กระดาษเมา อีกรูปแบบของสารเสพติด LSD

กระดาษเมา อีกรูปแบบของสารเสพติด LSD

สารเสพติดนอกจากจะอยู่ในรูปของยาเม็ด ผงยา หรือสารระเหยแล้ว สารเสพติดยังอยู่ในรูปกระดาษได้ด้วย โดยเรียกได้ในชื่อ “กระดาษเมา” หรือ “แสตมป์มรณะ”

ความหมายของกระดาษเมา หรือแอลเอสดี 

กระดาษเมา เป็นหนึ่งในรูปแบบของสารเสพติดแอลเอสดี (Lysergic acid diethylamide: LSD) ซึ่งเป็นสารเสพติดเหลวใสที่ขึ้นตามเมล็ดข้าว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย

สารเสพติดแอลเอสดีสามารถพบได้ในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล เป็นยาผสมกับลูกอม เจลาตินรสหวาน ก้อนน้ำตาล แต่ลักษณะของสารแอลเอสดีที่พบได้มาก จะเป็นแผ่นกระดาษเคลือบสารแอลเอสดีเอาไว้ เวลาเสพจะใช้วิธีเคี้ยวกระดาษ อมไว้ หรือวางไว้บนลิ้นเหมือนลูกอม

ลักษณะกระดาษเมาอาจเป็นกระดาษสีขาว กระดาษสี หรืออาจเป็นกระดาษพิมพ์รูปภาพ ลายการ์ตูนเพื่ออำพรางว่า เป็นยาเสพติด

การออกฤทธิ์ของสารแอลเอสดี

สารแอลเอสดีในกระดาษเมาจะส่งผลต่อสารเซโรโทนินในสมองซึ่งส่งผลถึงกระบวนการรับรู้ และพฤติกรรม ซึ่งสารแอลเอสดีจะไปรบกวนสารดังกล่าวทำให้ไม่สามารถทำงานตามปกติได้

ยาอาจออกฤทธิ์ภายในครึ่งชัวโมงและอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

ผู้เสพจะมีอาการมึนเมาหลังจากการเสพกระดาษเมาไปแล้วประมาณ 30-90 นาที นอกจากนี้ยังมองเห็นภาพลวงตา เพ้อฝัน รู้สึกเหมือนตนเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีอำนาจ และพละกำลังมหาศาล หลงคิดว่า ตนเองเหาะเหินเดินอากาศได้

นอกจากนี้ผู้เสพยังจะมีอารมณ์ร่าเริง สนุกสนานมากกว่าปกติ ผู้เสพสารแอลเอสดีหลายรายเลือกเสพสารชนิดนี้เพื่อหลีกหนีความเครียด และภาวะซึมเศร้าต่างๆ จากสิ่งรอบตัว

ผลข้างเคียงระยะสั้น

ผู้เสพบางรายอาจมีอาการข้างเคียงออกมาเป็นอาการมึนเมา แต่อาจมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่จะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรวดเร็วแทน ส่วนผู้เสพที่มีอาการมึนเมาหนัก ยังจะมีอาการประสาทหลอน หูฝาด เกิดภาพลวงตา ระบบการรับรู้ของสมองผิดปกติ เกิดอาการสับสน และหลงผิดร่วมด้วย

อาการข้างเคียงการเสพกระดาษเมาสามารถทำให้ผู้เสพเกิดอาการหวาดกลัว ซึมเศร้า สับสน ควบคุมตนเองไม่ได้ ขาดสติ และร่างกายผู้เสพจะไม่สามารถควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้จนกว่าฤทธิ์ยาจะหมดลงไปเอง

และเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อผู้เสพเสพติดกระดาษเมาหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเริ่มมีปัญหาทางจิตจนไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แม้จะไม่ได้เสพยาอยู่ก็ตาม

นอกจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับสภาพทางจิตแล้ว การเสพกระดาษเมายังทำให้เกิดผลข้างเคียงทางด้านร่างกายด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • เกิดภาวะรูม่านตาขยาย
  • มองเห็นภาพแสงสีผิดปกติไปจากเดิม
  • อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • มีไข้
  • ความดันโลหิตสูง
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • ปากแห้ง
  • ตัวสั่น
  • นอนไม่หลับ
  • เบื่ออาหาร

