exercise stress test est screening process scaled

การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST (Exercise Stress Test) คืออะไร ตรวจทำไม ใครบ้างควรตรวจ?

เมื่อพูดถึง “โรคหัวใจ” หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นโรคที่ไกลตัวหรือมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่รู้หรือไม่ว่าโรคหัวใจเกิดได้กับทุกคน เป็นโรคร้ายอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตของคนไทย และโรคหัวใจยังจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มักไม่แสดงอาการชัดเจน การตรวจสุขภาพหัวใจจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยหนึ่งในวิธีตรวจคัดกรองโรคหัวใจที่ให้ผลแม่นยำและช่วยแยกโรคได้ คือ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) นั่นเอง

การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST คืออะไร

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายหรือการตรวจ EST (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพาน (Treadmill) หรือปั่นจักรยาน (Cycling) วิธีนี้จะช่วยตรวจหาความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในภาวะปกติหรือไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะขณะกำลังออกกำลังอย่างหนัก หัวใจต้องการเลือดและออกซิเจนมาใช้ในการหล่อเลี้ยงมากขึ้น 

ถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เลือดและออกซิเจนจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการผิดปกติระหว่างการทดสอบ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมาก หายใจลำบาก รวมไปถึงคลื่นไฟฟ้าของหัวใจหรือกราฟหัวใจเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตลดลง และการตอบสนองอื่น ๆ ที่ผิดปกติ จึงช่วยให้รู้ได้ว่าผู้เข้ารับการทดสอบมีภาวะหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือมีโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งบางรายอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเป็นโรคหัวใจอยู่

การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST เหมาะกับใคร? 

การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST เป็นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะภาวะหัวใจขาดเลือด และคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจต่อไปนี้  

  • มีอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ใจสั่นขณะออกกำลังกาย 
  • มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคหลอดเลือดในอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่หัวใจอยู่ก่อนแล้ว 
  • เคยได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ 
  • เป็นโรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออัมพาต
  • สูบบุหรี่จัด หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ
  • อายุ 40 ปีขึ้นไป 
  • เป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST จะไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ โรคหัวใจโต  และคนที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้ 

มีความเสี่ยงแบบนี้… รีบตรวจสุขภาพหัวใจกันเถอะ ตรวจก่อน รู้ก่อน รักษาได้ก่อน! หาแพ็กเกจตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจอื่น ๆ จาก HDmall.co.th. เลือกตรวจ รพ. และคลินิกใกล้บ้าน ในราคาโปรโมชั่น คลิก!  

การเตรียมตัวก่อนการตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST

คนที่รับประทานยารักษาโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพราะยาบางตัวอาจมีผลต่อผลการตรวจ โดยเฉพาะยารักษาความดันโลหิต และยารักษาโรคหัวใจ ซึ่งแพทย์จะต้องประเมินอีกครั้งว่าควรหยุดยาหรือไม่ รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งแพทย์ด้วยเช่นกัน และให้นำยาที่ใช้ติดตัวมาด้วย

ก่อนเข้ารับการตรวจควรหลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก อาหารที่มีไขมันสูง และงดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง รวมถึงงดชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ ก่อนมาตรวจภายใน 12 ชั่วโมง และวันที่เข้ารับการตรวจควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่สบายตัว ไม่รัดแน่น

ขั้นตอนการตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST 

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายเป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก ส่วนมากจะนิยมใช้การเดินบนสายพาน ยกเว้นผู้สูงอายุที่มักจะใช้การปั่นจักรยาน โดยขั้นตอนการตรวจมีดังนี้

  1. ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องติดอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หน้าอก แขน และขา เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมทั้งพันแผ่นผ้าวัดความดันโลหิตที่แขน
  2. เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับการตรวจขึ้นสายพานหรือเครื่องปั่นจักรยาน โดยจะเริ่มจากการเดินหรือปั่นช้า ๆ 
  3. ระหว่างการเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน แพทย์จะเพิ่มความเร็วและความชันตามลำดับ พร้อมทั้งวัดความดันโลหิตเป็นระยะ จนได้อันตราชีพจรที่สามารถนำไปแปลผลได้ ยกเว้นผู้เข้ารับการตรวจเกิดอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม เหนื่อยหอบรุนแรง ไม่สามารถเดินต่อไปได้ รวมถึงพบผลจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติ ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง การตรวจจะสิ้นสุดลงทันที
  4. หลังการตรวจเสร็จ ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนั่งพักสักประมาณ 15 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ แพทย์จึงให้กลับบ้านได้ 

ขั้นตอนการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที และจำเป็นต้องมีแพทย์เฉพาะทางคอยประเมิน พร้อมทั้งมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจ เพราะบางคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจมาก่อน

ประโยชน์ของการตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST 

แพทย์จะนำข้อมูลจากการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย ทั้งอัตราชีพจร ระดับความดันโลหิต กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาช่วยในการวินิจฉัยถึงความเสี่ยงและการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • ช่วยตรวจหาความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ แต่อาการไม่ชัดเจน หรือช่วยแยกได้ว่าอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก มีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
  • ช่วยประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยโรคหัวใจตีบ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติมด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ และประสิทธิภาพของยาช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่
  • ช่วยตรวจหาหรือวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด 
  • ช่วยประเมินความสามารถสูงสุดในการออกกำลังกายของร่างกายและหัวใจ เพื่อใช้ในการวางแผน กำหนดความหนักเบาและประเภทของการออกกำลังกาย
  • ช่วยตรวจหาภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วได้ เพราะสภาวะปกติมักไม่มีอาการแสดงออกมา

ข้อควรระวังจากการตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายมักจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าบริเวณต้นขาหรือน่อง แพทย์จะประเมินว่าอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภาวะหลอดเลือดแดงที่ขาตีบหรือไม่ นอกจากนี้ อาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง บางคนเลยเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้ ส่วนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอาจมีอาการแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบง่าย ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทันที 

“หัวใจ” เป็นหนึ่งในอวัยวะที่ทำงานตลอดเวลา และมีความสำคัญมากต่อการทำงานของอวัยวะอื่น การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายคัดกรองโรคก่อนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคและรักษาได้ทันท่วงทีแล้ว ยังช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือลดความเสี่ยงก่อนเกิดโรคหัวใจได้อีกทาง

รู้สึกกังวลใจ มีอาการแต่ไม่มั่นใจ ไม่รู้จะเลือกแพ็กเกจดูแลสุขภาพหัวใจแบบไหน แชทถามแอดมินได้ก่อน ที่นี่ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหาโปรโมชั่นตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพหัวใจแบบอื่น พร้อมเปรียบเทียบราคา HDmall.co.th ก็มี จองก่อนได้ส่วนลดไปเลย คลิก!

Scroll to Top