บาดแผลมีกี่แบบ มีวิธีปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อเกิดแผล

บาดแผลมีกี่แบบ มีวิธีปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อเกิดแผล

ร่างกายของเราทุกคนย่อมเคยได้รับบาดแผลกันมาหลากหลายรูปแบบ โดยอาจมาจากการประสบอุบัติเหตุ หรือมาจากวิธีรักษาพยาบาลบางอย่างที่ทำให้ร่างกายต้องมีบาดแผลติดตัวด้วย แต่หลายคนคงไม่รู้ว่า แล้วบาดแผลมีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีวิธีรักษา และดูแลอย่างไร

ความหมายของบาดแผล

บาดแผล (Wound) หมายถึง ภาวะที่เนื้อเยื่อของร่างกายเกิดการฉีกขาด หรือได้รับบาดเจ็บ (Trauma) โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดบาดแผลมีมากมาย เช่น ถูกของมีคมบาด ถูกของแข็ง หรือของหนักเสียดสี กระแทก ถูกของร้อน หรือของเย็นจัด เนื้อเยื่อไปสัมผัสสารเคมี หรือรังสีที่เป็นอันตราย

ประเภทของบาดแผล

บาดแผลสามารถจำแนกได้จากทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิด จากการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงลักษณะบาดแผลที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้

