โทษของยาเสพติด 10 ชนิด

โทษของยาเสพติด 10 ชนิด อันตรายร้ายแรงต่อชีวิตที่ทุกคนควรรู้

สิ่งที่ขึ้นชื่อว่า “ยาเสพติด” ล้วนก่อให้เกิดโทษต่อชีวิตผู้เสพด้วยกันทั้งสิ้น โดยทำลายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัวที่คุณรักและความมั่นคงของประเทศชาติ

ด้วยเหตุนี้คุณจึงควรทราบว่า 10 ยาเสพติดซึ่งเป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้เสพนั้นมีอะไรบ้าง แล้วมีโทษอย่างไร ส่งผลอะไรต่อร่างกายของคุณ โทษของยาเสพติดในแต่ละชนิดมีดังนี้

1. โทษของยาบ้า

ยาบ้า (ยาม้า เมทแอมเฟตามีน หรือแอมเฟตามีน) ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการติดยาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีส้ม แดง น้ำตาล เขียว มีอักษร WY, Y, R

เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายในช่วงที่เสพใหม่ๆ จะออกฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้มีอาการต่อไปนี้

  • เกิดการตื่นตัว ไม่ง่วง
  • มีกำลังวังชา
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีอาการใจสั่น
  • ตึงเครียด
  • อัตราการเต้นของจังหวะหัวใจเร็วขึ้น

แต่เมื่อฤทธิ์ยาหมดลง ระบบสั่งการทางสมองทำงานช้าลง การตัดสินใจช้า ผู้เสพจะมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ และเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น

หากผู้เสพยังคงเสพยาบ้าติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือเสพมากเกินขนาด ฤทธิ์ยาก็จะยิ่งทำลายระบบประสาทในร่างกาย และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด  รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ เช่น

  • สมองเสื่อม
  • มีอาการประสาทหลอน เกิดภาพลวงตา
  • วิตกกังวล หวาดระแวง
  • เสียสติ คลุ้มคลั่งเป็นบ้าจนสามารถทำร้ายผู้อื่นและตนเองได้
  • เกิดภาวะหมดสติ และทำให้เสียชีวิตได้

อ่านเพิ่มเติม: ยาบ้า ส่วนผสม อาการของคนเสพ โทษทางกฏหมาย และสถานบำบัด

2. โทษของเฮโรอีน

เฮโรอีนจะเป็นสารเสพติดมีลักษณะเป็นผงสีขาว มีฤทธิ์กดระบบประสาท ผู้เสพอาจฉีดเข้าเส้นเลือด การสูบ เสพผ่านทางการรับประทาน หรือแม้แต่การใช้สอดทางทวารหนัก

การเสพจะทำให้ผู้เสพรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด มีความสุข และลดอาการเจ็บปวดได้ หรือไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดเลย

นอกจากนี้เฮโรอีนยังทำให้ผู้เสพรู้สึกมึนเมา สมอง และการรับรู้จะเบลอคล้ายกับอาการกึ่งง่วงกึ่งตื่น ผู้เสพหลายรายมักใช้เฮโรอีนเพื่อให้รู้สึกว่า ตนเองได้หลีกหนีจากความวุ่นวายและความเครียด

เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ทำให้ผู้เสพติดได้ง่ายทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ รวมถึงทำให้เกิดโทษระยะยาวที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่

  • อาการปวดตามส่วนต่างๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ สันหลัง บั้นเอว และปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ผิวหนังออกเป็นสีแดง
  • นอนไม่หลับ
  • กระสับกระส่าย ทุรนทุรายอึดอัด
  • มีอาการจุกภายในอกราวกับจะขาดใจตาย
  • อ่อนเพลียอย่างหนัก มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ
  • มีอาการชักตาตั้ง น้ำลายไหลฟูมปาก
  • ม่านนัยน์ตาดำหดลง
  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน
  • เป็นโรคปอดอักเสบ
  • ตับ และไตเสื่อม
  • มึนงง ความจำเสื่อม
  • หายใจไม่ออก กดระบบทางเดินหายใจ
  • หัวใจเต้นช้าลง
  • เกิดภาวะเส้นเลือดหดตัว
  • เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล

นอกจากฤทธิ์ของยาแล้ว ผู้เสพยังมีความเสี่ยงอื่นที่เกิดจากวิธีการใช้ เช่น เพิ่มความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และเป็นฝีจากการฉีด

