ยาธาตุน้ำแดงดีอย่างไร วิธีรับประทาน และข้อควรระวัง scaled

ยาธาตุน้ำแดงดีอย่างไร วิธีรับประทาน และข้อควรระวัง

ยาธาตุน้ำแดงจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หลายคนต้องเคยรับประทาน เพราะมีคุณประโยชน์ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายอย่าง แต่หลายคนก็อาจยังสับสนเรื่องวิธีรับประทานยาธาตุน้ำแดงอย่างเหมาะสม จริงๆ แล้วยาธาตุน้ำแดงมีความแตกต่างไปจากยาธาตุน้ำขาวอย่างไร

ความหมาย และสรรพคุณของยาธาตุน้ำแดง

ยาธาตุน้ำแดง คือ ยาผสมสารสมุนไพรที่ใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยมีใช้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่สูตรการผสมยาอาจแตกต่างกันไป

สรรพคุณหลักๆ ของยาธาตุน้ำแดง คือ ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการเรอเหม็นเปรี้ยว ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และอาการจุกเสียดแน่นท้อง

ส่วนผสมของยาธาตุน้ำแดง ได้แก่

  • สารโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate)
  • สารสกัดจากสมุนไพร หรือทิงเจอร์ (Tincture) เช่น ทิงเจอร์บอระเพ็ด (Tinospora Tincture) รูบาร์บ หรือโกฐน้ำเต้า (Rhubarb Tincture) กระวาน (Cardamom Tincture) บอระเพ็ด (Tinospra Tincture) ขิงอ่อน (Weak Ginger Tincture) ขิงเข้มข้น (Strong Ginger Tincturer)
  • สาระเหยจากเหล้าสาระแหน่ (Spirit of Peppermint)
  • เกล็ดสาระแหน่ หรือสารเมนทอล (Menthol)
  • น้ำมันดิลล์ (Dill water)
  • การบูร (Camphor)

รสชาติของยาธาตุน้ำแดงจะเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย บางคนอาจรู้สึกว่า ยามีรสชาติหวาน ซ่า ให้ความรู้สึกเผ็ดร้อนจากเหล้าสาระแหน่ในลำคอเล็กน้อย

วิธีรับประทานยาธาตุน้ำแดงอย่างเหมาะสม

หลักการรับประทานยาธาตุน้ำแดงที่ถูกต้องคือ ให้เขย่าขวดก่อนรับประทาน และรับประทานตามเวลาในปริมาณดังต่อไปนี้

  • ผู้ใหญ่ รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
  • เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้งเช้า กลางวัน เย็น ครั้งละครึ่ง-1 ช้อนโต๊ะ

นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานยาธาตุน้ำแดงติดต่อกันมากเกิน 2 สัปดาห์ด้วยนอกเหนือจากแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้ร่างกายมีความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมเกลือโซเดียม ค่าเอนไซม์ในตับสูงเกินไป และทำให้ค่ากรดด่างในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดภาวะเลือดเป็นด่างได้

หากรับประทานยาธาตุน้ำแดงแล้วอาหารเจ็บป่วยยังไม่ดีขึ้นควรไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการ ที่สำคัญควรพกยาธาตุน้ำแดงที่รับประทานไปด้วย หรือแจ้งยี่ห้อของยาธาตุน้ำแดงที่รับประทาน เพื่อให้แพทย์ได้ทราบข้อมูลการรับประทานยาก่อนหน้านี้

ข้อควรระวังในการรับประทานยาธาตุน้ำแดง

  • หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้ที่มีอาการแพ้แอลกอฮอล์ รวมถึงผู้รับประทานทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการข้างเคียงจากการบริโภคแอลกอฮอล์ ควรระมัดระวังในการรับประทานยาธาตุน้ำแดง ไม่ควรรับประทานในปริมาณเกินกำหนด
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ และโรคไตห้ามรับประทานยาธาตุน้ำแดงเด็ดขาด เพราะมีปริมาณเกลือโซเดียมค่อนข้างสูง (ประมาณ 0.15-0.60 กรัม) จึงอาจเป็นพิษต่อร่างกาย และภาวะสุขภาพที่ต้องควบคุมปริมาณเกลือในร่างกาย
  • ยาธาตุน้ำแดงเป็นยาที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยถึงประมาณ 6-10% ซึ่งสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ หรือไวน์ด้วยซ้ำ จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการรับประทาน

หากต้องการรับประทานยาธาตุน้ำแดง แต่มีโรคประจำตัวที่กล่าวมาข้างต้นควรปรึกษากับแพทย์ประจำตัวทุกครั้งก่อนใช้ยา หรือหากยังไม่มีโรคกลุ่มดังกล่าว แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประจำ ชอบรับประทานอาหารรสจัด

หากมีพฤติกรรมเหล่านี้ควรหาโอกาสไปตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ตรวจการทำงานของไต หรือตรวจสุขภาพด้านอื่นๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การตรวจสุขภาพจะทำให้ได้รู้ว่า สุขภาพของตนเองเป็นอย่างไร มีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ หรือต้องเฝ้าระวังด้านใดเป็นพิเศษ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรับประทานยาธาตุน้ำแดง

อีกสิ่งที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับยาธาตุน้ำแดง คือ

  • ยาธาตุน้ำแดงไม่สามารถใช้เพื่อรักษาอาการอาหารเป็นพิษและโรคกระเพาะอาหารได้ หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องอย่างหนัก ควรรีบไปพบแพทย์ อย่าเพิ่งรับประทานยารักษาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร หรือระบบขับถ่ายโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ยาธาตุน้ำแดงไม่สามารถรักษาโรคกรดไหลย้อนได้ แต่ทำได้เพียงช่วยบรรเทาอาการของโรคเท่านั้น เพราะตัวยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ออกมาแสดงชัดเจนว่า ยาตัวนี้สามารถใช้รักษาสำหรับโรคกรดไหลย้อนโดยเฉพาะได้

ทางที่ดีหากคุณเป็นโรคกรดไหลย้อน ควรปรึกษาแพทย์อีกครั้งว่า ควรรับประทานยาตัวใดจึงจะเหมาะสม

ความแตกต่างระหว่างยาธาตุน้ำแดงกับยาธาตุน้ำขาว

เพราะขึ้นชื่อว่า เป็นยาธาตุเหมือนกัน หลายคนจึงคิดว่า ยาทั้งสองชนิดนี้น่าจะมีคุณสมบัติเหมือนๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาธาตุน้ำแดงกับยาธาตุน้ำขาวนั้นความแตกต่างกันทั้งเรื่องส่วนประกอบและสรรพคุณของตัวยา

โดยยาธาตุน้ำขาวจะมีส่วนประกอบหลักๆ คือ

  • ฟีนิลซาลิไซเลท (Phenyl salicylate)
  • น้ำมันโป๊ยกั๊ก (Anise oil)
  • เกล็ดสาระแหน่ หรือสารเมนทอล

สรรพคุณของยาธาตุน้ำขาวโดยทั่วไปจะคล้ายกับยาธาตุน้ำแดงนั่นคือ ช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทำให้รู้สึกสบายท้องมากขึ้น

ส่วนสรรพคุณที่แตกต่างอย่างชัดเจนของยาธาตุน้ำแดงกับยาธาตุน้ำขาวคือ ยาธาตุน้ำแดงสามารถใช้ลดกรดในกระเพาะอาหารได้ ในขณะที่ยาธาตุน้ำขาวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆในลำไส้ สามารถใช้รักษาอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงได้

ข้อควรระวัง สำหรับยาธาตุน้ำขาวคือ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน

ยาธาตุน้ำแดงเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัยอะไร ใครๆ ก็สามารถรับประทานได้ แต่ความจริงยาตัวนี้มีข้อควรระวังในการใช้ที่ทุกคนต้องรู้ เนื่องจากเป็นยาใกล้ตัวที่เรามักเลือกใช้กันบ่อยๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น จึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการใช้งานได้เช่นกัน

หากคุณเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาธาตุน้ำแดง ฤทธิ์ของยาก็อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้น และทำให้ยาต่อการรักษาให้หายได้

ทางที่ดีก่อนจะรับประทานยาทุกชนิด คุณควรปรึกษาแพทย์เสียก่อนว่า ควรรับประทานอย่างไร และใช้กับอาการเจ็บป่วยแบบไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top