bowel cancer screening

ตรวจมะเร็งลำไส้ รู้ทันรักษาได้

มะเร็งลำไส้หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ พบมากเป็นอันดับต้นๆ และพบมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติโรงพยาบาลรามาธิปดีพบว่าปัจจุบันประเทศไทยพบอัตราผู้ป่วยรายใหม่ 11,496 รายต่อปี และอัตราเสียชีวิต 6,845 รายต่อปี การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ได้

ตรวจมะเร็งลําไส้คืออะไร?

ตรวจมะเร็งลำไส้ (Bowel Cancer Screening) คือการตรวจร่างกายบริเวณลำไส้เพื่อหาสิ่งผิดปกติ เช่น ลำไส้อักเสบ ติ่งเนื้อ หรือถุงโป่งจากลำไส้ใหญ่ และรักษาก่อนที่อาการผิดปกตินั้นจะพัฒนาเป็นมะเร็ง

ใครควรตรวจมะเร็งลำไส้?

โรคมะเร็งลำไส้พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้อายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ อาจพิจารณาจากเงื่อนไขดังนี้

โรคมะเร็งลำไส้พบได้ในทุกเพศทุกวัย ทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ อาจพิจารณาจากเงื่อนไขดังนี้

  • ผู้ที่มีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง ควรเข้าตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำ ผู้ที่ทานเนื้อสัตว์มาก ทานผักน้อย ควรเข้าตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเข้าตรวจได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ชายหญิงทุกคนเมื่ออายุครบ 50 ปีควรตรวจมะเร็งลำไส้แบบเบื้องต้นทุกปีเพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติที่อาจนำไปสู่มะเร็งลำไส้หรือโรคอื่นๆ

อาการบ่งชี้มะเร็งลำไส้

อาการที่อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งลำไส้ อาจมีดังต่อไปนี้

  • ถ่ายอุจจาระมีมูกปน หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
  • ปวดบิดท้องบริเวณท้องน้อย
  • ลักษณะอุจจาระลีบลง เพราะก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่จนไปอุดทางเดินของลำไส้ใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง
  • มีอาการท้องผูกหรือท้องเสียที่รักษาไม่หาย หรือท้องผูกสลับท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • ตัวซีด จากการเสียเลือดโดยที่ไม่มีเลือดออกในอุจจาระให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะเกิดความผิดปกติที่ลำไส้ใหญ่ส่วนบน
  • คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยด้านขวา
  • มีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และถ่ายอุจจาระหรือผายลมลดลง อาจเกิดจากลำไส้อุดตัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสัญญาณของมะเร็งลำไส้คือมีติ่งหรือก้อนเนื้อในลำไส้ ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจคัดกรองโดยแพทย์เท่านั้น ดังนั้นหากมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น จึงควรไปรับการตรวจทันที

วิธีการตรวจมะเร็งลำไส้

วิธีการตรวจมะเร็งลำไส้มี 4 วิธีหลักๆ ดังนี้

1. ตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test)

วิธีนี้เป็นการตรวจหาเม็ดเลือดแดงที่อาจมีอยู่ในอุจจาระแต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายเป็นประจำจะไม่มีเลือดปนอยู่เลย หากพบเม็ดเลือดแดงแฝงอยู่ก็อาจบ่งชี้ถึงอาการผิดปกติในลำไส้ได้ วิธีนี้จัดเป็นการตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้น เช่น ลำไส้อักเสบ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น โดยปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายทุกวันไม่มีเลือดปน สามารถตรวจด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การเตรียมตัวก่อนตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ

เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำ ผู้เข้ารับการตรวจควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

  • ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ต้องหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะโดยเฉพาะอาหารสุกๆ ดิบๆ
  • ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เลือดหมู เลือดเป็ด เลือดไก่ บรอกโคลี กะหล่ำดอก หัวไชเท้าแดง แคนตาลูป มะรุม น้ำองุ่น
  • ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ผู้ที่รับประทานวิตามินซี มากกว่า 250 มก. ต่อวัน ต้องลดปริมาณหรืองดไว้ก่อน
  • ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ผู้หญิงไม่ควรตรวจช่วงที่มีประจำเดือน
  • ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร ไม่ควรตรวจช่วงที่มีเลือดออกจากริดสีดวงทวาร
  • ผู้ที่กำลังป่วยโรคต่อไปนี้ต้องงดเข้ารับการตรวจ ลำไส้ใหญ่บวมอักเสบ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคติ่งเนื้ออักเสบในลำไส้ใหญ่ ท้องเสีย ท้องผูก

