ใบรับรองแพทย์ เอกสารรับรองสุขภาพที่หลายคนต้องใช้ scaled

ใบรับรองแพทย์ มีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร

หลายครั้งที่ไปทำธุรกรรม ยื่นคำร้อง ทำเอกสารสำคัญต่างๆ หลายคนคงต้องแนบใบรับรองแพทย์พกติดตัวไปด้วย แล้วเอกสารนี้มีความสำคัญอย่างไร ทำไมหลายหน่วยงานถึงต้องบังคับใช้ใบรับรองแพทย์ในการทำเอกสารสำคัญต่างๆ เรามาดูพร้อมๆ กัน

ใบรับรองแพทย์ คืออะไร?

ใบรับรองแพทย์เพื่อรับรองสุขภาพ (Medical Certificate For Certifying The Health) หรือที่ทุกคนเรียกทั่วไปสั้นๆ ว่า “ใบรับรองแพทย์” คือ เอกสารแบบกรอกฟอร์มที่ถูกออกโดยแพทย์ผู้ใดผู้หนึ่งเพื่อรับรองเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ โรคประจำตัว ความสมบูรณ์ของร่างกายผู้เข้าตรวจ

โดยปกติใบรับรองแพทย์มักถูกออกในรูปของกระดาษใส่ซอง แต่ความจริงแล้ว ตามข้อมูลของแพทยสภา ใบรับรองแพทย์ไม่จำเป็นต้องออกในรูปของกระดาษเสมอไป

ยิ่งในปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบทัชสกรีน แท็บเล็ตต่างๆ ใบรับรองแพทย์ในอนาคตจึงอาจไม่ได้อยู่ในรูปของกระดาษอีกก็ได้

ชื่อเดิมของใบรับรองแพทย์ คือ “ใบรับรองแพทย์ 5 โรค” เพราะนอกจากข้อมูลอื่นๆ ที่ต้องกรอกลงไปในแบบฟอร์มแล้ว แแพทย์จะต้องมีการรับรองว่า ผู้เข้าตรวจป่วยเป็นโรคใดใน 5 โรคที่ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งได้แก่

  1. วัณโรคในระยะแพร่เชื้อ
  2. โรคเท้าช้าง
  3. โรคที่เกิดจากสารเสพติด
  4. โรคพิษสุราเรื้อรัง
  5. โรคอื่นๆ ที่เรื้อรังหรือร้ายแรง แสดงอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่

แต่ปัจจุบันได้มีการลดโรคทั้ง 5 โรคให้เหลือเพียง 3 โรค ได้แก่

  1. โรคเรื้อในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
  2. วัณโรคในระยะอันตราย
  3. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม

จุดประสงค์ในการใช้ใบรับรองแพทย์

ใบรับรองแพทย์สามารถนำไปใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ เช่น

  • เพื่อใช้ในการลางาน ลาเรียน ลากิจ
  • เพื่อยืนยันว่า คุณได้ไปรับการตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลจริง
  • เพื่อประกอบการเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือยื่นเอกสารกับบริษัทประกันสุขภาพ
  • เพื่อรับรองสุขภาพในการเข้าศึกษาต่อทั้งใน และต่างประเทศ
  • เพื่อทำใบขับขี่ หรือสอบใบขับขี่
  • ใช้ในการดำเนินคดี ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา
  • เพื่อรับรองสติสัมปชัญญะในการทำนิติกรรม พินัยกรรม หนังสือสัญญาต่างๆ
  • เพื่อชันสูตรพลิกศพ และเพื่อบันทึกรายละเอียดระหว่างการชันสูตร
  • เพื่อรับรองว่า คุณหายจากโรคแล้ว และสามารถกลับไปเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ

ประเภทของใบรับรองแพทย์

ยังไม่มีการแบ่งประเภทของใบรับรองแพทย์ออกมาอย่างชัดเจน

ดังนั้นการจำแนกว่า ใบรับรองแพทย์มีกี่แบบ จึงขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล ดุลพินิจของแพทย์ เหตุผลที่ผู้เข้าตรวจต้องการ หรือหน่วยงานที่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์หลายประเภทในการทำธุรกรรมสำคัญ

อย่างไรก็ตาม พอจะจำแนกประเภทของใบรับรองแพทย์ที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ ออกได้ 3 แบบ ได้แก่

1. ใบรับรองแพทย์ทั่วไป

เป็นใบรับรองแพทย์สำหรับใช้ในการลาป่วย ลางาน การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล การเรียกร้องสิทธิประกันสุขภาพเป็นส่วนมาก ในนักเรียน นักศึกษา ลูกจ้าง ข้าราชการ

