hyoscine scaled

Hyoscine (ไฮออสซีน)

ไฮออสซีน (Hyoscine) หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า สโคโพลามีน (scopolamine) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการป่วยจากการเคลื่อนไหว และอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังจากการผ่าตัด บางครั้งมีการใช้ไฮออสซีนเฝก่อนการผ่าตัดเพื่อลดการหลั่งของน้ำลาย ในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ไฮออสซีนจะออกฤทธิ์หลังจากฉีดประมาณ 20 นาทีและมีฤทธิ์ยาวนานถึง 8 ชั่วโมง

hyoscine-n-butylbromide เป็นยาที่ใช้ลดอาการปวดเกร็งในช่องท้องและลำไส้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท

ไฮออสซีนมีการกล่าวถึงครั้งแรกในปีค.ศ. 1881 และมีการใช้เป็นยาในปีค.ศ. 1900 ยาไฮออสซีนเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก ไฮออสซีนผลิตจากพืชในตระกูล nightshade ชื่อสโคโพลามีน มาตากพืชชนิดหนึ่งในตระกูล nightshade ที่รู้จักในชื่อสโคโพเลีย (Scopolia) และชื่อไฮออสซีน มาจากพืชอีกชนิดหนึ่งในชื่อ Hyoscyamus niger

โรค และอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานี้บรรเทา

  • ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการปวดท้อง
  • รักษาขยายรูม่านตา
  • รักษาโรคม่านตาอักเสบ (iridocyclitis)
  • ป้องกันภาวะเมาจากการเคลื่อนไหว (motion sickness)
  • ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ภาวะหดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์
  • ใช้เป็นยาสลบก่อนการผ่าตัด

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Hyoscine

กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ไฮออสซีน เป็นยากลุ่มต้านอาการหดเกร็ง ออกฤทธิ์โดยเป็นสารกลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (anticholinergic) ที่เข้ายับยั้งตัวรับมัสคารินิก (muscarinic receptor) อย่างสมบูรณ์ ออกฤทธิ์ต่อทั้งระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย โดยทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดการคลายตัว ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้กลไกการคลายตัวของกล้ามเนื้อในการช่วยลดอาการปวดท้อง

ข้อบ่งใช้ของยา Hyoscine

ข้อบ่งใช้สำหรับขยายรูม่านตา ยาในรูปแบบยาหยอดตา

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1 ถึง 2 หยด 1 ชั่วโมงก่อนการทำหัตถการ
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ยาในรูป hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1 หยด 1 ชั่วโมงก่อนการทำหัตถการ

ข้อบ่งใช้สำหรับ iridocyclitis ยาในรูปแบบยาหยอดตา

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1 ถึง 2 หยด วันละสี่ครั้ง
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ยาในรูป hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1 หยด วันละสามครั้ง

ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันภาวะป่วยเมาจากการเคลื่อนไหว ยาในรูปแบบยารับประทาน

ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่

  • ขนาด 300 ไมโครกรัม 30 นาทีก่อนการเดินทาง จากนั้นรับประทานขนาด 300 ไมโครกรัม ทุก 6 ชั่วโมง สามารถรับประทานสูงสุด 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง

ขนาดการใช้ยาในเด็ก

  • อายุ 3 ถึง 4 ปีขนาด 75 ไมโครกรัม 20 นาทีก่อนการเดินทาง ขนาดยาสูงสุด 150 ไมโครกรัมต่อวัน
  • อายุ 4 ถึง 10 ปี ขนาด 75 ถึง 150 ไมโครกรัม อายุมากกว่า 10 ปี ขนาด 150 ถึง 300 ไมโครกรัม

ข้อบ่งใช้สำหรับภาวะหดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ ยาในรูปแบบยารับประทาน

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป butylbromide ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละสี่ครั้ง
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ยาในรูป butylbromide อายุ 6 ถึง 12 ปี ขนาด 10 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง

ข้อบ่งใช้สำหรับภาวะหดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ ยาในรูปแบบยาฉีด

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป butylbromide ขนาด 20 มิลลิกรัม
  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดยาสูงสุด 100 มิลลิกรัมต่อวัน

ข้อบ่งใช้สำหรับเป็นยาสลบก่อนการผ่าตัด ยาในรูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป hydrobromide ขนาด 0.6 มิลลิกรัม วันละสามถึงสี่ครั้ง

ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียนยาในรูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป hydrobromide ขนาด 0.3 ถึง 0.6 มิลลิกรัม
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ยาในรูป hydrobromide ขนาด 0.006 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Hyoscine

หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด

ข้อควรระวังของการใช้ยา Hyoscine

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมแคบ
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกเฉียบพลัน
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อืด
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วย Myasthenia gravis
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกระเพาะอาหารตีบตัน ลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะ ปัสสาวะคั่ง – ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคจิต
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยสูงอายุ

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Hyoscine

ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่

  • ผิวหนังแดง
  • ความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ใจสั่น
  • มึนงง
  • ง่วงซึม
  • อ่อนแรง
  • ปวดศีรษะ
  • สูญเสียความทรงจำ
  • ผิวหนังแห้ง
  • ผิวหนังแดง
  • ผิวไวต่อแสง
  • แน่นท้อง
  • ท้องผูก
  • คอแห้ง
  • กลืนลำบาก
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • มีการหลั่งน้ำลายน้อยกว่าปกติ
  • ปัสสาวะขัด
  • ปัสสาวะคั่ง
  • อาการสั่น
  • มองเห็นภาพไม่ชัด
  • ต้อหินมุมปิด
  • ปวดในลูกตา
  • อาการคัน
  • กลัวแสง
  • ม่านตาขยาย
  • จมูกแห้ง
  • ทนความร้อนไม่ได้
  • เพิ่มความดันในลูกตาระคายเคืองตา

ในกรณีใช้ยาในรูปแบบยาหยอดตา อาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ การกดระบบประสาทส่วนกลาง โคม่า ระบบหายใจล้มเหลว

ข้อมูลการใช้ยา Hyoscine ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยา

ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย

ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น

ข้อมูลการเก็บรักษายา Hyoscine

ยาในรูปแบบยาหยอดตา เก็บที่อุณหภูมิระหว่างแปดถึง 27 องศาเซลเซียส ยาในรูปแบบยารับประทานและยาฉีด เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 15 ถึง 30 องศาเซลเซียส

สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา

แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา

  • แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
  • แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
  • แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
  • แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top