เมื่อขึ้นชื่อว่ายาเสพติดแล้ว ล้วนก่อให้เกิดโทษทั้งสิ้น ไม่ว่าจะต่อตัวผู้เสพเอง ต่อคนรอบตัว หรือต่อสังคมในวงกว้าง
วันนี้ HDBlog จะพามารู้จักกับลักษณะและโทษของยาเสพติด 10 ชนิด เพื่อให้เข้าใจถึงความอันตรายที่มีต่อร่างกายอย่างละเอียด
สารบัญ
1. โทษของยาบ้า
ยาบ้า ยาม้า ยาขยัน เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือแอมเฟตามีน (Amphetamine) จะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพติดยา ทั้งทางกายและทางใจ ยาบ้ามีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีส้ม แดง น้ำตาล หรือเขียว มีอักษร WY, Y, R อยู่บนเม็ดยา
ในช่วงที่เริ่มต้นเสพ ยาบ้าจะออกฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้เกิดอาการต่อไปนี้ เช่น
- ตื่นตัว ไม่ง่วง
- มีกำลังวังชา
- ตึงเครียด
- ใจสั่น
- ความดันโลหิตสูง
- อัตราการเต้นของจังหวะหัวใจเร็วขึ้น
แต่เมื่อฤทธิ์ยาหมดลง ระบบสั่งการทางสมองก็จะช้าลงไปด้วย ทำให้ตัดสินใจช้า ส่งผลให้ผู้เสพอ่อนเพลียมากกว่าปกติ และยิ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้
ถ้าผู้เสพยังคงเสพยาบ้าติดต่อกันเป็นเวลานานหรือเสพมากเกินขนาด ฤทธิ์ยาก็จะยิ่งทำลายระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงอวัยวะต่าง ๆ เช่น
- สมองเสื่อม
- มีอาการประสาทหลอน เกิดภาพลวงตา
- วิตกกังวล หวาดระแวง
- เสียสติ คลุ้มคลั่งเป็นบ้า จนสามารถทำร้ายผู้อื่นและตนเองได้
- เกิดภาวะหมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
บทความที่น่าสนใจ: รู้จัก “ยาบ้า” หนึ่งในยาเสพติดที่ระบาดหนักอยู่ในประเทศ
2. โทษของเฮโรอีน
เฮโรอีน มีลักษณะเป็นผงสีขาว มีฤทธิ์กดระบบประสาท เสพได้หลายวิธี เช่น กิน สูบ ฉีดเข้าเส้นเลือด สูบ หรือแม้แต่ใช้สอดทางทวารหนัก
การเสพเฮโรอีนจะทำให้ผู้เสพรู้สึกผ่อนคลาย ได้หนีจากความตึงเครียดและความวุ่นวาย มีความสุข ลดอาการเจ็บปวด หรือไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย นอกจากนี้ยังทำให้รู้สึกมึนเมา และการรับรู้ตัวลดลง เบลอ อาการคล้ายกึ่งง่วงกึ่งตื่น
เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ทำให้เสพติดได้ง่าย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังทำให้เกิดโทษในระยะยาวที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่
- อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ทั้งกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ สันหลัง บั้นเอว และปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ผิวหนังออกเป็นสีแดง
- นอนไม่หลับ
- กระสับกระส่าย ทุรนทุราย อึดอัด
- มีอาการจุกภายในอก รู้สึกเหมือนจะขาดใจตาย
- อ่อนเพลียอย่างหนัก มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ
- มีอาการชัก น้ำลายไหลฟูมปาก
- นัยน์ตาดำหดลง
- เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน โรคปอดอักเสบ
- อาจทำให้ตับและไตเสื่อม
- มึนงง ความจำเสื่อม
- หายใจไม่ออก กดระบบทางเดินหายใจ
- หัวใจเต้นช้าลง
- เกิดภาวะเส้นเลือดหดตัว
- เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
นอกจากฤทธิ์ของยา ผู้เสพยังเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV: Human Immunodeficiency Virus) จากกการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือเป็นฝีจากการฉีดได้
บทความที่น่าสนใจ: เฮโรอีน (Heroin) อาการหลังเสพ ลงแดง วิธีบำบัด
3. โทษของยาอี
ยาอี (E จาก Ecstasy แปลว่า ความสนุกสนานเบิกบานใจ) หรือยาเลิฟ เป็นยาที่มักใช้ในงานปาร์ตี้ และแพร่หลายในกลุ่มผู้ที่เที่ยวกลางคืน มีฤทธิ์ทำให้กล้าพูด กล้าเผยความรู้สึกในใจมากกว่าปกติ และทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ
