การฝ่อหายไปของสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัม scaled

การฝ่อหายไปของสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัม

คอร์ปัส คาโลซัม (Corpus callosum)เป็นส่วนของสมองที่มีลักษณะโค้ง เป็นโครงสร้างที่เชื่อมสมองซีกซ้ายและขวาเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยใยประสาท 200 ล้านใย ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลไปมาระหว่างสมองทั้ง 2 ซีก

การฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัม (Agenesis of the corpus callosum ;ACC) เป็นความผิดปกติรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย คือ ราว 1 ต่อ 19,000 ของการชันสูตรศพ ทั้งนี้การฝ่อหายไปอาจเป็นเพียงบางส่วน หรือทั้งหมดก็ได้

ประเภทของการฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัม

เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ร่างกายสร้างใยประสาทนี้อย่างไม่ถูกต้องซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด ถ้าลูกของคุณมีการฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัม ก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้แต่อาจมีปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิต

การฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัม แบ่งได้อีกหลายชนิด ได้แก่

  • Partial Corpus Callosum Agenesis
  • Hypogenesis of the Corpus Callosum
  • Hypoplasia of the Corpus Callosum
  • Dysgenesis of the Corpus Callosum

อาการของการฝ่อหายไปของสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัม

การฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัม บางครั้งอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้เห็น แต่ส่วนมากมักสัมพันธ์กับความผิดปกติของโครโมโซม trisomy 18, 13 และ 8

ความผิดปกติที่ว่านี้เองที่เป็นสาเหตุของพัฒนาการช้า ซึ่งอาจมีอาการในระดับรุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก อาจพบว่า เด็กมีพัฒนาทางในการเคลื่อนไหวที่ช้าลง เช่น การนั่ง การเดิน หรือการปั่นจักรยาน

ในบางกรณีอาจพบปัญหาในการดูดนมและการกลืน และพบการประสานสัมพันธ์ของร่างกายผิดปกติ ซึ่งเด็กบางคนอาจมีปัญหาในการใช้ภาษาและการพูดที่ช้ากว่าปกติ แม้ว่าจะพบปัญหาเกี่ยวกับสติปัญญาอยู่บ้าง แต่เด็กที่มีภาวะนี้หลายรายก็มีระดับสติปัญญาเหมือนคนทั่วไป

อาการอื่นๆ ที่พบ ได้แก่

  • อาการชัก
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • มีปัญหาในการได้ยิน
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • กำลังกล้ามเนื้อลดลง
  • ทนต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น
  • การนอนหลับผิดปกติ
  • มีปัญหาในการเข้าสังคม
  • มีปัญหาในการเห็นมุมมองของคนอื่น
  • มีปัญหาในการตีความหมายการแสดงออกทางสีหน้า
  • ไม่เข้าใจคำสแลง สำนวน หรือการแสดงออกทางสังคม
  • มีปัญหาในการแยกความแตกต่างของเรื่องจริงออกจากเรื่องไม่จริง
  • มีปัญหาในเรื่องของความเข้าใจเหตุผลเชิงนามธรรม
  • มีพฤติกรรมหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากไป
  • สมาธิสั้น
  • มีอาการกลัว

สาเหตุของการฝ่อหายไปของสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัม

การฝ่อหายไปของสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัม ที่จะเริ่มมีการพัฒนาขึ้นในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ถือเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายชนิดทำให้เด็กมีโอกาสเกิดภาวะนี้มากขึ้น ได้แก่

  • การที่แม่ใช้ยาบางชนิด เช่น Valproate
  • การที่แม่ใช้ยาเสพติดและการดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์
  • การติดเชื้อไวรัสขณะตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน (Rubella)
  • ความผิดปกติและความเสียหายของโครโมโซม เช่น ผู้ที่มีโครโมโซมเกินมา 1 แท่ง (Trisomy)  รวมไปถึงภาวะความผิดปกติกทางพันธุกรรมในกลุ่มที่เรียกว่า “Ciliopathies”

ส่วนใหญ่ผู้ที่มีการฝ่อหายไปของสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัม จะพบร่วมกับความผิดปกติทางสมองอื่นๆ เช่น ถ้ามีซีสต์เกิดขึ้นในสมองเด็ก จะทำให้เกิดการยับยั้งการสร้างคอร์ปัส คาโลซัม ส่วนภาวะอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัม ได้แก่

  • Arnold-Chiari Malformation
  • Dandy-Walker Syndrome
  • Aicardi Syndrome
  • Andermann Syndrome
  • Acrocallosal Syndrome
  • Schizencephaly มีรอยแยกลึกในสมองของเด็ก
  • Holoprosencephaly ภาวะที่สมองของเด็กไม่แยกตัวออกจากกัน เพื่อพัฒนาเป็นซีกสมอง
  • Hydrocephalus ภาวะที่โพรงสมองคั่งน้ำ

การวินิจฉัยการฝ่อหายไปของสมองส่วนคอร์ปัส คาโลซัม

ถ้ามีการฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัมของทารกที่อยู่ในครรภ์ แพทย์อาจตรวจเจอด้วยการอัลตราซาวด์ก่อนที่จะมีการคลอด หรือถ้าแพทย์ตรวจพบอาการอันสงสัยได้ว่ามีการฝ่อหายไปของคอร์ปัส คาโลซัม ก็อาจให้ตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

ในบางรายที่แพทย์ไม่สามารถตรวจเจอความผิดปกตินี้ได้จนกระทั่งคลอด หากแพทย์สงสัยว่า เด็กมีภาวะนี้ แพทย์จะให้เด็กเข้ารับการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือซีทีสแกน (CT scan) เพื่อดูว่า เด็กมีภาวะนี้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาภาวะนี้ให้หายขาดได้ แต่แพทย์สามารถให้การรักษาเพื่อช่วยควบคุมอาการของโรคได้ เช่น การจ่ายยาเพื่อควบคุมอาการชัก และแนะนำให้ให้เด็กเข้ารับการบำบัดต่างๆ ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด การบำบัดด้านการพูด และการทำกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยควบคุมอาการของโรค

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้แม่และทารกในครรภ์ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์และคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัยคือ การฝากครรภ์กับแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์

การฝากครรภ์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ทุกช่วงอายุครรภ์ รวมทั้งตรวจสุขภาพของแม่ ให้คำแนะนำในการดูแลครรภ์จนกระทั่งครบกำหนดคลอด

ที่สำคัญหากมีปัญหา หรือภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้นระหวางตั้งครรรภ์ แพทย์จะสามารถรักษา หรือแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ทันท่วงที


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • Christine Case-Lo, What Causes Agenesis of the Corpus Callosum? (https://www.healthline.com/symptom/agenesis-of-the-corpus-callosum), 18 June 2020.
  • Luders, Eileen; Thompson, Paul M.; Toga, Arthur W. (18 August 2010). “The Development of the Corpus Callosum in the Healthy Human Brain”. Journal of Neuroscience. 30 (33): 10985–10990. doi:10.1523/JNEUROSCI.5122-09.2010. PMC 3197828. PMID 20720105.
  • Velut, S; Destrieux, C; Kakou, M (May 1998). “[Morphologic anatomy of the corpus callosum]”. Neuro-Chirurgie. 44 (1 Suppl): 17–30. PMID 9757322.
Scroll to Top