อันตรายของบุหรี่มือสอง มีวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง scaled

อันตรายของบุหรี่มือสอง มีวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง?

เราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า การสูบบุหรี่นั้นไม่ดีและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบเอง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า การอยู่ในบริเวณเดียวกัน หรือใกล้กับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณเช่นกัน

ความหมายของบุหรี่มือสอง

“บุหรี่มือสอง” หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “ควันบุหรี่มือสอง(Second-hand Smoke) หมายถึง ควันที่ผู้สูบบุหรี่สูดเข้าสู่ร่างกายแล้วปล่อยออกมาทางลมหายใจ รวมถึงควันที่เกิดการเผาไหม้ของมวนบุหรี่ กล้องยาสูบ หรือซิการ์

ควันบุหรี่มือสองมีสารพิษซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้กว่า 70 ชนิดปะปนอยู่ และสารพิษเหล่านี้สามารถคงอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมง

อันตรายของควันบุหรี่มือสอง

เนื่องจากควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีกว่าพันชนิด ตั้งแต่สารหนูไปจนถึงแอมโมเนียซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย  ดังนั้นการสูดควันบุหรี่มือสอง สามารถทำให้คุณรับความเสี่ยงต่างๆ ได้ เช่น

  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หากรุนแรงสามารถลุกลามกลายเป็นโรคปอดได้
  • มีโอกาสเป็นโรคหอบหืด
  • อาการไอ เจ็บคอ จามบ่อยๆ หรือหายใจเสียงดัง
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต
  • มีผลต่อความทรงจำและโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี
  • มีโอกาสเป็นมะเร็งได้
  • เพิ่มอัตราการเสียชีวิต

อันตรายของควันบุหรี่มือสองต่อเด็ก

เพราะเด็กจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพมากเท่าผู้ใหญ่และมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่า จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายหลายชนิดตามมาจากการสูดควันบุหรี่มือสองได้ง่าย เช่น

  • หากได้รับควันบุหรี่มือสองติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เด็กมีโอกาสเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม
  • หากได้รับควันบุหรี่มือสองติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เด็กอาจมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป
  • หากหญิงมีครรภ์ได้รับควันบุหรี่มือสองติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ทารกแรกเกิดอาจมีน้ำหนักตัวน้อย หรือน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ได้

วิธีรับมือกับควันบุหรี่มือสอง

แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่บางครั้งคุณอาจต้องร่วมวงเสวนากับเพื่อนๆ หรือคนที่สูบบุหรี่ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่นั้นมีผลต่อสุขภาพร่างกาย แม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม และนั่นหมายถึงว่าคุณได้รับควันบุหรี่มือสองเข้าไปแล้วด้วย

หากคุณเป็นผู้สูบบุหรี่ 

วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรพยายามเลิกสูบบุหรี่ แต่แน่นอนว่าการเลิกสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปัจจุบันมีโครงการและองค์กรต่างๆ ที่จะคอยสนับสนุนและช่วยเหลือคุณในการเลิกบุหรี่มากมาย เพียงคุณตัดสินใจเท่านั้น

ลองคิดถึงข้อดีจากการเลิกสูบบุหรี่ดูสักครั้ง คุณจะพบว่า มันมีผลดีมากมายตามมาหากเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เช่น ผิวพรรณจะดูดีขึ้น รู้สึกแข็งแรงขึ้น และตัวไม่เหม็นบุหรี่เหมือนแต่ก่อน

คุณก็จะมีเงินเหลือมากขึ้นเพื่อที่จะพบปะเพื่อนฝูง กินอาหารอร่อยๆ หรือซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ หรืออื่นๆ ที่อยากได้แบบไม่ยากเย็นนัก และที่สำคัญ ทั้งคนรอบตัว คนในครอบครัว และคนที่คุณรักจะหมดโอกาสในการรับควันบุหรี่มือสองจากคุณอีกด้วย