หลังเสพยาอีเข้าไปแล้ว ยาจะออกฤทธิ์ภายใน 45 นาที และอยู่ในร่างกายได้ยาวนานถึง 6–8 ชั่วโมง ในครั้งแรกที่เสพ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทแค่ระยะสั้น ๆ ก่อน
จากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาท ส่งผลให้ติดยาทางด้านจิตใจ และมีอาการร่วมอื่น ๆ ตามมาด้วย ได้แก่
- ใจสั่น
- ระดับความดันโลหิตสูง
- เหงื่อออกเยอะ
- เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
- ระบบประสาทการรับรู้เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ได้ยินและมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดปกติไปจากความจริง ทำให้เห็นภาพหลอน
4. โทษของโคเคน
ฤทธิ์ของโคเคนขึ้นอยู่กับวิธีและปริมาณที่เสพเข้าร่างกาย โดยกระตุ้นระบบประสาท และส่งผลต่อจิตใจมากกว่าร่างกาย เมื่อไม่ได้เสพ ก็อาจรู้สึกขาดยา เป็นอาการทางกายที่ไม่รุนแรงเท่าไร
โคเคนเป็นยาเสพติดที่อันตรายต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจได้รับการกระตุ้นอยู่ตลอด กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ จนบีบตัวต่อไปไม่ได้ และจบลงด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
รวมถึงโคเคนยังส่งผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ระดับความดันโลหิตสูง
- มีไข้
- นอนไม่หลับ เกิดภาพหลอน
- หัวใจเต้นอย่างรุนแรง
- กระวนกระวาย
- ผนังจมูกขาดเลือด ส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกฝ่อ มีการฉีกขาด หรือทะลุ
- สมองจะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการชัก
- เลือดออกในสมอง อาจเกิดเนื้อสมองตายบางส่วน
นอกจากนี้ หากผู้เสพยังคงเสพโคเคนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างหนักได้ด้วย
5. โทษของยาเค
ยาเค มีฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรง ทำให้ผู้เสพมีอาการเคลิบเคลิ้ม หลงผิด คิดว่าตนเป็นผู้มีอำนาจวิเศษ
นอกจากนี้ การรับรู้และการตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็จะเปลี่ยนไปด้วย เช่น การมองเห็น หรือการได้ยินเสียง
ฤทธิ์ของยาเคมักส่งผลต่อระบบการคิด การรับรู้ และการตอบสนองของผู้เสพ โดยจะก่อให้เกิดอาการต่อไปนี้
- เกิดภาวะติดขัดในระบบหายใจ
- มีปัญหาโรคจิต เป็นคนวิกลจริต
- มีความคิดสับสน
- หูแว่ว
- ตาลาย
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสัมพันธ์กันได้
- เคลื่อนไหวทางด้านร่างกายไม่เป็นไปในจังหวะที่สัมพันธ์กันดังเดิมอีก
- สมองส่วนที่ทำงานด้านการรับรู้และการตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไป
บทความที่น่าสนใจ: ยาเค (Ketamine) อาการ ผลข้างเคียง ข้อควรระวัง
6. โทษของกัญชา
กัญชาจะออกฤทธิ์หลายอย่างกับระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้เสพเกิดอาการประสาทหลอน มีภาวะอารมณ์และจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้เสพเกิดอาการต่อไปนี้
- มีอาการเหมือนเมาสุราอ่อน ๆ
- มีอาการง่วงซึม
- ตื่นเต้น ตื่นตัว
- คุยเก่ง สนุกสนาน หัวเราะร่าเริงได้ตลอดเวลา
ถ้าร่างกายได้รับปริมาณกัญชาเข้าไปมากเกินขนาด ก็จะเกิดภาวะผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น
- ประสาทหลอน
- เห็นภาพลวงตา
- หูแว่ว
- ระบบความคิดสับสน มึนงง
- ควบคุมตนเองไม่ได้
ถ้าเสพกัญชาในปริมาณมาก หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ฤทธิ์จากกัญชาก็จะเข้าไปทำลายสมองและปอด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด อีกทั้งยังทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ยิ่งเสื่อมสภาพกว่าเดิมด้วย