ขั้นตอนการเก็บอุจจาระส่งตรวจมะเร็งลำไส้ (Stool Occult Blood)

หลังจากเตรียมตัวตามข้อปฏิบัติที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ผู้เข้ารับการตรวจต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระนำส่งห้องปฏิบัติการ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ก่อนการเก็บตัวอย่างอุจจาระ ต้องปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะปนเปื้อน
  2. ล้างมือให้สะอาด และใส่ถุงมือขณะเก็บตัวอย่าง
  3. ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกปากกว้าง โดยระวังไม่ให้อุจจาระตกน้ำ จากนั้นใช้ก้านเก็บตัวอย่างจากทุกส่วนของอุจจาระโดยเลือกบริเวณที่อ่อนนุ่ม หากมีสีที่แตกต่างกันให้เก็บมาด้วย รวมกันขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ จากนั้นใส่ในภาชนะที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้แล้วปิดฝา แต่ห้ามเก็บตัวอย่างจากอุจจาระที่ปนเปื้อนเด็ดขาด เช่น น้ำ กระดาษชำระ สบู่ เพราะอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อน
  4. นำตัวอย่างส่งให้กับเจ้าหน้าที่ ในกรณีเก็บตัวอย่างอุจจาระที่บ้าน ก่อนนำส่งโรงพยาบาลไม่ควรเก็บตัวอย่างในช่องแช่แข็งของตู้เย็นเพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนของผลตรวจได้
  5. เจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ และแจ้งผลให้ทราบต่อไป

ตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระรอผลตรวจนานไหม?

โดยปกติจะทราบผลภายใน 2 ชั่วโมงหลังส่งตัวอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการของสถานที่ให้บริการ

ข้อดีของการตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ

  • เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก
  • ไม่มีผลข้างเคียง

ข้อเสียของการตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ

  • ความแม่นยำน้อย เพราะแม้จะตรวจไม่พบเลือดในอุจจาระ ก็ไม่สามารถใช้ยืนยันได้ว่าไม่เป็นมะเร็งลำไส้ วิธีนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้น สำหรับผู้มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้น
  • บางกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีอาการสอดคล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ตรวจไม่พบเลือดหรือสิ่งปกติในอุจจาระ แพทย์จะส่งตรวจโดยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

2. ตรวจมะเร็งลำไส้แบบส่องกล้อง (Colonoscopy)

การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อหาสิ่งผิดปกติในลำไส้ ให้ผลแม่นยำ จึงเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่เสี่ยงสูง หรือเคยมีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้มาก่อน และควรตรวจทุก 5 ปี

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

ก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้รับบริการควรเตรียมตัวให้พร้อมดังนี้

  • แจ้งประวัติสุขภาพให้แพทย์ทราบ ได้แก่ โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ประวัติการใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์
  • ก่อนวันตรวจ 7 วัน ต้องงดยาป้องกันการสร้างลิ่มเลือด เช่น Orfarin, Warfarin ยาต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน, ฟลาวิก เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่าย เพราะหากพบก้อนเนื้อผิดปกติแพทย์สามารถตัดออกได้ทันที โดยไม่เสี่ยงกับภาวะเลือดไหลไม่หยุด
  • ก่อนวันตรวจ 7 วัน ต้องงดยาบำรุงเลือดหรือยาที่มีธาตุเหล็กประกอบ เพราะตัวยาจะไปเคลือบในลำไส้เป็นสีดำทำให้มองไม่เห็นสภาพพยาธิ
  • ก่อนวันตรวจ 2 วัน ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย และมีกากน้อย ได้แก่ ข้าวต้ม โจ๊ก เนื้อปลา หรือไข่ ให้งดอาหารกากมาก เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้
  • ก่อนวันตรวจ 1 วัน ให้รับประทานอาหารเหลวที่ไม่มีกาก เช่น น้ำผลไม้ชนิดใส น้ำผึ้ง น้ำซุปใส น้ำหวานไม่มีสี โจ๊กเหลว เป็นต้น และรับประทานยาระบายตามแพทย์สั่งเพื่อระบายให้ลำไส้ใหญ่สะอาด และงดอาหารหลังกินยาระบาย สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ตามเวลาที่แพทย์สั่ง

