แพ้แลคโตส Lactose Intolerance Lactase Deficiency

ภาวะแพ้แลคโตส

ภาวะแพ้แลคโตส คือ (Lactose Intolerance, Lactase Deficiency) ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายแลคโตส หรือน้ำตาลธรรมชาติในอาหารจำพวกนมได้

ผู้ที่มีอาการแพ้แลคโตสจะมีอาการที่เกิดจากลำไส้เล็กมีเอนไซม์สำหรับย่อยสลายแลคโตสไม่เพียงพอ ทำให้แลคโตสที่ไม่ได้ผ่านการย่อยเคลื่อนไปยังลำไส้ใหญ่และไปทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียต่างๆ จนทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเสีย ท้องร่วง ตามมา

ภาวะนี้ไม่ใช่ภาวะร้ายแรง เพียงแต่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้แลคโตสควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทนม หรือใช้ยาที่ประกอบด้วยเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ก่อนรับประทานอาหารประเภทดังกล่าว

ประเภทของอาการแพ้แลคโตส

มีอยู่ 3 ประเภทหลัก แต่ละประเภทเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน ดังน้

  1. อาการแพ้แลคโตสปฐมภูมิ เป็นประเภทของอาการแพ้แลคโตสที่พบได้มากที่สุด ผู้คนส่วนมากจะเกิดมาพร้อมกับแลคเตสที่เพียงพอ เพราะตอนเป็นทารกจะต้องใช้เอนไซม์นี้ในการย่อยนมจากมารดา แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น แลคเตสที่มีจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการรับประทานอาหารหลากหลายมากขึ้นและดื่มนมน้อยลง
  2. อาการแพ้แลคโตสทุติยภูมิ โรคที่เกิดกับลำไส้ เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease) การติดเชื้อในทางเดินอาหาร การได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน และการผ่าตัดที่ลำไส้เล็กสามารถทำให้เกิดอาการแพ้แลคโตสขึ้นได้ แต่ก็สามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ในเวลาไม่นานหากมีการรักษาภาวะนั้นๆ สำเร็จ
  3. อาการแพ้แลคโตสตั้งแต่กำเนิด อาการแพ้แลคโตสอาจเป็นภาวะทางพันธุกรรมก็ได้ โดยเกิดจากยีนผิดปกติที่ส่งต่อจากพ่อแม่สู่ลูก ทำให้ร่างกายของเด็กไม่มีแลคเตสอยู่เลย (Congenital Lactose Intolerance) กรณีนี้ทารกจะแพ้นมที่มาจากเต้ามารดา เมื่อดื่มเข้าไปจะทำให้ท้องร่วงทันทีและหากไม่รีบรักษาก็อาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้จากภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และเสียสมดุลอีเล็กโทรไลท์ (Electrolyte Loss)

อาการแสดงของภาวะแพ้แลคโตส

ผู้ที่มีภาวะแพ้แลคโตส จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติหลังบริโภคอาหารจำพวกนมเข้าไป 30 นาที – 2 ชั่วโมง

อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ และท้องร่วง

อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงมาก โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับว่า มีแลคโตสเข้าสู่ร่างกายมากน้อยเพียงใด และร่างกายบุคคลนั้นมีปริมาณแลคเตสที่ผลิตได้เท่าใด

การวินิจฉัยอาการแพ้แลคโตส

หากพบว่า ตนเองมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และท้องร่วง หลังดื่มนม หรือหลังรับประทานอาหารที่มีนมเป็นส่วนผสม แพทย์อาจพิจารณาให้มีการทดสอบภาวะแพ้แลคโตส ที่จะช่วยยืนยันผลวินิจฉัย ดังนี้

