีบหันศีรษะ เงยศีรษะ หรือหันคอหนีกลิ่นของยาดม ทำให้อาการบาดเจ็บทรุดลงกว่าเดิม นอกจากนี้ยาดมยังมีส่วนทำให้จังหวะการหายใจของผู้ประสบอุบัติเหตุเปลี่ยนไปได้ ซึ่งจะทำให้ยากต่อในการวินิจฉัยอาการบาดเจ็บ
  • ยาดมไม่ได้เป็นตัวช่วยให้อาการดีขึ้นในระยะยาวได้ หลายคนเมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หมดแรง ก็มักจะใช้ยาดมในการบรรเทาอาการดังกล่าว แต่ก็ช่วยได้เพียงในระยะสั้นๆ เท่านั้น มีผู้ที่เกิดอาการเจ็บป่วยดังกล่าว หรือนักกีฬาหลายคนฝืนออกแรง หรือทำกิจกรรมต่างๆ ต่อไปเมื่ออาการตนเองดีขึ้นในระยะสั้นๆ จากการดมยาดม และทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ หรืออาการเจ็บป่วยทรุดลงกว่าเดิม หลังจากอาการดีขึ้นจากการดมยาดมแล้ว ควรไปพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติ หรือไปพบแพทย์เพื่อขอให้รักษาอาการต่อไปจะปลอดภัยที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาดมชั่วคราว หากกำลังเป็นโรคเกี่ยวกับโพรงจมูก เพราะยาดมจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความระคายเคืองโพรงจมูก และหายใจไม่สะดวกกว่าเดิม เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคติดเชื้อในโพรงจมูก โรคไซนัสอักเสบ โรคหอบหืด
  • ควรเว้นระยะระหว่างหลอดยาดมกับรูจมูกไว้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร คุณไม่ควรใส่หลอดยาดมค้างไว้ในจมูกขณะสูดดม เพราะสามารถสร้างความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจได้ อีกทั้งความเข้มข้นของสารในยาดมบางยี่ห้อยังสามารถทำให้ผิวหนังเกิดอาการไหม้ได้
  • อย่าใช้ยาดมบ่อยๆ เพราะสารระเหยในยาดมนั้นมีส่วนทำให้เกิดอาการโพรงจมูกอักเสบได้และยังทำให้ตับอักเสบได้ด้วย เพราะสารในยาดมเมื่อดูดซึมเข้าไปในร่างกาย ก็จะถูกกำจัดออกโดยอวัยวะตับ เมื่อตับต้องทำงานหนัก ก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติตามมาได้ นอกจากนี้สารเมนทอลและการบูรในยาดมยังจัดเป็นสารระเหยที่ทำให้เกิดอาการเสพติดยาดมได้ ผ่านการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้หลายคนต้องคว้ายาดมมาสูดดมตลอดทั้งวันโดยไม่จำเป็น
  • อย่าใช้ยาดมร่วมกัน เพราะในโพรงจมูกของแต่ละคนย่อมมีเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรียติดอยู่ การใช้ยาดมร่วมกันจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทางที่ดีควรซื้อเป็นของส่วนตัวจะดีที่สุด

ส่วนมากรูปแบบของยาดมจะเป็นยาน้ำสำหรับสูดดม หรือสามารถแตะแล้วป้ายใกล้ๆ กับรูจมูกได้ ยาดมอีกรูปแบบ ก็คือ ยาขี้ผึ้ง

ทั้งนี้ยาดมทั้ง 2 รูปแบบมีวิธีใช้ที่เหมาะสมเหมือนกัน คือ ควรใช้ยาป้ายกับสำลี หรือผ้าเช็ดหน้า แล้วทาที่หน้าอก หรือใกล้กับรูจมูกเพื่อสูดดม แต่ต้องอยู่ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ปัจจุบันมียาดมหลายรูปแบบ หลายสูตร หลายส่วนผสม ซึ่งหากไม่แน่ใจว่า ยาดมยี่ห้อ หรือสูตรดังกล่าวเหมาะสมกับตนเอง หรือเป็นอันตรายหรือไม่ ให้ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

ถึงแม้ยาดมจะเป็นผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก แต่หากใช้ไปในระยะยาวก็ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายได้

ยาดมเป็นอุปกรณ์ช่วยบรรเทาอาการที่ทุกคนสามารถพกพาได้ แต่ขณะเดียวกัน ทุกคนก็ต้องรู้ขอบเขตการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้อย่างพอดีเพื่อไม่ให้การบรรเทาอาการเปลี่ยนมาเป็นการทำลายสุขภาพ และยังช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากการใช้ยาดมอย่างสูงสุดด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top