น้ำร้อนลวก ต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร

น้ำร้อนลวก ต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร

น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุในครัวเรือนที่พบได้บ่อย ความรุนแรงของบาดแผลมักจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำและปริมาณที่ราดรดร่างกาย ระดับความลึก พื้นที่โดยรวม รวมถึงอวัยวะที่ถูกน้ำร้อน

ถ้าหากมีความรุนแรงมากก็อาจถึงขั้นทำให้เนื้อหลุดเห็นกระดูกและเซลล์ประสาทไร้ความรู้สึกได้

การปฐมพยาบาลบาดแผลน้ำร้อนลวกตามความเหมาะสมของบาดแผล อาจช่วยให้อาการทุเลาลง และไม่ต้องทรมานกับการรักษาแผลมากนัก

ดังนั้นการปฐมพยาบาลผู้ถูกน้ำร้อนลวกเบื้องต้นก่อนส่งตัวไปโรงพยาบาลจึงมีความสำคัญมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทรมานกับการรักษาบาดแผลมากนัก

แผลน้ำร้อนลวกมีกี่ระดับ

ความรุนแรงของแผลน้ำร้อนลวกสามารถจำแนกได้เป็น 3 ระดับ โดยใช้ฐานความลึก ขนาด และตำแหน่งของแผลเป็นเกณฑ์ดังนี้

  • ระดับที่หนึ่ง (First Degree Burn) เป็นแผลในระดับเบาที่สุด เพราะเกิดขึ้นในระดับชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ผู้ถูกน้ำร้อนลวกในระดับนี้อาการผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงและรู้สึกปวดแสบปวดร้อน คล้ายการโดนแดดกลางแจ้งการรักษาแผลจึงไม่ยาก เพียงแค่ทาครีมสม่ำเสมอ ก็จะทำให้แผลหายเป็นปกติ
  • ระดับที่สอง (Second Degree Burn) แผลน้ำร้อนลวกในระดับนี้ จะเริ่มนับตั้งแต่แผลบนหนังกำพร้าที่ทำให้เกิดตุ่มใสพุพองขึ้น ไปจนถึงชั้นหนังกำพร้าที่ถูกทำลายจากความร้อนจนหมดและลึกไปถึงชั้นหนังแท้ ซึ่งจะต้องระวังเรื่องการติดเชื้อเป็นอย่างมาก
  • ระดับที่สาม (Third Degree Burn) แผลน้ำร้อนลวกในระดับนี้จะทำลายลึกทั้งหนังกำพร้า หนังแท้ และอาจลึกไปกระดูก กล้ามเนื้อ จนกระทั่งถึงเซลล์ประสาทไร้ความรู้สึก ผิวหนังจะหลุดจนเห็นเนื้อด้านในและอาจถูกทำลายไปด้วยถือว่า เป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่อาจถึงขั้นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกผิวหนังใหม่ และยากที่จะกลับมามีสภาพเหมือนเดิม

วิธีรักษาแผลน้ำร้อนลวกเบื้องต้น

การรักษาแผลน้ำร้อนลวกเบื้องต้น จะแตกต่างออกไปตามระดับความรุนแรงของแผลน้ำร้อนลวก ดังนี้

  • ระดับแรก ให้ลดปริมาณความร้อนบนผิวหนังด้วยการใช้ความเย็น เช่น ให้น้ำเย็นไหลผ่านแผล ใช้น้ำแข็งประคบ หรือใช้ว่านหางจระเข้ที่มีฤทธิ์ดับความร้อน จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำเกลือแล้วซับให้แห้งก่อนทาครีม หรือเจลเพิ่มความชุ่มชื้น และรับประทานยาแก้ปวดเมื่อจำเป็น
  • ระดับที่ 2 ควรระมัดระวังการสัมผัสกับบาดแผลโดยเฉพาะแผลลึก ให้ตัดเสื้อผ้าบริเวณบาดแผลออก ถอดเครื่องประดับ และยกบริเวณแผลขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจ จากนั้นประคบเย็นเหมือนระดับแรกและใช้ผ้ากอซปิดบาดแผลไว้ ระหว่างไปพบแพทย์ควรให้ผู้ถูกน้ำร้อนลวกดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อระงับอาการกระหาย รับประทานยาแก้ปวดตามจำเป็น และต้องระวังภาวะช็อกอันเนื่องมาจากภาวะขาดน้ำ
  • ระดับที่ 3 ผู้ถูกน้ำร้อนลวกจะรู้สึกเจ็บปวดทุรนทุราย เนื่องจากแผลลึกไปถึงเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และกระดูก โดยให้ทำความสะอาดแผลเพียงชะล้างสิ่งสกปรกออกไป ควรระมัดระวังการประคบเย็น การล้างแผล และการปิดแผล ที่อาจทำให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นแล้วรีบนำผู้ถูกน้ำร้อนลวกส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาลระดับใดก็ตาม ห้ามทาของเหลวอื่นๆ ลงบนบาดแผลตามความเชื่อที่ฟังต่อๆ กันมา เช่น ยาสีฟัน หรือครีม เด็ดขาด เพราะอาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อ และอาจมีอาการรุนแรงกว่าเดิม

ข้อควรปฏิบัติหลังการรักษาแผลน้ำร้อนลวก

หลังจากที่แพทย์ทำแผลและจ่ายยาตามอาการแล้ว ควรดูแลตัวเองเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น ด้วยการล้างแผลอย่างถูกวิธีและเปลี่ยนผ้าก๊อซตามกำหนด 1-2 วันต่อครั้ง

หากถูกน้ำร้อนลวกตามอวัยวะต่างๆ ก็จะต้องมีการดูแลแผลที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย เช่น ถ้าเป็นบริเวณข้อต่อ อาจต้องมีการบริหารข้อต่อหลังการรักษา หากเป็นบริเวณแขนควรใส่เฝือก

ส่วนบริเวณขาควรยกให้สูง และระมัดระวังการโดนแดด เนื่องจากอาจทำให้เปิดไหม้ระคายเคืองมากขึ้นได้

กรณีแผลที่เป็นรุนแรงจนไม่สามารถหายเองได้ภายใน 3 สัปดาห์ แพทย์อาจวินิจฉัยทำการปลูกถ่ายผิวหนังใหม่ ซึ่งจะต้องมีการดูแลแผลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลเป็นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หลังบาดแผลน้ำร้อนลวกหายสนิท หากบาดแผลน้ำร้อนลวกจัดเป็นแผลระดับ 1 ซึ่งเป็นแผลที่ไม่รุนแรงในบางรายอาจไม่เหลือร่องรอย หรือแผลเป็นใดๆ ไว้เลย แต่ผู้ที่มีแผลน้ำร้อนลวกระดับ 2 ขึ้นไป อาจมีรอยแผลเป็นเกิดขึ้นได้

หากปัญหาแผลเป็น แผลคีลอยด์ ทำให้คุณรู้สึกหนักใจ เครียด และวิตกกังวล ไม่รู้ว่าจะหาวิธีแก้ไขอย่างไรดี สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ในเรื่องนี้ได้ จะเลือกโทรคุยเฉยๆ หรือวิดีโอคอล ก็ได้ เป็นบริการที่สะดวก สบาย และใช้งานได้จริง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ธวัลรัตน์ ปานแดง


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top