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้

  1. ผู้เข้ารับการตรวจอยู่ในท่านอนบนเตียงท่าตะแคงซ้าย ก้นชิดริมเตียง งอเข่าชิดอก คลุมร่างกายด้วยผ้าสะอาด มีช่องเปิดที่ก้น
  2. สำหรับผู้เข้ารับการตรวจบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาระงับความรู้สึก ผู้เข้ารับการตรวจจึงไม่รู้สึกเจ็บขณะตรวจ
  3. แพทย์ใส่กล้องส่องตรวจเข้าทางทวารหนัก ทำการขยับ และปรับกล้องส่องอย่างเหมาะสม จากนั้นจึงเคลื่อนไหวกล้องส่องให้ไปในทิศทางที่ต้องการ
  4. ขณะส่องกล้องแพทย์จะเป่าลมด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติ ให้ลำไส้ขยาย เพื่อดูพยาธิสภาพภายในได้ชัดเจนขึ้น ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ แน่น หรืออึดอัดท้อง อาการเหล่านี้บรรเทาได้โดยการหายใจช้าๆ สูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ ปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง ถ้าแน่น อึดอัดท้องมากจนทนไม่ไหว ให้แจ้งแพทย์ แพทย์จะดูดลมออกให้ โดยระหว่างการส่องกล้องห้ามดิ้นโดยเด็ดขาด
  5. ภาพที่บันทึกได้จะปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ สามารถเก็บรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด ทำให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะใช้เวลาตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเลย

ส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่รอผลตรวจนานไหม?

หลังตรวจประมาณ 2 ชั่วโมง จะทราบผลการตรวจและสามารถกลับบ้านได้

ข้อดีของการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • มีความแม่นยำใสูงถึง 95-98%
  • นอกจากตรวจแล้วยังสามารถรักษาระหว่างส่องกล้องไปด้วยกันได้ เช่น การตัดติ่งเนื้องอกผิดปกติที่พบได้ทันทีในขั้นเดียวกับการส่องกล้อง เป็นการป้องกันการกลายเป็นมะเร็ง

ข้อเสียของการส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • เป็นการตรวจที่ต้องทำโดยแพทย์ที่ความชำนาญและมีประสบการณ์เท่านั้น
  • อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ เช่น เลือดออกที่ลำไส้ใหญ่จากการส่องกล้องหรือลำไส้ใหญ่ทะลุ ขึ้นกับความชำนาญของแพทย์
  • เป็นการตรวจที่มีราคาแพง เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีอื่น

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เจ็บไหม?

แพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึกก่อนส่องกล้อง ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ

3. การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม (Barium Enema)

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม (Barium Enema) เป็นการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่างหรือลำไส้ใหญ่ โดยการสวนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนัก ไปเคลือบผนังลำไส้ใหญ่ จากนั้นถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ เช่น เนื้องอก มะเร็ง หรือการอุดตันในลำไส้ใหญ่

การเตรียมตัวเข้าก่อนการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม

แจ้งข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรือสารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัดให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 2-3 วัน ผู้เข้ารับการตรวจควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ซุปใส ขนมปัง หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน
  • ก่อนเข้ารับการตรวจแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจทานยาระบายเพื่อทำให้ลำไส้สะอาดมากที่สุด ช่วยให้เห็นผนังลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน ไม่มีอุจจาระบดบังผนังลำไส้ใหญ่
  • ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปในระหว่างการระบายลำไส้
  • ก่อนเข้ารับการตรวจ 6-8 ชั่วโมง ต้องงดน้ำและอาหาร
  • ควรนำฟิล์มเอกซเรย์เก่ามาให้แพทย์ด้วยวันตรวจ