ในบางกรณี การเสพแอลเอสดีเกินขนาดจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด 

ผลข้างเคียงระยะยาว

ผู้ที่เสพกระดาษเมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานจะยังคงมีอาการข้างเคียงอยู่แม้ขณะนั้นจะไม่ได้เสพยา หรือเมายาก็ตาม

ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “Hallucinogen persisting perception disorder” โดยจะมีอาการประสาทหลอนเกิดขึ้น

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะไม่แสดงสัญญาณเตือนใดๆ ออกมาก่อน และจะยังเกิดขึ้นอยู่ 2-3 วัน หรืออาจนานเป็นปี หลังจากการเสพกระดาษเมา หรือสารแอลเอสดีรูปแบบอื่น

นอกจากนี้ถึงแม้จะเลิกยาไปแล้ว แต่อาการข้างเคียงจากการเสพสารชนิดนี้ก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่ ผู้ที่เสพแอลเอสดีมากเกินขนาดยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้มีปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น มองเห็นภาพความทรงจำในอดีตที่เลวร้ายซ้ำๆ เป็นโรคประสาท โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล

ปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น

การเสพแอลเอสดีจะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้และการคิดตัดสินใจของสมอง หากมีการเสพเกินขนาดอาจนำมาซึ่งเหตุรุนแรงที่กระทบต่อทั้งตนเองและผู้อื่นได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุทางถนน หรือการทำร้ายตนเอง และผู้อื่นเนื่องจากเกิดภาพหลอนจากการเสพยา

การบำบัดผู้เสพกระดาษเมา และสารแอลเอสดีรูปแบบอื่นๆ

ผู้เสพติดสารแอลเอสดีจะต้องเข้ารับการบำบัดให้หายจากอาการเสพติดยา รูปแบบการบำบัดจะมีทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ การทำจิตบำบัด เพื่อให้ผู้เสพเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นขณะยาออกฤทธิ์และหาทางแก้ไข รวมถึงลดการเสพยาลง

ในระหว่างการบำบัด ญาติผู้เสพควรจะมีส่วนร่วมในการช่วยให้ผู้เสพสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาทุกข์ทรมาน หรือลงแดงจากการขาดยาได้ อีกทั้งต้องสนับสนุนให้ผู้เสพมีทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วย เช่น

  • ออกกำลังกาย
  • ลดความเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

แพทย์อาจจ่ายยาบางประเภทเพื่อบรรเทาอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการเสพยาด้วย เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้โรควิตกกังวล

สารแอลเอสดีถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยเป็นยาเสพติดที่ให้โทษ และผลข้างเคียงรุนแรง

ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกสารแอลเอสดีมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับเป็นเงินสูงสุด 5,000,000 บาท ส่วนผู้ที่ครอบครองสารแอลเอสดีมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับสูงสุด 200,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ผู้เสพสารแอลเอสดียังมีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี หรือปรับสูงสุด 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

สารแอลเอสดีเป็นสารเสพติดที่ส่งผลกระทบมากมายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต อีกทั้งทำให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาวแม้จะเลิกยาไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำให้เสียบุคลิกภาพ ไม่สามารถจดจ่อมีสมาธิกับสิ่งที่ทำได้

ทางที่ดีคุณควรอยู่ในห่างยาเสพติดทุกประเภท เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากผลข้างเคียงของมันทั้งในแง่ร่างกาย และจิตใจ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • National Center for Biotechnology Information, Lysergic acid diethylamide: a drug of ‘use’? (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4910402/), 31 July 2020.
  • Drugs.com, LSD: Effects, Hazards & Extent of Use (https://www.drugs.com/illicit/lsd.html), 31 July 2020.
  • Passie T, Halpern JH, Stichtenoth DO, Emrich HM, Hintzen A (2008). “The pharmacology of lysergic acid diethylamide: a review”. CNS Neuroscience & Therapeutics. 14 (4): 295–314. doi:10.1111/j.1755-5949.2008.00059.x. PMC 6494066. PMID 19040555.
Scroll to Top