ทำ PRK ผ่าตัดรักษาสายตา ข้อจำกัดน้อย ราคาไม่สูง scaled

ทำ PRK ผ่าตัดรักษาสายตา ข้อจำกัดน้อย ราคาไม่สูง

ปัญหาสายตาสั้น ยาวหรือเอียง นับเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเกิดจากพันธุกรรม หรือเกิดพฤติกรรมการใช้สายตาอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น มองจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง อ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ

ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงมีนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง ขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือการทำ PRK การผ่าตัดรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง แบบถาวรด้วยเลเซอร์ ซึ่งเป็นวิธีพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและง่ายที่สุด เทียบกับการผ่าตัดรักษาสายตาแบบอื่นๆ

การทำ PRK คืออะไร?

การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy) คือ วิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง แบบถาวร โดยใช้เทคนิคการปรับแต่งความโค้งที่กระจกตาด้วยการใช้แสงเลเซอร์

การทำ PRK นับเป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์เป็นรุ่นแรกๆ ที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ข้อจำกัดไม่มาก ที่สำคัญราคาย่อมเยา

การทำ PRK เหมาะกับใคร?

การทำ PRK ผ่าตัดรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง นับว่า เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดค่อนข้างน้อย โดยเหมาะกับผู้ที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้

  • อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • มีสายตาสั้นสูงสุดไม่เกิน 800 หากมีสายตาเอียงร่วมด้วย ค่าสายตารวมกันต้องไม่เกิน 600
  • มีสายตายาวสูงสุดไม่เกิน 300 หากมีสายตาเอียงร่วมด้วย ค่าสายตารวมกันต้องไม่เกิน 600
  • มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี
  • มีสุขภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่เป็นโรคที่มีผลต่อการหายของแผล เช่น โรคเบาหวาน รูมาตอยด์
  • ไม่มีโรคของกระจกตาหรือโรคตาที่รุนแรง เช่น จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก
  • ไม่มีประวัติผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์ รวมถึงต้องมีการประเมินภาวะภูมิแพ้ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งหลังการผ่าตัด
  • ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำเลสิกได้ เช่น กระจกตาบาง กระจกตาถลอกง่าย มีอาการตาแห้งกว่าปกติ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคต้อหิน (ซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า สามารถรักษาสายตาด้วย PRK ได้)

การเตรียมตัวก่อนการทำ PRK

การทำ PRK แม้จะเป็นการผ่าตัดเล็ก แต่ก็จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดเช่นกัน

จักษุแพทย์จะนัดตรวจประเมินสายตาโดยละเอียด ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจควรงดสวมคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มอย่างน้อย 3 วัน หรือคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งอย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะกดทับกระจกตา ทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้

การถอดคอนแทคเลนส์จะช่วยให้กระจกตาคืนรูปตามธรรมชาติ เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำที่สุด

การตรวจประเมินสายตาจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงมีรายละเอียดดังนี้

  • ตรวจวัดค่าความสั้น ยาว เอียง ของสายตา
  • ตรวจวัดค่าความดันลูกตา
  • ตรวจค่าความโค้งความหนาของกระจกตา
  • ตรวจค่าความเพี้ยนในการรวมแสงระดับสูง
  • ตรวจวัดระดับการมองเห็น
  • ตรวจวัดค่าความผิดปกติของสายตาก่อนและหลังการขยายม่านตา
  • ตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียดโดยจักษุแพทย์

ทั้งนี้ในวันที่มาตรวจประเมินสายตา ผู้เข้ารับการตรวจควรมาพร้อมญาติหรือผู้ติดตาม เนื่องจากมีการหยอดยาขยายม่านตา อาจทำให้การเดินทางลำบาก และควรนำแว่นกันแดดมาด้วย

ขั้นตอนการทำ PRK

การทำ PRK นับว่ามีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลารักษาไม่นานนัก ไม่ต้องวางยาสลบ เพียงแค่ใช้การหยดยาชาที่ดวงตาก็เพียงพอ โดยระยะเวลาในการทำ PRK ทั้งสองข้างประมาณ 20-30 นาที มีขั้นตอนดังนี้

  1. เตรียมผิวกระจกตา จักษุแพทย์จะหยดแอลกอฮอล์เจือจาง (ความเข้มข้นประมาณ 20%) ลงบนกระจกตา ทิ้งไว้ประมาณ 30-40 วินาที แอลกอฮอล์จะทำให้เซลล์กระจกตาชั้นนอกสุดหลุดออกง่ายขึ้น โดยจะมีการวางอุปกรณ์เพื่อขังแอลกอฮอล์ไว้ไม่ให้ไหลไปบริเวณอื่น
  2. ลอกผิวกระจกตา จักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือในการลอกผิวกระจกตาออก
  3. ปรับแต่งผิวกระจกตา จักษุแพทย์จะใช้เลเซอร์* ยิงเข้าไปบริเวณผิวกระจกตาเพื่อปรับแต่งผิวกระจกตา ตามค่าสายตาที่ได้คำนวนเอาไว้ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที
  4. ป้องกันการระคายเคือง จักษุแพทย์จะปิดกระจกตาด้วยคอนแทคเลนส์ชนิดไม่มีค่าสายตา เพื่อลดการระคายเคือง โดยจะปิดไว้ประมาณ 4-7 วัน หากแผลหายสนิทแล้ว แพทย์จะเป็นผู้ถอดคอนแทคเลนส์ออกให้
  5. ปิดฝาครอบตา แพทย์จะปิดฝาครอบตาไว้เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน หลังจากนั้นจึงให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