7. โทษของกระท่อม
ใบกระท่อม มีสารไมตราไจนิน (Mitragynine) ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้เสพติดทางจิตใจมากกว่าทางร่างกาย ถ้าขาดยาก็จะเกิดอาการลงแดง แต่ไม่รุนแรงมาก
ลักษณะที่เห็นได้ชัดของผู้เสพใบกระท่อม คือ จะทำงานได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย มีเรี่ยวแรง มีพลังเยอะ ทนต่อสภาวะอากาศได้ทั้งร้อนและหนาว
โทษจากใบกระท่อมจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางประสาท และผิวหนังของผู้เสพ ได้แก่
- หนาวสั่น เมื่ออยู่ท่ามกลางอากาศชื้น
- จิตใจสับสน โลเล
- ประสาทหลอน
- ผิวหนังแห้งดำ ไหม้เกรียม
- ปากแห้ง
- ท้องผูก
- นอนไม่หลับ
- สภาพร่างกายเสื่อมโทรมอย่างหนัก
8. โทษของมอร์ฟีน
มอร์ฟีนจะออกฤทธิ์กดระบบประสาท หากไม่ได้เสพอย่างต่อเนื่อง จะเกิดอาการขาดยา โดยเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ
โทษของมอร์ฟีนจะทำให้เกิดอาการเหล่านี้ เช่น
- สมองช้า เกิดอาการมึน ๆ ชา ๆ
- สติปัญญาเสื่อม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
- ร่างกายทรุดโทรมอย่างหนัก
- ท้องผูก
- คลื่นเหียน
- อาเจียน
- คันตามใบหน้า
- ตาแดง
- ง่วงซึม
9. โทษของฝิ่น
ฝิ่นจะออกฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้เสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดภาวะขาดยาอีกด้วย
ฝิ่นจะส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้
- ตาหรี่
- พูดจาวกวนไม่รู้เรื่อง
- ความคิดเชื่องช้า
- จิตใจเลื่อนลอย
- โลเล สับสน
- มีอาการง่วงซึมตลอดเวลา
- ชีพจรเต้นช้าลง
นอกจากนี้ ถ้าเสพติดฝิ่นเกินขนาด ฤทธิ์ของฝิ่นจะเข้าไปกดระบบการหายใจ ส่งผลให้ผู้เสพเสียชีวิตได้ในที่สุด
10. โทษของเห็ดขี้ควาย
เห็ดขี้ควาย มีสารอันตรายสำคัญอย่างไซโลไซบีน (Psilocybin) และไซโลซีน (Psilocin) ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะออกฤทธิ์หลอนประสาท ทำให้ผู้เสพเกิดอาการมึนเมา เคลิบเคลิ้ม และเกิดอาการบ้าคลั่งได้
เห็ดขี้ควายเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์เข้าไปทำลายระบบประสาทได้อย่างรุนแรง หากผู้เสพมีภูมิต้านทานน้อยอยู่แล้ว เมื่อเสพเข้าไปในปริมาณมาก ๆ ก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
บทความที่น่าสนใจ: เห็ดขี้ควาย เห็ดวิเศษ หรือเห็ดเมา หนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาเสพติด ตอบโดยแพทย์
Q: สวัสดีค่ะ อยากทราบว่า เสพยาเสพติดตั้งแต่อายุครรภ์ 1–14 สัปดาห์ จะมีผลต่อทารกในครรภ์ไหมคะ
A:
(A1) คำตอบโดย นพ. สุเทพ สุขนพกิจ: เป็นอันตรายมากนะครับ ควรไปพบแพทย์ และหาทางเลิกใช้ยาเสพติดโดยเร็วที่สุดครับ
เพราะยาเสพติดอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง เกิดการทำลายเซลล์ประสาท และยังทำให้เส้นรอบศีรษะทารกมีขนาดเล็กด้วย
นอกจากนี้ ฤทธิ์ยายังส่งผลต่อสมาธิ ความจำ และมีผลทำให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมในระยะยาวอีกด้วยครับ
(A2) คำตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก): ยาเสพติดจะส่งผลให้เด็กมีความผิดปกติหลายด้าน ดังนี้
- มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
- มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด
- ภาวะเลือดออกในสมอง
- ภาวะสมองตาย
- ทำให้มีการทำลายเซลล์ประสาท
- เส้นรอบศีรษะมีขนาดเล็ก ซึ่งมีผลต่อสมาธิ ความจำ และมิติสัมพันธ์ (Spatial skills) และมีผลทำให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมในระยะยาวอีกด้วย