  1. แผลฟกช้ำ (Bruise or Contused wound) เป็นบาดแผลที่เกิดจากการกระแทก หกล้ม หรือถูกชกต่อยอย่างแรง จนเส้นเลือดใต้ผิวหนังฉีกขาด และผิวหนังจะกลายเป็นสีช้ำ หรือห้อเลือด เป็นลักษณะบาดแผลที่ไม่มีรอยกรีด หรือฉีกขาด แต่จะมีอาการเจ็บ หรือปวดอยู่ใต้ผิวหนัง แผลฟกช้ำสามารถเรียกได้อีกแบบว่า “แผลปิด (Closed wound)” เพราะเนื้อเยื่อไม่ได้ฉีกขาดเปิดออก นอกจากนี้แผลปิดยังสามารถรวมไปถึงแผลกระดูกหัก หรืออวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บด้วย เพราะเป็นการบาดเจ็บภายใน ไม่ได้เห็นชัดเจนจากภายนอกผิวหนัง
  2. แผลจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป (Strain) เป็นแผลที่เกิดจากการบิดยืด หรือใช้กล้ามเนื้อมากเกินกำลัง เป็นบาดแผลที่สามารถรักษาได้จากการนวด ทำกายภาพบำบัด การประคบร้อน
  3. แผลฉีกขาดของกล้ามเนื้อ (Sprain) เป็นแผลที่ไม่มีการฉีกขาดของชั้นเนื้อเยื่อ แต่เกิดจากการฉีกขาดของชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ มักมีอาการบวม หรือช้ำรวมด้วย แต่จะไม่มีเลือดไหลออกมาภายนอกบาดแผลชนิดนี้มักมาจากอุบัติเหตุจากการออกกำลังกาย หรือการถูกกระแทกจนชั้นกล้ามเนื้อและข้อต่อหมุน หรือบิดผิดรูป
  4. แผลถลอก (Abrasion wound) เป็นลักษณะแผลที่เกิดจากหนังกำพร้าหลุดลอกออกไป โดยอาจเกิดจากถูกของมีคม หรือของแหลมมากระทบ หรือข่วน หรืออาจเกิดจากผิวหนังไปกระแทก เสียดสีกับพื้นผิวที่หยาบ
  5. แผลเปิด (Open wound) เป็นบาดแผลที่เกิดจากเนื้อเยื่อซึ่งห่อหุ้มร่างกายฉีกขาดจนเห็นชั้นเนื้อเยื่อด้านใน มีเลือดออก ส่วนความลึกของแผลชนิดนี้แตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น จากการถูกแทง ถูกของมีคมตัดบาดอย่างแรง บางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้อวัยวะใต้ผิวหนังส่วนนั้นๆ เสียหายได้ด้วย
  6. แผลถูกตัด หรือแผลขอบเรียบ (Cut or Incised wound) เป็นบาดแผลที่มักเกิดจากของมีคมบาดผิวหนัง เช่น มีด กรรไกร เศษแก้ว กระจก ลักษณะบาดแผลจะมีขอบเรียบ ไม่มีรอยช้ำ แต่จะรู้สึกเจ็บจากเนื้อเยื่อที่ฉีกขาด และความลึกของแผลจะขึ้นอยู่กับความคม และความรุนแรงขณะของมีคมบาดผิว
  7. แผลถูกแทง (Stab wound) เป็นแผลที่เกิดจากถูกของมีคมทิ่มแทงลงไปใต้ผิวหนัง เช่น มีด ไม้ปลายแหลม เหล็กแหลม เข็ม เป็นแผลที่ควรได้รับการปฐมพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจส่งผลให้อวัยวะภายในบริเวณแผลดังกล่าวได้รับบาดเจ็บไปด้วยและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจมีเลือดออกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แผลนี้ก็อาจเกิดจากการรักษาจากแพทย์โดยใช้เข็มเจาะตรวจ หรือเข็มฉีดยาก็ได้
  8. แผลถูกตัดขาด (Amputation wound) เป็นแผลที่ร่างกายถูกของมีคมตัด หรือถูกแรงบิด กระชาก ดึงอย่างแรงจนอวัยวะหลุด หรือถูกตัดขาดออกไป และมีเลือดออกจำนวนมาก
  9. แผลจากการถูกระเบิด (Blast injury) เป็นแผลที่พบได้จากเหตุจลาจล หรือในสงคราม อุบัติเหตุร้ายแรงบางอย่าง เพราะมักมีสาเหตุหลักมาจากการถูกแรงระเบิด ประทัด ดินระเบิด ทำให้เนื่อเยื่อฉีกขาดและช้ำจนเป็นแผลขนาดใหญ่ หรืออาจเป็นแผลลึกไปถึงชั้นกระดูก และมีเลือดออกจำนวนมาก
  10. แผลกระดูกหัก (Fracture) เกิดได้กับกระดูกทุกส่วนของร่างกาย แต่มักเกิดบริเวณกระดูกแขน กระดูกขา สาเหตุที่ทำให้เกิดมักมาจากอุบัติเหตุ การตกจากที่สูง การถูกกระแทกอย่างแรง และการถูกทำร้ายร่างกาย
  11. แผลจากความเย็น หรือความร้อนจัด (Burn or Frosbites) เช่น น้ำร้อนลวก การสัมผัสถ้วย หรือหม้อใส่น้ำแกง เตาแก๊ส รวมไปถึงสารเคมี พลังงานรังสี กระแสไฟฟ้า

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเกิดแผล

กระบวนการรักษาแผลเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตนเอง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่

