คู่มือไวรัส RSV ในเด็กและผู้ใหญ่ ฉบับสมบูรณ์

คู่มือไวรัส RSV ในเด็กและผู้ใหญ่ ฉบับสมบูรณ์

โรคไวรัส RSV เป็นหนึ่งในโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งเป็นอันตรายรุนแรงสำหรับทารกและเด็กเล็ก สามารถก่อให้เกิดปอดอักเสบได้ โรคไวรัส RSV เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่มักระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน

รู้จักเชื้อไวรัส RSV

เชื้อไวรัส RSV หรือชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Human orthopneumovirus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจหลายโรค เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอด หรือปอดอักเสบได้

หากเป็นการติดเชื้อในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด หรือผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ (ภูมิต้านทานโรคต่ำ) อาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้และอาจมีอันตรายถึงชีวิต

ใครคือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส RSV

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV ขั้นรุนแรง หรือขั้นที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี
  • เด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคปอดตั้งแต่กำเนิด
  • เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กที่ได้รับเคมีบำบัด หรือได้รับการปลูกถ่ายกระดูก
  • ทารกที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่แออัด
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด มีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคลูคิเมีย หรือผู้ติดเชื้อ HIV หรือเอดส์

สำหรับเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ เชื้อไวรัส RSV ไม่ถือเป็นเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง และมักจะเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งอาจทำให้มีอาการไอ หรือมีอาการคล้ายโรคหวัดทั่วไปเท่านั้น

เด็กโตและผู้ใหญ่จะมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและมีหลอดลมขนาดใหญ่ ทำให้อาการบวมและอักเสบในหลอดลมไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจมากจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย และอาการเจ็บป่วยมักหายเป็นปกติภาย 1-2 สัปดาห์

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV

เชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายได้ง่ายคล้ายโรคระบบทางเดินหายใจทั่วไป ผ่านละอองจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสสารคัดหลั่งเหล่านี้ที่ปะปนอยู่ตามสิ่งของ เครื่องใช้ แล้วเข้าสู่ร่างกายทางตา จมูก หรือปาก

เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมงบนวัตถุที่เป็นของแข็ง เช่น ลูกบิดประตู พื้นโต๊ะเคาน์เตอร์ คอกเตียง และของเล่น และสามารถอยู่ได้นานกว่าบนพื้นผิววัสดุอ่อนนุ่ม เช่น มือ หรือกระดาษชำระ

เหตุนี้เชื้อไวรัส RSV จึงมักติดต่อกันง่ายในเนอร์สเซอรี่ หรือโรงเรียน

ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุดในช่วง 2-3 วันแรกหลังได้รับเชื้อ อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ และมักจะระบาดในช่วงที่สภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลง

ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัส RSV มาก่อนสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้งได้และมักจะติดเชื้อในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการติดเชื้อครั้งก่อน แต่อาการเจ็บป่วยจะไม่รุนแรงเท่าเดิมและมักจะมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อซ้ำในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรังอาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้

อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV

โดยทั่วไปแล้ว สัญญาณและอาการที่บ่งชี้ว่า เกิดการติดเชื้อไวรัส RSV จะแสดงออกมาหลังจากการสัมผัสกับเชื้อประมาณ 4-6 วัน สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต

สัญญาณและอาการที่แสดงออกมาหลังการติดเชื้อไวรัส RSV จะคล้ายอาการของโรคไข้หวัด

  • จาม
  • คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล
  • ไอแห้ง
  • มีไข้ต่ำ
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะเล็กน้อย
  • รับประทานอาหารได้น้อยลง

อาการของการติดเชื้อรุนแรง

เชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดโรคปอดบวม หรือโรคหลอดลมอักเสบได้ (การอักเสบบริเวณหลอดลมฝอยที่เป็นท่อนำลมเข้าสู่ปอด)

สัญญาณและอาการดังกล่าวที่มักพบในทารกและเด็กเล็ก ได้แก่

  • มีไข้สูงขึ้นๆ ลงๆ (ประมาณ 38 องศา สำหรับเด็กอ่อนที่อายุไม่เกิน 3 เดือน)
  • จามบ่อย มีน้ำมูกไหลมีน้ำมูกเหนียว สีเหลือง เขียว หรือเทา
  • แน่นจมูก
  • ไออย่างรุนแรงจนเหนื่อย
  • ไอคล้ายเสียงหมาเห่า
  • หายใจมีเสียงวี๊ด (เสียงดังที่มักจะได้ยินเวลาหายใจออก)
  • หายใจเร็ว หอบ หรือหายใจลำบาก (เด็กที่มีอาการมักเลือกที่จะลุกขึ้นนั่งมากกว่านอนราบ)
  • อกบุ๋ม เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและผิวหนังของทารกจะบุ๋มลงไปอย่างเห็นได้ชัดเวลาหายใจเนื่องจากต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหายใจแต่ละครั้ง
  • ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ
  • ตัวลายเขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน
  • รับประทานน้อยลง เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลียผิดปกติ (เซื่องซึม)
  • หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย
  • ผิวซีดเซียว

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV ส่วนใหญ่จะสามารถหายจากอาการเจ็บป่วยได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยภาวะแทรกซ้อนของเชื้อไวรัส RSV ได้แก่

โรคปอดบวม

เป็นการอักเสบติดเชื้อในปอด ซึ่งเกิดอย่างน้อย 1 ใน 4 ของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV เป็นครั้งแรก โดยทั่วไปแล้ว ภาวะปอดอักเสบ (โรคปอดบวม) หรือภาวะหลอดลมปอดอักเสบ (โรคหลอดลมอักเสบ) ในทารก มักมีสาเหตุหลักมาจากเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง

เชื้อไวรัสจะปิดกั้นทางเดินหายใจโดยการทำให้หลอดลมฝอยที่เชื่อมเข้าสู่ปอดอักเสบและเต็มไปด้วยเสมหะ

ภาวะปอดอักเสบจะมีความรุนแรงเมื่อเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรัง

ภาวะติดเชื้อในหูส่วนกลาง

หากเชื้อโรคเข้าสู่ช่องว่างหลังแก้วหูจะเกิดการติดเชื้อในหูส่วนกลาง (หูชั้นกลางอักเสบ) ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในทารกและเด็กเล็ก

โรคหอบหืด

การติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรงในเด็กอาจทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดได้ในเวลาต่อมา

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

หากลูกของคุณมีอายุน้อยกว่า 3 เดือน คลอดก่อนกำหนด มีโรคเกี่ยวกับปอด หรือหัวใจ และมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่มีอาการของโรคไข้หวัด

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยว่า ได้รับเชื้อไวรัส RSV หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เองภายใน 1- 2 สัปดาห์ แม้บางรายจะยังมีอาการหายใจมีเสียงวี๊ดอยู่

หากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของการติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรงอย่างน้อย 1 อาการ หรือเป็นการติดเชื้อในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กอ่อนและผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ทันที

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคได้ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจร่างกายและทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV (rapid RSV test) ซึ่งจะทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 10 นาที โดยแพทย์อาจส่งตัวอย่างเสมหะจากจมูก หรือทางเดินหายใจส่วนบนของผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

การ x-ray ปอด อาจพบความผิดปกติที่เข้าได้กับโรค RSV

แพทย์อาจใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) ในการทดสอบระดับออกซิเจนในเลือด (โดยจะนำอุปกรณ์มาหนีบไว้ที่ปลายนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า) เพื่อตรวจดูว่า ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนเพียงพอหรือไม่

การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV

หากผู้ป่วยได้เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็จะสามารถหายจากโรคได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งโดยทั่วไปจะหายเป็นปกติได้ภายใน 2 สัปดาห์ในกรณีที่ติดเชื้อไม่รุนแรง

แต่หากติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรง แพทย์จะให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ และดูดเสมหะให้เป็นระยะ รวมถึงให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากมีภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคปอดบวม

ปัจจุบันเชื้อไวรัส RSV นั้นไม่มียารักษาจำเพาะ หรือวิธีการรักษาให้หายโดยตรงเช่นเดียวกับโรคไข้หวัด แต่สามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ดังนี้