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดทุกชนิด ไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม เพราะผลกระทบที่ตามมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
ส่วนในรายที่ตั้งครรภ์แล้วและยังไม่เลิก หรือเพิ่งเลิกใช้สารเสพติด ก็ต้องระมัดระวังทารกในครรภ์เป็นพิเศษ โดยระหว่างที่ตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติดังนี้
- หมั่นไปพบสูติแพทย์เพื่อติดตามผลของพัฒนาการทารกในครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของสูติแพทย์อย่างเคร่งครัด
- งด ละ เลิก สิ่งเสพติดทุกชนิดอย่างเด็ดขาด
- หากคนในครอบครัวสูบบุหรี่ ควรขอความร่วมมือให้ไปสูบบุหรี่ภายนอกบ้าน เพราะควันบุหรี่มีสารพิษชื่อทาร์ หรือน้ำมันดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อทารกในครรภ์และว่าที่คุณแม่ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวมากกว่าตัวผู้สูบเองเสียเอง
- เมื่อคลอดบุตรแล้วก็ไม่ควรละเลย ควรพาทารกไปพบกุมารแพทย์เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรอง ประเมินพัฒนาการ และพฤติกรรมเป็นระยะ ๆ เพื่อหาความผิดปกติร่วมที่พบได้บ่อย เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยินบกพร่อง เพื่อให้การช่วยเหลือ กระตุ้นพัฒนาการโดยเร็วเพื่อลดปัญหาทางด้านการเรียนรู้และปัญหาสังคมที่จะตามมา (เสริมคำตอบโดย นพ.ชยากร พงษ์พยัคเลิศ)
Q2: สารกัญชาอยู่ในร่างกายเราได้กี่วัน
A2 คำตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก): ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความถี่ในการใช้ค่ะ โดยจถะตรวจพบได้ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 3 เดือนค่ะ
Q3: เรากำลังจะต้องเข้ารับการผ่าตัดและต้องตรวจเลือดก่อนผ่าค่ะ ปกติแล้วเราจะใช้กัญชาบ่อยเกือบทุกวัน วันละ 2–3 ชั่วโมง อยากทราบว่า หมอจะตรวจพบสารเสพติดของกัญชาในเลือดเราไหมคะ
A3 คำตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก): การตรวจเลือดก่อนผ่าตัด เป็นการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย ร่วมกับหาความผิดปกติอื่น ๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัด
สิ่งที่คุณหมอสั่งตรวจส่วนมาก ได้แก่ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เกลือแร่ในเลือด น้ำตาล การทำงานของไต และความเสี่ยงอื่น ๆ แล้วแต่โรคที่เป็น
ส่วนเรื่องสารกัญชาที่ตกค้างในเลือดจะอยู่นานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สูบมานานแต่ไหน ความถี่ ปริมาณ ความเข้มข้นของพันธ์กัญชาที่ใช้ แต่โดยส่วนมากสารที่ตกค้างจะอยู่ได้นานเป็นเดือน ๆ ค่ะ
ส่วนในกรณีของคุณถามว่าจะตรวจพบไหม ต้องตอบว่า พบค่ะ (ถ้าคุณหมอสั่งตรวจสารกัญชา) แต่ถ้าโรคที่ผ่าตัดที่ไม่เกี่ยวกับการตรวจหาสารเสพติด คุณหมอก็ไม่สั่งตรวจค่ะ (เพราะจะสิ้นเปลืองน้ำยาโดยใช่เหตุ)
ยาเสพติดนั้นไม่ใช่แค่ผิดกฎหมาย แต่ยังมีโทษมากมาย ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
อย่าลืมปกป้องตัวเองและคนที่คุณรักให้ห่างไกลจากยาเสพติด รู้จักพูดคุยถึงอันตราย หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกลุ่มคนสุ่มเสี่ยง ปฏิเสธเมื่อมีคนเสนอ
หลายคนมักหันไปใช้ยาในยามที่จิตตก หดหู่ ซึมเศร้า ดังนั้น ถ้าใจพังเมื่อไร อย่าลืมปรึกษาคนสนิทรอบตัวที่ไว้ใจได้ หรือพบจิตแพทย์ เพราะการใช้ยาเสพติด ไม่ใช่ทางออก แต่เป็นทางตันที่ยิ่งทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลงในระยะยาว
บทความที่น่าสนใจ: ตรวจสารเสพติด ในปัสสาวะและเลือด อยู่ในร่างกายกี่วัน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย