ยาแก้ปวดฟัน

ยาแก้ปวดฟัน

อาการปวดฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุ สำหรับผู้ใหญ่อาจเกิดจากฟันผุ ฟันร้าว ฟันคุด เป็นโรคปริทันต์

วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ ไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาต้นตอของอาการปวดฟันที่ถูกต้อง ส่วนส่วนอาการปวดฟันในเด็กอาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ฟันน้ำนมจะหลุดออก กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์

ผู้ปกครองอาจให้เด็กรับประทานของเย็น เช่น ไอศกรีม น้ำแข็งใส เพื่อให้ความเย็นช่วยบรรเทาอาการปวด

อีกทางเลือกหนึ่งเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันทั้งของผู้ใหญ่และเด็ก คือ รับประทานยาแก้ปวดฟัน ซึ่งมีหลายตัวยา ดังนี้

กลุ่มยาแก้ปวดฟัน 

ยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดฟัน แบ่งออกใหญ่ๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาบรรเทาอาการปวด กับกลุ่มยาชาเฉพาะที่

ตัวอย่างชื่อยาแก้ปวดฟันแต่ละกลุ่มได้แก่

  1. ยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ ยากลุ่มบรรเทาอาการปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาในกลุ่มเอนเซด (NSAIDs-ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) โดยยากลุ่มเอนเซดต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อย่าลืมแจ้งแพทย์และเภสัชกรถึงโรคประจำตัวและการแพ้ยาทุกครั้ง
  2. ยาชาเฉพาะที่ ได้แก่ ลิโดเคน (lidocaine) เบนโซเคน (Benzocaine) หรือน้ำมันจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาชา เช่น น้ำมันกานพลู หรือยูจีนอลออยล์ (Eugenol)

ผู้ป่วยสามารถเลือกใช้ยาในกลุ่มไหนก็ได้เพื่อบรรเทาอาการปวด สำหรับเด็ก ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยา แนะนำให้เริ่มจากพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการก่อน โดยรับประทานปริมาณยาคำนวณตามน้ำหนักตัวเด็ก

วิธีใช้ยาแก้ปวดฟันแต่ละตัว

ยาที่มักนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน มีดังต่อไปนี้

  • พาราเซตามอล เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ มีสรรพคุณแก้ปวด ลดไข้ เหมาะสำหรับอาการปวดฟันระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ขนาดการใช้ยาได้แก่
    • ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 500-1000 มิลลิกรัม
    • เด็กอายุ 6-8 ปี รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม
    • เด็กอายุ 8-10 ปี รับประทานขนาด 375 มิลลิกรัม
    • เด็กอายุ 10-12 ปี รับประทานขนาด 500 มิลลิกรัม
    • เด็กอายุ 12-16 ปี รับประทานขนาด 500-750 มิลลิกรัม

คุณสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ในผู้ใหญ่ หากใช้ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม ไม่ควรรับประทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน ส่วนในเด็กไม่ควรรับประทานเกิน 4 ครั้งต่อวัน

  • ไอบูโพรเฟน เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ และลดไข้ เหมาะสำหรับบรรเทาอาการปวดฟันระดับเล็กน้อยถึงปานกลางผู้ใหญ่ควรรับประทานขนาด 400-800 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้งหลังอาหาร และไม่ควรรับประทานเกิน 3,200 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ลิโดเคน และเบนโซเคน เป็นยาในกลุ่มยาชา มีวางจำหน่ายในรูปแบบยาทาเฉพาะที่ เช่น ยาแก้ปวดฟันยี่ห้อ M.16 ซึ่งมีส่วนผสมของการบูร และลิโดเคน วิธีการใช้ คือ ใช้ไม้พันสำลี หรือคีมคีบสำลี ชุบตัวยา แล้วทาบริเวณที่มีอาการปวดฟัน หรืออุดสำลีที่ชุบยาลงบริเวณที่มีอาการปวด
  • น้ำมันกานพลู มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด บรรเทาอาการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเป็นยาชาเฉพาะที่ สามารถใช้น้ำมันกานพลูเพื่อลดอาการปวดฟันชั่วคราวได้ ธีการใช้ คือ ใช้ไม้พันสำลี หรือคีมคีบสำลี ชุบตัวยา แล้วทาบริเวณที่มีอาการปวดฟัน หรืออุดสำลีที่ชุบยาลงบริเวณที่มีอาการปวด

นอกจากการใช้ยาเหล่านี้แก้ปวดฟันแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่สามารถช่วยลดอาการปวดได้ เช่น ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม หลีกเลี่ยงการเคี้ยวข้างที่ปวด

หากไม่แน่ใจว่า ควรใช้ยาแก้ปวดฟันชนิดใดดี หรือใช้วิธีใดเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ปัจจุบันหลายแห่งมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ด้านทันตกรรม ช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นสำหรับคนไม่มีเวลาเดินทางไปพบทันตแพทย์ด้วยตนเองได้

ปวดฟันควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่

การใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีอาการปวดฟัน จะใช้เฉพาะกรณีที่ปวดฟันจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีการติดเชื้อลุกลามขนาดใหญ่เท่านั้น

ยาจะไม่ถูกใช้หากผู้ป่วยปวดฟันจากการอักเสบ หรือระบบประสาทของฟัน เฉพาะที่ตำแหน่งฟัน โดยไม่มีการบวมลุกลามไปยังตำแหน่งอื่นๆ

ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการปวดเอง ต้องมาจากทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้เท่านั้น

มียาแก้ปวดฟันที่ใช้แล้วอาการหายขาดเลยหรือไม่?

การรับประทานยาบรรเทาอาการปวด เป็นเพียงการบรรเทาอาการ ไม่ได้เป็นการแก้ไขสาเหตุของอาการปวด ผู้ป่วยควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการประเมินอาการปวดฟันว่า เกิดจากสาเหตุใด และทำการรักษาให้ตรงจุด จึงจะช่วยให้หายปวดได้

อย่ามองข้ามอาการปวดฟันของตนเอง เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟันที่ร้ายแรง แต่คุณแค่ไม่รู้เท่านั้น และหากรับประทานยาแก้ปวดฟันแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาอาการดังกล่าว

อย่าปล่อยให้ปัญหาปวดฟันลุกลามและรุนแรงจนยากแก้ไขเพราะในที่สุดคุณอาจต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไปด้วยการถอนออก และเมื่อถอนออกก็จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ทดแทนฟันแท้ หรือฟันปลอม มาใส่ เพื่อไม่ให้ฟันที่เหลือเคลื่อนตัวมาปิดช่องที่ถอนฟันออกไป

รวมทั้งเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ความมั่นใจ และเอื้อประโยชน์ในการรับประทานอาหาร

แน่นอนว่า ราคาการทำทันตกรรมฟันปลอมในปัจจุบันค่อนข้างสูง และถึงแม้จะสามารถบด เคี้ยว ใช้งานได้เช่นเดียวกับฟันแท้ แต่ประสิทธิภาพที่แท้จริงก็ยังถือว่า น้อยกว่าฟันแท้อยู่

การใส่ฟันปลอมไม่ว่ารูปแบบใดอาจทำให้คุณต้องเผชิญความเจ็บปวดขณะใส่ และอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีข้อจำักดในการใช้งาน มีอายุในการใช้งาน คุณจึงอาจต้องเปลี่ยนฟันปลอมอีกหลายชุดไปตลอดชีวิตด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top