*เลเซอร์ที่ใช้คือ Excimer Laser ซึ่งเป็นเลเซอร์ความยาวคลื่นสั้น 308 นาโนเมตร (ระดับอัลตราไวโอเลต) และเป็นแสงเลเซอร์แบบเย็น จะทำปฏิกิริยาเฉพาะพื้นผิวที่สัมผัสเท่านั้น ไม่กระจายไปด้านข้าง หรือทะลุผ่านเข้าไปภายในลูกตา จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย

การดูแลตัวเองหลังการทำ PRK

หลังการทำ PRK ควรมีการดูแลตัวเองตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดควรพักผ่อนให้มาก ไม่ควรดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือ หากมีน้ำตาไหล หรือคันบริเวณรอบดวงตา ห้ามแกะฝาครอบตาออกโดยเด็ดขาด แนะนำให้ใช้สำลีซับน้ำตารอบๆ ฝาครอบตาแทน
  • 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำ หรือฝุ่นเข้าตาและห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด
  • ปิดฝาครอบตาก่อนนอนทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละอองมาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมแว่นตากันลมเพื่อป้องกันฝุ่นและลมเข้าตา
  • งดแต่งหน้าโดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตาเป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • งดว่ายน้ำเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และงดดำน้ำเป็นเวลา 1 เดือน
  • หยอดยาปฏิชีวนะและน้ำตาเทียมตามคำแนะนำของแพทย์

ทั้งนี้หลังการผ่าตัด แพทย์จะนัดเพื่อติดตามอาการตามระยะเวลา 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี

การทำ PRK มีข้อดีอย่างไร?

การทำ PRK นับเป็นวิธีมาตรฐานในการแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง โดยมีข้อดีดังนี้

  • เป็นวิธีที่คงความแข็งแรงและสมบูรณ์ของกระจกตาไว้เหมือนเดิม
  • ขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลาไม่นาน
  • ข้อจำกัดน้อยกว่าการทำเลสิก
  • สามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง ได้อย่างถาวร
  • ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา และไม่มีการเย็บแผล
  • พบปัญหาตาแห้งหลังการทำน้อยกว่าการทำเลสิก
  • โอกาสเกิดผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย

การทำ PRK มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

แม้การทำ PRK จะเป็นวิธีการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยรวมทั้งมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของจักษุแพทย์ ดังนี้

  • การติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาอาการ
  • สายตาขาด หรือเกิน หากเกิดปัญหานี้จะไม่สามารถทำ PRK ซ้ำได้ ต้องแก้ไขด้วยวิธีการสวมแว่น หรือคอนแทคเลนส์แทน
  • การเห็นแสงกระจาย หรือมีรัศมีรอบดวงไฟ โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจเป็นในช่วงแรกหลังการผ่าตัด และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น
  • ความคมชัดไม่คงที่ เช่น บางวันมองเห็นชัด บางวันมองเห็นไม่ชัด หรือรู้สึกว่าตามัว โดยอาการดังกล่าวมักจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับภายใน 1-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
  • ภาวะตาแห้ง แพทย์มักจ่ายน้ำตาเทียมในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการ
  • อาการปวดหลังการผ่าตัด และ/หรือ ร่วมกับความไวผิดปกติของกระจกตา

การทำ PRK ต่างจากการทำเลสิกอย่างไร?

การทำเลสิกนับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกับ PRK คือ มีการใช้เลเซอร์ในการปรับแต่งความโค้งของกระจกตาเช่นเดียวกัน

แต่แตกต่างกันที่ PRK จะไม่มีการแยกชั้นกระจกตาออก ขณะที่การทำเลสิกจะมีการแยกชั้นของกระจกตาออก แล้วจึงยิงเลเซอร์ไปที่เนื้อกระจกตาเพื่อปรับเปลี่ยนความโค้ง

ก่อนจะปิดประจกตากลับลงไปโดยไม่ต้องเย็บ ซึ่งกระจกตาสามารถสมานและติดกันได้เองตามธรรมชาติ

ข้อดีของเลสิกคือ การระคายเคืองหลังการผ่าตัดจะเกิดได้น้อยกว่าการทำ PRK แต่เลสิกก็มีราคาสูงกว่า และมีข้อจำกัดมากกว่า (ผู้ที่มีอาการตาแห้ง หรือภาวะกระจกตาบาง จะไม่สามารถทำเลสิกได้

การทำ PRK ราคาเท่าไร?

การทำ PRK นับเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง แบบถาวรที่ราคาต่ำที่สุด

การผ่าตัดที่โรงพยาบาลรัฐ เริ่มต้นที่ 35,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเริ่มต้นที่ประมาณ 40,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาลนั้น

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำเลสิก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

  • โรงพยาบาลตา หู คอ จมูก, เลสิคคืออะไร, (https://eent.co.th/lasik/meaning/), 10 January 2020.
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า, การผ่าตัดแบบ PRK, (https://srisirilasik.com/prk/), 10 January 2020.
  • Stein R, Stein H, Cheskes A, Symons S. Photorefractive keratectomy and postoperative pain. American Journal of Ophthalmology. 1994 March 15; 117(3):403-405.

Scroll to Top