อ่านเพิ่มเติม: โทษของเฮโรอีน อาการของผู้เสพ วิธีการเลิกเสพ

3. โทษของยาอี

ยาอี มีอีกชื่อคือ “ยาเลิฟ” เพราะเป็นยาที่มักใช้ในงานปาร์ตี้ มีฤทธิ์ทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ทำให้กล้าพูด และกล้าเผยความรู้สึกในใจออกมามากกว่าปกติ

เป็นยาเสพติดที่มีหลายชื่อเรียก โดยมีชื่อเรียกสากลว่า “เอ็กซ์ตาซี (Ecstasy)” แปลว่า ความสนุกสนานเบิกบานใจ หลังจากเสพยาอีเข้าไปแล้ว ยาจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และสามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนานถึง 6–8 ชั่วโมง มักแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ที่เที่ยวกลางคืน

ในครั้งแรกที่เสพ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทเพียงแค่ระยะสั้นๆ ก่อน จากนั้นยาจะออกฤทธิ์หลอนประสาท ส่งผลให้ผู้เสพมีอาการติดยาทางด้านจิตใจ และมีอาการร่วมอย่างอื่นตามมาด้วย ได้แก่

  • ใจสั่น
  • ระดับความดันโลหิตสูง
  • เหงื่อออกเยอะ
  • เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
  • เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบประสาทการรับรู้ทั้งหมด ทำให้ทั้งการได้ยิน และการมองเห็นแสงสีต่างๆ ผิดปกติไปจากความจริง เกิดภาพหลอน

4. โทษของโคเคน

ฤทธิ์ของโคเคนขึ้นอยู่กับวิธี และปริมาณที่เสพเข้าร่างกาย โดยกระตุ้นระบบประสาทและจะส่งผลทางด้านจิตใจมากกว่าด้านร่างกาย เมื่อผู้เสพไม่ได้เสพยาก็อาจรู้สึกขาดยาซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นด้านร่างกายบ้าง แต่จะไม่รุนแรงมากนัก

โคเคนเป็นยาเสพติดที่อันตรายต่ออัตราการเต้นของหัวใจ โดยจะเข้าไปทำให้หัวใจได้รับการกระตุ้นอยู่เสมอ จึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพลงทีละน้อยๆ จนกระทั่งหัวใจไม่สามารถบีบตัวต่อไปได้ และทำให้ผู้เสพมีภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด ทำให้สงผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือด และอาการต่างๆ ดังนี้

  • ระดับความดันโลหิตสูง
  • มีไข้
  • นอนไม่หลับ เกิดภาพหลอน
  • หัวใจเต้นอย่างรุนแรง
  • กระวนกระวาย
  • ผนังจมูกขาดเลือด ส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกฝ่อมีการฉีกขาด หรือทะลุ
  • สมองจะได้รับการถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง ทำให้มีอาการชัก
  • เลือดออกในสมอง เกิดเนื้อสมองตายในบางส่วน

นอกจากนี้หากผู้เสพยังคงเสพโคเคนติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคซึมเศร้าอย่างหนักได้ด้วย

5. โทษของยาเค

ผู้เสพยาเคจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม เข้าใจผิดว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีอำนาจวิเศษ เนื่องจากยาเคเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง

อีกทั้งการรับรู้และการตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเปลี่ยนไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น แสง สี การได้ยินเสียง

ฤทธิ์ของยาเคมักส่งผลต่อระบบการคิด การรับรู้ และตอบสนองของผู้เสพ โดยจะเกิดอาการต่อไปนี้

  • เกิดภาวะติดขัดในระบบหายใจ
  • มีปัญหาโรคจิต เป็นคนวิกลจริต
  • มีความคิดสับสน
  • หูแว่ว
  • ตาลาย
  • ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กันได้
  • การเคลื่อนไหวทางด้านร่างกายไม่เป็นไปในจังหวะที่สัมพันธ์กันดังเดิมอีก
  • การทำงานของสมองทางด้านการรับรู้ และการตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมีการเปลี่ยนไป

6. โทษของกัญชา

กัญชาจะออกฤทธิ์หลายอย่างกับระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้เสพเกิดอาการประสาทหลอน มีภาวะอารมณ์ และจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้เสพเกิดอาการต่อไปนี้

  • มีอาการเหมือนเมาสุราอ่อนๆ
  • มีอาการง่วงซึม
  • ตื่นเต้น ตื่นตัว
  • คุยเก่ง สนุกสนาน หัวเราะร่าเริงได้ตลอดเวลา

หากร่างกายได้รับปริมาณกัญชาเข้าไปมากเกินขนาด ก็จะเกิดภาวะผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น