ขั้นตอนการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม

  1. ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
  2. ผู้เข้ารับการตรวจขึ้นนอนบนเตียงในท่านอนตะแคงจนเกือบคว่ำไปข้างใดข้างหนึ่ง
  3. แพทย์สอดท่ออ่อนขนาดเล็กที่มีความยาวเล็กน้อยเข้าทางทวารหนัก และฉีดแป้งแบเรียมผ่านท่อนี้ ผู้เข้ารับการตรวจต้องเกร็งและขมิบกล้ามเนื้อหูรูดไว้ เพื่อไม่ให้สารที่ฉีดไปไหลออกมา
  4. แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจพลิกตัวไปมาเพื่อให้แป้งแบเรียมเคลือบผนังลำไส้ทั่วถึง
  5. แพทย์เป่าลมเข้าทางท่ออ่อนด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติให้ลำไส้พองตัวเพื่อให้การตรวจเห็นภาพชัดขึ้น
  6. ระหว่างการตรวจอาจรู้สึกแน่นท้อง คล้ายๆ ปวดอุจจาระ ให้กลั้นเอาไว้ก่อน
  7. แพทย์ถ่ายภาพเอกซเรย์ ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
  8. หลังจากทำการตรวจเอกซเรย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์ดึงท่ออ่อนออกจากทวารหนัก
  9. หลังตรวจผู้เข้ารับการตรวจอาจปวดอุจจาระ
  10. เมื่อเสร็จแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินทางกลับบ้านได้

หลังการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และควรรับประทานอาหารประเภทกากใยมากๆ และดื่มน้ำเยอะๆ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งแบเรียมตกค้างซึ่งอาจทำให้ท้องผูก

ตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมรอผลตรวจนานไหม?

สามารถทราบผลตรวจภายใน 2-3 วัน

ข้อดีของการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม

  • มีความแม่นยำในการตรวจจับสิ่งผิดปกติสูงมาก
  • มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อยมาก

ข้อเสียของการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม

  • อาจตรวจไม่พบติ่งเนื้อที่เล็กกว่า 1 เซนติเมตร
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดลำไส้ทะลุ แต่เกิดได้น้อย ทำให้แป้งแบเรียมไหลออกจากลำไส้ใหญ่เข้าสู่ช่องท้อง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยอื่น
  • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ห้ามทำการตรวจด้วยเทคนิคการสวนแป้ง เพราะสารทึบแสงและการเอกซเรย์มีผลต่อทารกในครรภ์

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมเจ็บไหม?

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมผู้เข้ารับการตรวจจะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ แต่อาจรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยระหว่างที่แพทย์สูบลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ หรือรู้สึกท้องอืดหรือปวดท้องเพียงแค่ชั่วขณะเท่านั้น

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมเหมาะกับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้มาก่อน หรือผู้ที่ลำไส้ผิดปกติแต่ไม่สามารถตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้ เช่น มีอาการลำไส้อุดตัน โดยควรตรวจทุก 5 ปี

4. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง (Virtual Colonoscopy: VC)

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง (Virtual Colonoscopy: VC) คือการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพื่อสร้างภาพสองและสามมิติของลำไส้ใหญ่จากส่วนล่างสุดคือจากทวารหนักถึงด้านล่างสุดของลำไส้เล็ก โดยแสดงภาพบนจอคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงสามารถตรวจพบเนื้องอกที่มีขนาดมากกว่า 9 มม. ได้มากกว่า90%

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง

  • แจ้งข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรือสารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัดให้แพทย์ทราบ
  • ก่อนวันตรวจ 1 วัน รับต้องประทานเฉพาะอาหารประภทเหลวและใส เช่น ซุปใส เป็นต้น และงดรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มต่างๆ หลังเที่ยงคืนก่อนวันตรวจ