  1. ห้ามเลือด (Hemostasis) เพื่อไม่ให้ร่างกายเสียเลือดไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับบาดแผลขนาดใหญ่ ปากแผลลึก เส้นเลือด และอวัยวะภายในได้รับความเสียหาย เพราะหากเลือดออกไม่หยุด หรือเสียเลือดมากๆ อาจทำให้เกิดอาการตกเลือด ช็อค และเสียชีวิตได้ในที่สุด
  2. ทำความสะอาดแผล (Cleansing) เพื่อป้องกันการอักเสบ และติดเชื้อ นอกจากนี้การทำความสะอาดแผลยังช่วยลดอาการเจ็บปวดได้อีกด้วย
    หลังจากทำความสะอาดแผลแล้ว ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทารอบแผลประมาณ 2 นิ้วเป็นวงกว้าง แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซเพื่อป้องกันเชื้อโรค หากแผลอยู่บริเวณศีรษะ หรือบริเวณที่มีขน อาจต้องโกนเส้นผม หรือเส้นขนรอบๆ ออก เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาดแผล และลดโอกาสการสะสมของเชื้อแบคทีเรียรอบๆ แผล
  3. สำรวจภายในบาดแผล (Wound exploration) โดยสำรวจด้วยตาเปล่าว่า ภายในบาดแผลมีสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษไม้ เศษกระจก เศษโลหะ หรือเศษดิน อยู่ข้างในหรือไม่ แต่หากไม่มั่นใจ ให้นำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูทางรังสีอย่างละเอียด วิธีสำรวจภายในบาดแผลไม่ควรมีการแคะ แกะ หรือเอานิ้วล้วงเข้าไปในแผลโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ยิ่งได้รับบาดเจ็บ และเกิดการติดเชื้อได้
  4. การตัดเนื้อตาย และนำสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล (Debridement) เพราะหากมีสิ่งเหล่านี้อยู่ จะทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ และทำให้แผลอักเสบรุนแรงขึ้นอีก โดยแพทย์จะหลีกเลี่ยงการตัดเนื้อชิ้นที่ดีออก เพื่อป้องกันไม่ให้แผลมีขนาดใหญ่กว่าเดิม นอกจากนี้หากพบว่า ขอบบาดแผลมีอาการช้ำมาก แพทย์อาจต้องตัดขอบบาดแผลเข้ามาประมาณ 1-2 มิลลิเมตรก่อนจะเย็บแผล เพื่อป้องกันการเกิดเนื้อเยื่อตายภายหลังอาการฟกช้ำ
  5. เย็บปิดแผล (Wound closed) โดยควรเย็บปิดภายใน 6 ชั่วโมงตั้งแต่ได้รับบาดเจ็บ แต่หากแผลสกปรกมาก ก็ควรทำความสะอาด และเย็บปิดภายใน 3 ชั่วโมง แต่หากเป็นแผลขนาดเล็ก หรือแผลไม่ได้ลึกจนต้องเย็บ เพียงแค่แปะปลาสเตอร์ธรรมดาปิดแผลก็เพียงพอแล้ว

นอกจากนี้หากผู้มีบาดแผลเปิดยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักก็ควรไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน หรือหากได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบ 3 เข็ม แต่เป็นเวลานานมากกว่า 3 ปีแล้ว ก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน เพื่อให้แพทย์พิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้น

ส่วนผู้ที่ได้รับแผลลุกลามไปถึงการบาดเจ็บที่กระดูก ก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการรักษาเกี่ยวกับกระดูก หรือไขข้อโดยด่วน มิฉะนั้นอาจเกิดอาการแทรกซ้อน และการอักเสบที่ลุกลามไปถึงกระดูกด้านใน และอาจทำให้ต้องเสียอวัยวะได้

ปัจจัยที่ทำให้แผลหายช้า

อย่างไรก็ตาม แผลที่ได้รับการปฐมพยาบาล หรือรักษาแล้วอาจหายช้าลง หรืออักเสบ และติดเชื้อได้ หากผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ดูแลรักษาแผลให้ดี โดยปัจจัยที่มักทำให้แผลไม่หายดีอย่างที่ควรจะเป็น ได้แก่

  • มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในแผล เช่น เศษไม้ เศษดิน เศษกระจก หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อ หรืออักเสบได้ และยังส่งผลให้คอลลาเจนใต้ผิวซึ่งทำหน้าที่ฟื้นฟูผิวไม่ให้เป็นแผลเป็นทำงานได้ไม่ดีด้วย
  • เลือดไปเลี้ยงแผลไม่ดีพอ ทำให้กระบวนการสมานบาดแผลไม่มีประสิทธิภาพพอ โดยสาเหตุที่เลือดไปเลี้ยงแผลไม่ดีพอนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการเย็บแผลแน่นเกินไป แผลถูกกดทับ
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus) ซึ่งมีส่วนทำให้เม็ดเลือดขาวต้องใช้ระยะเวลาในการฆ่าเชื้อโรค และสมานแผลช้ากว่าปกติ
  • เนื้อตาย ซึ่งจะทำให้แผลอักเสบเป็นเวลานานกว่าเดิม เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวต้องไปทำหน้าที่กำจัดเนื้อตายออก และเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตมากกว่าเดิม
  • การเย็บแผลที่แน่น หรือหลวมเกินไป จนแผลติดแน่นเกินไป หรือหลวมจนขอบแผลแยกออกจากกันอีก ทำให้เลือดต้องไปเลี้ยงแผลใหม่อีกครั้ง
  • มีอาการห้อเลือดบริเวณพังผืดกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อใต้แผล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีต่อเชื้อแบคทีเรีย และทำให้แผลติดเชื้อได้ ระยะเวลาของการสมานแผลจึงต้องยืดยาวออกไปอีก

วิธีดูแลแผลติดเชื้อ

การดูแลทำความสะอาดแผลไม่ดีพอ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปเติบโตในเนื้อเยื่อของแผล จนทำให้กระบวนการสมานแผลทำงานช้าลง และทำให้เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงถูกทำลายไปด้วย

ลักษณะแผลที่ติดเชื้อจะมีดังต่อไปนี้

  • รู้สึกอุ่น หรือร้อนรอบๆ ตัวแผล
  • มีหนอง หรือของเหลวสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากแผล
  • มีรอยแดงเกิดขึ้นที่ขอบรอบๆ แผล
  • รู้สึกเจ็บ และปวดแผลมาก
  • บางรายจะคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย

หากแผลเกิดการติดเชื้อ ควรดูแลแผลตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ล้างมือก่อนเริ่มทำความสะอาดแผลและฟอกสบู่ฆ่าเชื้อก่อนด้วย
  • เช็ดมือให้แห้งเสียก่อน
  • เริ่มล้างแผลด้วยน้ำอุ่นสะอาด และสบู่อ่อนๆ หลีกเลี่ยงการทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวลงที่ไปที่แผล หากแผลมีหนองไหลออกมา ให้เช็ดน้ำหนองออกให้หมดด้วย
  • ใช้เครื่องมือทำความสะอาดแผลที่มีลักษณะเป็นคีมคีบในการเขี่ย และหยิบสิ่งสกปรกออกไปจากแผล โดยให้ทำอย่างระมัดระวังและนิ่มนวล เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ไปสัมผัสถูกแผลแรงๆ จนได้รับบาดเจ็บ
  • ทายาฆ่าเชื้อในรูปแบบยาทา หรือเจลปิโตรเลียมลงไปที่แผล
  • ปล่อยให้แผลแห้งจากอากาศ อย่าปิดแผลให้แผลอับชื้น จนเมื่อแผลแห้งดีแล้ว ให้ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ

วิธีใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล

หลายคนคงยังเข้าใจผิดว่า เมื่อเป็นแผลก็ต้องใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เชื้อโรคจะได้ไม่เข้าไปในแผลได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด และการใช้แอลกอฮอล์ยังทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณแผลเป็นอย่างมากด้วย

วิธีใช้แอลกอฮอล์ที่ถูกต้องคือ ต้องทารอบๆ แผล ไม่ใช่ทาลงไปที่แผล โดยสาเหตุที่ต้องทาแอลกอฮอล์รอบๆ แผลนั้น ก็เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่รอบๆ แผลให้หมดไปต่างหาก การล้างแผลที่เหมาะสมควรใช้น้ำเกลือ หรือน้ำต้มสะอาดเท่านั้น

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

หากดูแลบาดแผลตามคำแนะนำแล้ว แต่บาดแผลยังไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจสอบว่า บาดแผลดังกล่าวมีการลุกลาม อักเสบ หรือติดเชื้อไปในระดับใด เช่น