หรือในบางกรณีก็สามารถใช้เพื่อรับรองว่า ผู้เข้าตรวจสามารถทำกิจกรรม หรือเข้าศึกษา เข้าทำงาน เดินทางไปต่างประเทศ หรือสถานที่ใดๆ ได้อีกด้วย

ส่วนประกอบของใบรับรองแพทย์แบบนี้แบ่งได้หลักๆ ทั้งหมด 6 ส่วน คือ

  1. ส่วนสำหรับระบุชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด อายุ ที่อยู่ อาจรวมถึงเลขประจำตัวประชาชนของผู้เข้าตรวจ
  2. ส่วนสำหรับระบุสถานที่ที่แพทย์ตรวจ และวันเดือนปีที่ตรวจ
  3. คุณวุฒิของแพทย์ รวมถึงชื่อ นามสกุล และเลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
  4. รายละเอียดการวินิจฉัย สภาวะอาการเจ็บป่วย และโรคที่ผู้เข้าตรวจเป็น
  5. รายละเอียดความเห็นของแพทย์ว่า ผู้เข้าตรวจมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะสามารถลางาน ลาป่วย เบิกค่ารักษาพยาบาล ทำกิจกรรม เข้าศึกษา เข้าทำงาน หรือเดินทางไปยังสถานที่ใดๆ ได้หรือไม่
  6. ลายเซ็นต์กำกับของแพทย์ผู้ตรวจ

2. ใบรับรองแพทย์เพื่อสุขภาพ

เป็นใบรับรองแพทย์ที่นิยมใช้สำหรับยื่นสมัครงาน สมัครเข้าศึกษาต่อ แต่บางองค์กรก็อาจให้ใช้ใบรับรองแพทย์แบบที่ 1 ก็ได้ ส่วนผู้ที่ต้องการยื่นขอรับใบขับขี่ หรือสอบใบขับขี่ จะต้องยื่นใช้ใบรับรองแพทย์แบบนี้เท่านั้น

รายละเอียดใบรับรองแพทย์เพื่อสุขภาพจะแบ่งได้หลักๆ ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เข้าตรวจเอง เช่น ชื่อ นามกุล ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน ประวัติสุขภาพคร่าวๆ เช่น โรคประจำตัว ประวัติการผ่าตัด อุบัติเหตุ การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
  2. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ผู้ตรวจ เช่น สถานที่ที่ตรวจ วันที่ตรวจ ชื่อแพทย์ ใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรม น้ำหนักกับส่วนสูงผู้เข้าตรวจ รวมถึง 3 โรคที่กล่าวไปข้างต้นซึ่งแพทย์ต้องเป็นผู้รับรองว่าไม่ได้ปรากฎอาการแสดงใดๆ

3. ใบรับรองแพทย์เพื่อดำเนินคดี

เรียกได้อีกชื่อว่า “ใบชันสูตรบาดแผล” หรือ “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บ หรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” เป็นใบรับรองแพทย์ที่บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องไม่มีสิทธิ์เห็น และไม่สามารถเผยแพร่ได้

เพราะใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ใช้สำหรับรับรองอาการบาดเจ็บ การชันสูตรบาดแผล ชันสูตรศพ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป ส่วนมากผู้ที่รับใบรับรองแพทย์นี้ไปใช้จะเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน

ใบรับรองแพทย์ชนิดนี้แบ่งออกได้ 4 ส่วนหลักๆ คือ

  1. ส่วนสำหรับระบุชื่อ นามสกุลผู้เข้าตรวจ หรือผู้ป่วย รวมถึงเลขทะเบียนผู้ป่วย สถานที่ที่ตรวจ สถานีตำรวจที่นำส่งผู้เข้าตรวจไปรับการตรวจ วันเดือนปี เวลาที่ผู้ตรวจไปรับการตรวจด้วย
  2. ส่วนสำหรับรายการที่แพทย์ได้ตรวจ เช่น ลักษะบาดแผล ขนาด จำนวน ลักษณะ ตำแหน่งของแผล รวมถึงสติ สัมปชัญญะของผู้ป่วยขณะที่แพทย์ตรวจด้วย
  3. ส่วนความเห็นของแพทย์ต่อสภาพร่างกาย หรืออาการของผู้เข้าตรวจ
  4. ข้อมูลในส่วนนี้จะต้องสัมพันธ์กับบทบัญญัติกฎหมายเรื่อง “อันตรายบาดเจ็บ” และ “อันตรายบาดเจ็บสาหัส” ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และแพทย์ต้องเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายในส่วนนี้อย่างละเอียดด้วย
  5. ลายเซ็นต์ ลายมือของแพทย์ผู้ตรวจ ควรมีการเขียน หรือประทับตราไว้ด้วยชื่อเต็มซึ่งสามารถอ่านได้ง่าย และชัดเจนด้วย