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง

เมื่อผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้แล้ว ผู้เข้ารับการตรวจนอนบนเครื่องสแกนที่ลักษณะคล้ายอุโมงค์สั้นๆ โดยผู้เข้ารับการตรวจนอนหงายและแพทย์จะทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. แพทย์ฉีดสารชื่อว่าไฮออสซีน บิวทิลโบรไมด์ (Butylscopolamine) ซึ่งเป็นกลุ่มยาช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งในช่องท้องเข้าเส้นเลือดดำเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  2. แพทย์เป่าลมผ่านท่อขนาดเล็กบางเข้าไปขยายลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติ เพื่อให้มองเห็นภายในลำไส้ดีขึ้น
  3. ระหว่างเครื่องสแกนทำงานผู้เข้ารับการตรวจต้องกลั้นหายใจเพื่อไม่ให้ภาพผิดเพี้ยน
  4. สแกนซ้ำอีกในท่านอนคว่ำ
  5. เครื่องสแกนสร้างชุดภาพตัดขวางสองมิติตามความยาวของลำไส้ใหญ่ และคอมพิวเตอร์แต่งภาพสองมิติให้เป็นภาพสามมิติโดยสามารถดูได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์
  6. หลังตรวจผู้เข้ารับการตรวจเข้าห้องน้ำเพื่อไล่ลม (ผายลม) และสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงรอผลตรวจนานไหม?

การรายงานผลใช้เวลาถึง 1 ถึง 2 สัปดาห์

ข้อดีของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง

  • มีความเสี่ยงน้อยกว่าการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
  • สามารถช่วยตรวจดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต่างๆ ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน และไม่สามารถส่องกล้องเข้าไปตรวจได้
  • สามารถดูผนังด้านนอกลำไส้ใหญ่และอวัยวะอื่นภายในช่องท้องซึ่งไม่สามารถตรวจด้วยการส่องกล้องได้
  • ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึกเพื่อลดความเจ็บปวดทำให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติหรือกลับบ้านได้หลังจากทำหัตถการโดยไม่ต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือ

ข้อเสียของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง

  • ต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญละมีประสบการณ์สูงมากในการตรวจหาผลลัพธ์ เพราะแพทย์ที่ขาดความชำนาญการการตรวจหาผลลัพธ์จะพลาดได้ง่าย ทำให้ได้ผลการตรวจไม่ตรงและต้องตรวจซ้ำใหม่

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงเจ็บไหม?

ผู้เข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้จะไม่รู้สึกเจ็บ เพราะไม่ใช่การผ่าตัด แต่เป็นเพียงการสแกนตรวจหาเท่านั้น แต่อาจรู้สึกอึดอัด แน่นท้องขณะตรวจเพราะต้องสูบอากาศเข้าลำไส้เพื่อขยายลำไส้ให้พอง

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงควรตรวจทุก 5 ปี เหมาะสำหรับผู้ที่ลำไส้มีความผิดปกติอยู่แล้ว หรือเพื่อตรวจยืนยันสาเหตุโรคที่แน่นอนกรณีที่ตรวจด้วยวิธีอื่นได้ผลลัพธ์ไม่ชัดเจน

โดยสรุปแล้ว การตรวจมะเร็งลำไส้อาจช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ทำให้การรักษาไม่ซับซ้อน และมีโอกาสหายมากขึ้น ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เป็นระยะ เพื่อจะได้จัดการกับโรคได้ทันเวลา


เปรียบเทียบราคาตรวจมะเร็งลำไส้


ที่มาของข้อมูล

  • Fecal Immunochemical Test (FIT), (https://www.nci.go.th/th/File_download/D_index/ptu/update1761/4.%20วิธีการตรวจอุจจาระ_Update%20V.7%2017-01-61.pdf).
  • The National Health Service (NHS), Bowel cancer, (https://www.nhs.uk/conditions/bowel-cancer/), 8 November 2021.
  • ชัยวัฒน์ เชิดเกียรติกุล วท.บ.(รังสีเทคนิค), การตรวจพิเศษรังสีลำไส้ใหญ่, ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, (https://sirirajradiology.com/wp-content/uploads/2019/10/ch3.pdf), 1 มกราคม 2558.
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ.
  • นายแพทย์บัญชร ศิริพงศ์ปรีดา, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์, สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์, มะเร็งลำไส้ วายร้ายที่ไม่ควรมองข้าม.
  • สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่.
Scroll to Top