  • แผลขยายใหญ่ และลึกกว่าเดิม
  • แผลเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือมีลักษณะคล้ายผื่นขึ้นรอบๆ แผล
  • ขอบแผลยังมีเนื้อเยื่อเปื่อยยุ่ยอยู่
  • มีหนอง หรือน้ำสีเขียวไหลออกมาแม้จะทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอแล้วก็ตาม
  • ยังคงมีสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่เป็นตัวต้นเหตุทำให้เกิดแผลติดอยู่ข้างในแผล
  • มีไข้สูงแม้ไม่ได้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

หากไม่รีบทำการรักษา จากแผลบาดเจ็บธรรมดาก็อาจลุกลามกลายเป็นอาการแทรกซ้อนต่อไปนี้ได้ เช่น

  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อใต้ผิวหนัง
  • ภาวะกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อที่ชั้นผิวหนัง แล้วลุกลามลงไปถึงชั้นกระดูก
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อของแผล และภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถทำงานเพื่อกำจัดเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรียได้ดีพอ จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียไหลเข้าสู่กระแสเลือดด้วย
  • โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นภาวะที่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปกัดกินผิวหนัง และกล้ามเนื้อบริเวณที่มีแผล จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น
  • แผลเป็น ( Scar ) การหายของบาดแผลโดยธรรมชาติ หรือด้วยการรักษาจากแพทย์ก็ตาม จะเกิดร่องรอยทิ้งไว้ คือ แผลเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในบาดแผลทุกชนิด แผลเป็นจะเกิดขึ้นมากน้อยเท่าใดขึ้นกับ สาเหตุต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างคอลลาเจนทั้งในระยะงอdขยายและระยะปรับตัว

แผลอาจเป็นอาการบาดเจ็บที่หลายคนมองว่า เป็นเรื่องเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจรักษามากมายก็หายได้ แต่เพราะการขาดความใส่ใจนี้ จึงทำให้หลายคนมีแผลเป็นติดอยู่กับตัว รวมถึงเกิดอาการแทรกซ้อนซึ่งเป็นอาการที่ลุกลามมาจากแผลบาดเจ็บเล็กๆ มากมาย

แม้ว่าปัจจุบันจะมีนวัตกรรมเลเซอร์แก้ไขปัญหารอยแผลเป็น การฉีดยาแผลเป็นคีลอยด์ ให้บริการแล้ว แต่ผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับขนาด และความลึกของแผลเป็นด้วยเช่นกัน

แผลเป็นบางแผลอาจใช้เวลารักษาไม่นาน ผิวหนังบริเวณนั้นก็หายเป็นปกติ แต่แผลเป็นบางแผลอาจไม่หายไปทั้งหมด แต่ยังมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้างก็มี

ดังนั้นเมื่อได้รับบาดแผลไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร ทุกคนควรใส่ใจที่จะทำความสะอาด และดูแลแผลให้หายดีโดยเร็ว หรือหากไม่มั่นใจว่า ตนเองควรดูแลแผลอย่างไร ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับการรักษาแผลให้ และการดูแลแผลอย่างเหมาะสมต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • Alana Biggers, How to recognize and treat an infected wound (https://www.medicalnewstoday.com/articles/325040), 24 September 2020.
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร. สุมิตรา พงษ์สิริ, บาดแผลและการหายของบาดแผล (http://web1.dent.cmu.ac.th/mis/dis/UserFiles/File/surg/SheetDOS381/Sheet%20Wound%20Healing_45.pdf), 24 กันยายน 2563.
  • สุชาติ เครื่องชัย, การพยาบาลผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุที่มีบาดแผล (http://administer.pi.ac.th/uploads/eresearcher/upload_doc/2018/academic/1521799313151098003746.docx), 24 กันยายน 2563.
Scroll to Top