amenorrhea scaled

ประจำเดือนไม่มา มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง

ประจำเดือนไม่มา หรือ ขาดประจำเดือน (Amenorrhea) ไม่มีประจำเดือน 1 เดือน หลายคนอาจดีใจเพราะคิดว่า กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับครอบครัวที่อยากมีลูก แต่จะกลายเป็นปัญหาทันทีหากคุณไม่ได้ต้องการแบบนั้น หรือไม่ทราบสาเหตุของอาการที่เกิด

ดังนั้น หากประจำเดือนไม่มา คุณผู้หญิงอย่าชะล่าใจเด็ดขาด แต่ควรรีบหาสาเหตุให้แน่ชัด แล้วแก้ไขให้ถูกจุดก่อนที่ร่างกายจะป่วย หรือมีความผิดปกติจนสายเกินแก้

รู้จักกับอาการประจำเดือนไม่มา

ประจำเดือนไม่มา หมายถึง การหายไปของประจำเดือนในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เช่น อายุ 15 ปี แล้วยังไม่มีประจำเดือน หรือการขาดประจำเดือนไปอย่างน้อย 3 รอบ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประจำเดือนขาดไปคือ “การตั้งครรภ์” แต่ก็ไม่เสมอไป บางคนประจำเดือนหายไป 1-2 เดือนด้วยเหตุผลอื่นก็มี

สาเหตุอื่นๆ ที่พบมากนอกจากการตั้งครรภ์ ได้แก่ ความเครียด การกินยาคุมกำเนิด สุขภาพไม่แข็งแรง น้ำหนักตัวน้อยไป ออกกำลังมากไป และอายุเพิ่มมากขึ้น

8 สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา

1. ตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์เป็นการตั้งข้อสันนิษฐานอันดับแรกในกรณีนี้ ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ประจำเดือนไม่มานั้นจะยาวนานไปจนถึงช่วงระหว่างให้นมบุตรด้วย

2. ความเครียด

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยเฉพาะ Working woman ทั้งหลายที่มีภาระเรื่องงานให้ต้องคิดมากมาย หรือบางคนที่มีเรื่องส่วนตัวจนทำให้เครียด เนื่องจากความเครียดจะส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมฮอร์โมนเพศซึ่งทำให้การตกไข่ และการมีประจำเดือนผิดปกติไป

3. กินยาคุมกำเนิด

กลุ่มยาคุมกำเนิดมีผลโดยตรงกับฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นหากรับประทานยาคุมกำเนิดนานๆ อาจส่งผลให้ประจำเดือนขาดได้

4. สุขภาพไม่แข็งแรง

หลายคนมีสาเหตุจากมีโรคประจำตัว หรือไม่สบายบ่อย บ่อยครั้งที่ประจำเดือนมาและไม่มา สลับเดือนกัน หรือบางครั้งประจำเดือนไม่มามากกว่าเดือนที่มาเสียอีก

กลุ่มคนเหล่านี้อาจต้องรับประทานยาเพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ และอาจต้องพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา

ไม่เพียงเท่านั้นการที่สุขภาพไม่แข็งแรงยังมักส่งผลทำให้มีบุตรยากเมื่อต้องการตั้งครรภ์ด้วย

5. น้ำหนักตัวน้อยไป

ผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยเกินไปคือ มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าน้ำหนักปกติมากกว่า 10% จะส่งผลรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายจนมีผลต่อกระบวนการตกไข่ และการมีประจำเดือน

6. ออกกำลังกายมากเกินไป

ผู้หญิงที่ออกกำลังกายบางประเภทที่ค่อนข้างหนัก และต้องใช้พลังงานมากจนมีผลให้ไขมันในร่างกายน้อยเกินไป ร่างกายจะเกิดความเครียดทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงต่ำมีผลให้ประจำเดือนขาด และอาจส่งผลให้กระดูกไม่มีความแข็งแรง

7. ประจำเดือนเปลี่ยนไปจากอายุที่มากขึ้น

เมื่อคุณเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนในช่วงอายุประมาณ 50 ปี ช่วงนี้ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนน้อยลงตามธรรมชาติจึงอาจมีการขาดประจำเดือนได้

โดยจะเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของรอบเดือน ได้แก่

  • ประจำเดือนค่อยๆ น้อยลง หรืออาจมีมากกว่าปกติ
  • ขาดประจำเดือน
  • รอบเดือนสั้นลง
  • มีอาการก่อนมีประจำเดือนที่เปลี่ยนไป หรือมีอาการก่อนมีประจำเดือนร่วมกับอาการของวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ หรือมีปัญหาด้านการนอน

8. ความผิดปกติที่อวัยวะอื่นๆ

หากคิดว่าสุขภาพก็แข็งแรงดี สภาวะจิตใจก็ดี ไม่มีเรื่องเครียดใดๆ แต่ขาดประจำเดือนก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติที่อวัยวะอื่นๆ ที่มีผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศในร่างกายได้ เช่น

  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome: PCOS)
  • การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
  • ภาวะพังผืดในมดลูก (Asherman’s syndrome)

การวินิจฉัยประจำเดือนไม่มา

การวินิจฉัยมีหลายขั้นตอนที่แพทย์ใช้เพื่อตรวจสอบว่า คุณขาดประจำเดือนหรือไม่

ขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จากนั้นแพทย์อาจตรวจภายใน และตรวจการตั้งครรภ์เพื่อตัดสาเหตุเรื่องการตั้งครรภ์ออกไป

การทดสอบสำหรับการขาดประจำเดือนอาจประกอบด้วย

  • การตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน
  • การตรวจสารพันธุธรรม
  • การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) บริเวณท้องน้อย
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
  • การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การรักษาภาวะประจำเดือนไม่มา

การรักษาที่แพทย์จะแนะนำนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดประจำเดือน การรักษาอาจประกอบด้วยการใช้ยา การผ่าตัด การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต หรือทั้ง 3 วิธีร่วมกัน

1. การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต

  • ค่อยๆ ทำให้ร่างกายมีน้ำหนักที่เหมาะสมและพยายามคงระดับน้ำหนักนั้นไว้ (หากมีน้ำหนักน้อย หรือมากเกินไป)
  • ลดความเครียด
  • หากเป็นนักกีฬาอาจใช้การปรับการฝึกฝนร่างกาย หรือปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน

2. การรักษาโดยการใช้ยา

  • ยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทดแทน
  • ยาสำหรับรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

3. การผ่าตัดสำหรับการขาดประจำเดือน

  • การตัดพังผืดภายในมดลูกออก
  • การตัดเนื้องอกของต่อมใต้สมองออก

การที่ประจำเดือนไม่มาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยสำหรับผู้หญิงสมัยนี้ ถึงแม้จะทำให้ใครหลายคนเกิดความกังวลอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การปรึกษาแพทย์ จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามความเหมาะสม การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะช่วยให้เรากลับมามีสุขภาพที่ดี และมีวิถีชีวิตที่ปกติได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top