  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าหากเป็นเด็กวัยยังไม่หย่านม ควรให้เด็กดื่มนมบ่อยที่สุดเท่าที่เด็กต้องการ
  • หยอดน้ำเกลือล้างจมูก 2-3 หยดลงในรูจมูกเพื่อละลายน้ำมูก หรือเสมหะ จากนั้นใช้ที่บีบดูดน้ำมูก หรือเครื่องดูดน้ำมูก เพื่อนำน้ำมูกออกมา
  • ให้ผู้ป่วยสูดดมไอน้ำจากเครื่องทำไอระเหยเพื่อให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นและหายใจได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาความสะอาดเครื่องมือดังกล่าวจากผู้ผลิต เพราะถ้าหากเครื่องมือสกปรก เชื้อโรคจะสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายขณะสูดดมไอน้ำ
  • ระวังไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ใกล้ควันบุหรี่ สีที่ยังไม่แห้ง ควันจากไม้ฟืน หรือฝุ่นควันอื่นๆ ที่รบกวนทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูดดมควันบุหรี่ที่จะทำให้อาการเจ็บป่วยจากเชื้อไวรัส RSV หรือไวรัสในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รุนแรงขึ้น
  • หากลูกของคุณอายุน้อยกว่า 3 เดือน คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยาพาราเซตามอลสำหรับทารก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยของลูก หากลูกของคุณอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณสามารถให้ยาไอบูโพรเฟน หรือพาราเซตามอลสำหรับเด็กแก่ลูกของคุณได้ในปริมาณที่เหมาะสม
  • คุณไม่ควรซื้อยาแก้หวัดมาให้ผู้ป่วยรับประทานเอง ยกเว้นได้รับการอนุญาตจากแพทย์ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจหายจากอาการป่วยได้เร็ว แต่อาจจะส่งผลเสียที่รุนแรงกว่าเดิม หรืออาจมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV แต่เราสามารถดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส RSV ได้ ดังนี้

  • ล้างมือให้ถูกวิธีบ่อยๆ ควรให้เด็กๆ และคนรอบข้างหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนสัมผัสตัวลูกของคุณ
  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและสถานที่ที่มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทารกดังกล่าวคลอดก่อนกำหนด หรืออยู่ในช่วงอายุ 2 เดือนแรก อาจจะให้ลูกอยู่บ้านในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาด (ปกติจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน โดยเชื้อจะระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์)
  • ทำความสะอาดสิ่งรอบตัว ควรหมั่นรักษาความสะอาดในห้องครัวและเคาน์เตอร์ห้องน้ำอยู่เสมอ และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วทันที
  • ไม่ใช้ของใช้ เช่น แก้วน้ำจานชาม ร่วมกับผู้อื่น เวลาที่คุณ หรือคนใกล้ตัวมีอาการป่วย ควรใช้แก้วน้ำส่วนตัว หรือใช้แก้วน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และควรมีการติดป้ายชื่อแก้วน้ำส่วนตัวของแต่ละคน
  • ไม่สูบบุหรี่ ทารกที่ได้รับควันบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และอาจมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าปกติ หากคุณสูบบุหรี่ จะต้องไม่สูบในบ้าน หรือในรถ
  • ทำความสะอาดของเล่น ของใช้ต่างๆ อยู่เสมอ คุณควรทำความสะอาดของเล่น ของใช้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ลูก หรือเพื่อนลูกของคุณไม่สบาย
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี

ยาป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

ยาป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือที่เรียกว่า “Palivizumab (Synagis)” สามารถช่วยป้องกันโรคให้แก่เด็กที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากเชื้อไวรัส RSV ได้

ยาดังกล่าวควรใช้ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 29) ที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ แต่ไม่ควรใช้กับเด็กที่คลอดหลังอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 29 ที่มีสุขภาพแข็งแรง

นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวกับเด็กที่มีสภาวะดังต่อไปนี้

  • ทารกคลอดก่อนกำหนดที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
  • ทารกอายุน้อยกว่า 12 เดือนที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด
  • เด็กอ่อนและเด็กวัยหัดเดินอายุต่ำกว่า 2 ปีที่ได้รับออกซิเจนอย่างน้อย 1 เดือนตั้งแต่แรกเกิด และยังคงต้องเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับปอด
  • เด็กอายุไม่เกิน 2 ปี ที่อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำในช่วงฤดูที่ไวรัส RSV ระบาด

แพทย์จะให้ยานี้เดือนละครั้งเป็นระยะเวลา 5 เดือนในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาดหนัก ซึ่งยานี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเท่านั้น และยาจะไม่มีผลหากเด็กมีอาการป่วยมาก่อนแล้ว

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนแบบพ่นจมูกเพื่อใช้ป้องกันไวรัส RSV


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • พญ.สุชาดา เรืองเลิศพงศ์ และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ไวรัส อาร์เอสวี (RSV) (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1343), 28 เมษายน 2563.
  • โรงพยาบาลราชวิถี, 5 เรื่องควรรู้ ปกป้องลูกน้อยจากไวรัส RSV (https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=3607), 28 เมษายน 2563.
  • WebMD, RSV: Symptoms, Causes, Prevention, Treatments (https://www.webmd.com/lung/rsv-in-babies#1), 27 April 2020.
Scroll to Top