ทำอย่างไร หากคิดเลิกสูบบุหรี่

หากคุณคิดจะเลิกสูบบุหรี่ สิ่งแรกที่ควรทำคือ การตั้งเป้าและประเมินผลในระยะสั้น เพราะจะทำให้เห็นความสำเร็จกว่าการตั้งเป้าระยะยาว จากนั้นแนะนำให้ลองปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • การบอกให้บุคคลรอบข้างคุณ เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท เพื่อนๆ ในที่ทำงานทราบถึงความตั้งใจของคุณในการเลิกบุหรี่ จะทำให้คุณได้รับการสนับสนุน และทำให้โอกาสประสบควาสำเร็จในการเลิกบุหรี่สูงขึ้น
  • ควรหลีกเหลี่ยงสถานะการณ์ที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่
  • การใช้ยาเลิกบุหรี่จะทำให้อาการอยากบุหรี่น้อยลง ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเลิกบุหรี่

ถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่ 

ลองใช้วิธีการเหล่านี้ เพื่อเลี่ยงสถานการณ์ที่คุณต้องไปอยู่ท่ามกลางคนที่สูบบุหรี่

จัดการกับเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของผู้สูบบุหรี่

ถึงแม้ผู้สูบจะสูบบุหรี่ในที่สำหรับสูบ หรือสูบนอกบ้าน ควันบุหรี่ก็ยังติดตามตัว เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ของผู้สูบได้ ดังนั้นเมื่อกลับถึงบ้านคุณต้องบอกให้ผู้สูบล้างมือ อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย โดยเฉพาะก่อนที่จะอุ้ม กอด หรือหอมเด็ก

ให้ผู้สูบบุหรี่อยู่ให้ห่างจากเด็ก และหญิงตั้งครรภ์

เพราะควันบุหรี่มือสองจะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กและทารกในครรภ์ได้ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและทางเดินหายใจด้วย เนื่องจากควันบุหรี่นั้นสามารถลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมงหลังจากดับบุหรี่แล้ว ทำให้ผู้ที่ไม่สูบต้องสูดกลิ่นควันเข้าไปในร่างกายด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลีกเลี่ยงการนั่งรถกับผู้ที่สูบบุหรี่ขณะขับรถ หรือคุณอาจไม่อนุญาตให้ผู้ขับสูบบุหรี่ขณะขับรถกับคุณ

เพราะถึงแม้ผู้สูบจะสูบและพ่นควันออกนอกหน้าต่าง แต่ควันส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในรถ คุณก็จะสูดควันเหล่านั้นเข้าไปด้วย นอกจากนี้ควันที่พ่นออกไปนอกรถ รวมถึงสะเก็ดบุหรี่ยังจะไปรบกวนผู้ขับขี่คนอื่นด้วย

สอนลูกหลานไม่ให้เข้าใกล้ผู้สูบบุหรี่

หากมีลูกเล็ก หรือเด็กๆ ในบ้าน แนะนำให้สอนพวกเขาหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ได้รับควันบุหรี่มือสองเข้าไปด้วย

อย่าคิดว่าผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้นที่มีทางเลือกว่าจะจุดบุหรี่สูบที่ไหน หรือเมื่อไหร่ก็ได้ แต่คุณควรเคารพกฎ และมีความเกรงใจในตัวผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ว่า ควันบุหรี่ของคุณถือเป็นการรบกวนและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

คุณควรสูบบุหรี่ในที่ที่จำกัดไว้สำหรับการสูบบุหรี่เท่านั้น โดยในปัจจุบันข้อกำหนดทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และคุณจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน โรงเรียน ในที่ทำงาน ร้านอาหาร ฯลฯ และนี่เป็นโอกาสอันดีที่เราจะสามารถเรียกคืนชีวิตปลอดบุหรี่กลับมา

การเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ร่างกายต้องรับควันบุหรี่มือสอง จะช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้คนที่คุณรักไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองเข้าร่างกาย ทั้งยังทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรงขึ้นด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • Strachan, D. P.; Cook, D. G. (1998). “Health effects of passive smoking. 4. Parental smoking, middle ear disease and adenotonsillectomy in children”. Thorax. 53 (1): 50–56. doi:10.1136/thx.53.1.50. ISSN 0040-6376. PMC 1758689. PMID 9577522.
  • Strachan, D P; Cook, D G (1997). “Health effects of passive smoking. 1. Parental smoking and lower respiratory illness in infancy and early childhood”. Thorax. 52 (10): 905–914. doi:10.1136/thx.52.10.905. ISSN 0040-6376. PMC 1758431. PMID 9404380.
Scroll to Top