ข้อควรระวังในการใช้ใบรับรองแพทย์

ใบรับรองแพทย์มีความเกี่ยวข้องทางกฎหมาย ซึ่งหากใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็อาจมีโทษถึงขั้นจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับได้ คุณจึงต้องศึกษาวิธีการใช้ใบรับรองแพทย์อย่างถูกต้องเอาไว้ ทั้งผู้เข้าตรวจและแพทย์ผู้ตรวจ เช่น

  • ผู้ที่เขียนใบรับรองแพทย์ให้ จะต้องเป็นแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้วเท่านั้น
  • แพทย์จะต้องเขียนใบรับรองแพทย์อย่างตรงไปตรงมา และตามสภาวะร่างกายจริงๆ ของผู้ป่วย
  • หากแพทย์ไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการ พยาธิสภาพของผู้เข้าตรวจ ควรศึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ ก่อนออกใบรับรองแพทย์
  • หากแพทย์ที่เป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ไม่ได้ตรวจสุขภาพผู้เข้าตรวจจริง จะมีความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับของแพทยสภา ซึ่งอาจถูกลงโทษให้พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
  • หากแพทย์ออกใบรับรองแพทย์แล้วทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรม หรือยื่นเอกสารได้ ห้ามแก้ไขใบรับรองแพทย์เด็ดขาด เพราะถือเป็นความผิดข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-5 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
  • การปลอม หรือการแก้ไขใบรับรองแพทย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับและนายจ้างสามารถไล่ลูกจ้างที่กระทำผิดลาออกได้โดยไม่ต้องจายเงินชดเชย
  • ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ฉบับจริงในการยื่นคำร้องต่อศาล หากมีการแก้ไข้ใบรับรองแพทย์ จะถือเป็นการนำไปใบรับรองแพทย์ปลอมไปยื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท
  • หากใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมในการยื่นขอลากิจ ลาป่วย หรือขอลาหยุดเพิ่มต่อนายจ้าง ถือเป็นความทางอาญา และความผิดร้ายแรงที่นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้าง โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

แม้ในปัจจุบันจะดูเหมือน ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารที่ออกได้ง่าย หลายครั้งแพทย์ผู้ออกตรวจไม่ได้ตรวจสุขภาพผู้เข้าตรวจอย่างละเอียดก็ออกใบรับรองแพย์ให้เพราะคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ความจริงแล้วก็มีความเสี่ยงที่ผู้ได้ใบรับรองแพทย์ไปจะนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด

นอกจากนี้ผู้ใช้ใบรับรองแพทย์หลายคนอาจคิดว่า การใช้ใบรับรองแพทย์สามารถทำด้วยตนเองก็ได้ เพราะเข้าใจว่าร่างกายตนเองแข็งแรงดี แต่ความจริงแล้ว เอกสารนี้ต้องได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นจะถือว่า ผิดกฎหมาย

ดังนั้น ทั้งฝั่งแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ และผู้เข้าตรวจซึ่งเป็นผู้ใช้ใบรับรองแพทย์ จึงต้องระมัดระวังในการใช้เอกสารสำคัญนี้ให้ดี เพื่อให้การดำเนินการทางเอกสารต่างๆ ถูกต้อง ไม่มีข้อกังขาที่อาจทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายกังวล


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

  • กระทรวงยุติธรรม, กฎหมายน่ารู้ ตอน “การปลอม-แก้ไขใบรับรองแพทย์ ผิดกฎหมาย” (Last reviewed 16th October 2019) (https://www.moj.go.th/view/36406) (Last reviewed 16th October 2019), 20 June 2020.
  • หมอใหม่, ใบรับรองแพทย์ที่ต้องรู้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (https://www.tmc.or.th/pdf/tmc_book_newMD2560_16052560.pdf), 15 พฤษภาคม 2563.
  • หมายเหตุแพทยสภา, ใบรับรองแพทย์เพื่อการรับรองสุขภาพ (https://tmc.or.th/news_file/detail_letter_doctor/letter28-05-57.pdf), 15 พฤษภาคม 2563.
Scroll to Top