  • การทดสอบภาวะทนต่อแลคโตส (Lactose Intolerance Test) เป็นการตรวจความสามารถในการย่อยน้ำตาลแลคโตสโดยให้ดื่มสารละลายน้ำตาลแลคโตส จากนั้นจึงเจาะเลือดเพื่อวัดปริมาณน้ำตาลในเลือด ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้าหรือไม่ขึ้นแสดงว่า มีภาวะ Lactose intolerance
  • การทดสอบโดยการทนต่อนม (Milk Tolerance Test) วิธีการเช่นเดียวกับ Lactose intolerance test แต่เพียงใช้การดื่มนมแทน
  • การทดสอบไฮโดรเจนทางลมหายใจ (Hydrogen Breath Test) การทดสอบนี้จะวัดปริมาณไฮโดรเจนในลมหายใจหลังบริโภคเครื่องดื่มที่มีแลคโตสปริมาณสูง หากร่างกายไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ แบคทีเรียในลำไส้จะรับหน้าที่ย่อยแลคโตสแทน แต่กระบวนการย่อยนี้จะเข้าไปหมักหมมน้ำตาลแลคโตสที่ลำไส้ ซึ่งจะปล่อยไฮโดรเจนกับก๊าซอื่นๆ ออกมา จึงทำให้ปริมาณไฮโดรเจนออกมาพร้อมกับลมหายใจในปริมาณที่มากกว่าปกติ
  • การทดสอบความเป็นกรดของอุจจาระ (Stool Acidity Test) การทดสอบนี้มักดำเนินการกับทารกและเด็ก เป็นการวัดปริมาณกรดแลคติกในตัวอย่างอุจจาระ กรดชนิดนี้จะสะสมมากขึ้นเมื่อแบคทีเรียในลำไส้หมักกับแลคโตสที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้
  • การตรวจทางจุลพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อบริเวณลำไส้เล็ก (Small bowel biopsy) การตัดชิ้นเนื้อลำไส้เล็กไปตรวจนั้นทำเมื่อหาสาเหตุของการโรคไม่ได้ ซึ่งการตรวจทางพยาธิวิทยานั้นทำให้ทราบถึงสาเหตุของโรค เช่น Celiac disease

นอกจากนี้หากไม่แน่ใจว่าจะแพ้อาหารชนิดอื่นๆ หรือไม่ หรือมีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงร่วมด้วยไหม อาจไปขอรับการตรวจภูมิแพ้อาหารและตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงเพิ่มเติม เผื่อเป็นแนวทางในการรับประทานอาหารอย่างปลอดภัย ไร้กังวลเรื่องการแพ้อีกต่อไป

การรักษาอาการแพ้แลคโตส

ยังไม่มีวิธีใดที่ทำให้ร่างกายผลิตแลคเตสออกมามากขึ้น ดังนั้นการรักษาภาวะแพ้แลคโตสที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การลด หรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ

ผู้ที่มีภาวะนี้ยังคงสามารถดื่มนมได้สูงสุดประมาณครึ่งถ้วยโดยไม่มีอาการใดๆ และสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีสแข็ง หรือโยเกิร์ต ได้เล็กน้อย

แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ก็ควรรับประทานยาที่มีเอนไซม์แลคเตสก่อนรับประทานอาหารจำพวกนม หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแลคโตสซึ่งมีให้เลือกมากมายในปัจจุบัน

ผู้ที่มีภาวะแพ้แลคโตสที่ใช้วิธีเลิกรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมอาจประสบกับภาวะขาดแคลเซียม วิตามิน D Riboflavin และโปรตีน

ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารเสริมแคลเซียม หรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมตามธรรมชาติสูง เพื่อช่วยชดเชยสารอาหารที่ขาดหายไป

วิธีป้องกันภาวะแพ้แลคโตส

ภาวะแพ้แลคโตสไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาการจากภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารจำพวกนมให้น้อยลง และลองเปลี่ยนไปบริโภคนมทางเลือกอื่นๆ แทน เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง นมข้าว และนมปราศจากแลคโตส

ปัจจุบันด้วยวิทยาการสมัยใหม่ทำให้สามารถตรวจวิเคราะห์สุขภาพด้วย DNA แล้ว เพื่อให้ทราบความไวต่ออาหารแต่ละชนิด พฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภคอาหาร ความต้องการสารอาหารต่างๆ และที่สำคัญคือ ความเสี่ยงในการเกิดโรค

ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพเหล่านี้จะทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะป่วยน้อยลง หรือถ้าหากจะป่วยขึ้นมาจริงๆ ก็จะสามารถตั้งรับได้ทัน หรือมีวิธีจัดการที่เหมาะสม


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top