  • ประสาทหลอน
  • เห็นภาพลวงตา
  • หูแว่ว
  • ระบบความคิดเกิดการสับสน มึนงง
  • ไม่สามารถควบคุมตนเองได้

เมื่อผู้เสพเสพกัญชาเกินขนาดในปริมาณมาก หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ฤทธิ์จากกัญชาก็จะเข้าไปทำลายสมอง ปอด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เสื่อมสภาพทรุดโทรมต่อไป

7. โทษของกระท่อม

ใบกระท่อมมีสารไมตราไจนิน (Mitragynine) ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้เกิดการเสพติดด้านจิตใจมากกว่าด้านร่างกาย ทำให้เมื่อขาดยาก็จะมีอาการลงแดงเกิดขึ้น แต่ไม่รุนแรงมาก

ลักษณะอาการของผู้เสพใบกระท่อม ได้แก่ ทำงานได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย มีเรี่ยวแรงพลังมากมาย  และทนต่อสภาวะอากาศร้อนหนาวได้อย่างสบายๆ

โทษจากใบกระท่อมสามารถส่งผลต่อความผิดปกติทางประสาท และผิวหนังของผู้เสพ ได้แก่

  • หนาวสั่นเมื่ออยู่ท่ามกลางอากาศชื้น
  • จิตใจสับสน โลเล
  • ประสาทหลอน
  • มีสภาพผิวหนังที่แห้งดำไหม้เกรียม
  • ปากแห้ง
  • ท้องผูก
  • นอนไม่หลับ
  • สภาพร่างกายเกิดความเสื่อมโทรมอย่างหนัก

8. โทษของมอร์ฟีน

มอร์ฟีนจะออกฤทธิ์เข้าไปกดระบบประสาท ผู้เสพจะมีอาการขาดยาทางร่างกายหากไม่ได้เสพยาอย่างต่อเนื่อง ผู้เสพจะมีอาการเสพติดทั้งทางร่างกาย จิตใจ  ได้แก่

  • สมองช้าเกิดอาการมึนๆ ชาๆ
  • สติปัญญาเสื่อม ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
  • ร่างกายทรุดโทรมอย่างหนักท้องผูก
  • คลื่นเหียน
  • อาเจียน
  • คันตามใบหน้า
  • ตาแดง
  • ง่วงซึม

9. โทษของฝิ่น

ฝิ่นจะออกฤทธิ์เข้าไปกดระบบประสาท ส่งผลให้ผู้เสพมีอาการเสพติดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และยังมีภาวะขาดยาทางร่างกายอีกด้วย

  • ตาหรี่ พูดจาวกวนไม่รู้เรื่อง
  • ความคิดทำงานเชื่องช้า
  • จิตใจเลื่อนลอย
  • โลเล สับสน
  • มีอาการง่วงซึมตลอดเวลา
  • ชีพจรเต้นในระดับช้าขึ้น

นอกจากนี้หากเสพติดฝิ่นเกินขนาด ฤทธิ์ของฝิ่นจะเข้าไปกดระบบการหายใจ ทำให้ผู้เสพเสียชีวิตได้ในที่สุด

10. โทษของเห็ดขี้ควาย

เห็ดขี้ควายมีสารอันตรายสำคัญอย่างไซโลไซบีน (Psilocybin) และไซโลซีน (Psilocine) ผสมอยู่ ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะออกฤทธิ์หลอนประสาท ส่งผลให้ผู้เสพเกิดอาการมึนเมา เคลิบเคลิ้ม และเกิดอาการบ้าคลั่งได้

เห็ดขี้ควายเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์เข้าไปทำลายระบบประสาทได้อย่างรุนแรง และหากผู้เสพมีภาวะภูมิต้านทานน้อยอยู่แล้ว เมื่อเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ ก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

เมื่อทราบกันแล้วว่า โทษของยาเสพติดมีอะไรบ้าง จากนี้ไปควรจะต้องระมัดระวังและร่วมมือกันจากหลายๆ ส่วนเพื่อปกป้องคนที่คุณรักจากยาเสพติด ทั้งการพูดคุยกันในครอบครัวถึงอันตราย ร่วมกับสถานศึกษาที่ควรจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโทษของยาเสพติดให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จัก และเข้าใจมากขึ้น รวมถึงได้ตระหนักถึงโทษร้ายแรงต่างๆ ของยาแต่ละชนิด

ผู้เสพส่วนมากมักใช้ยาเสพติดเวลาเครียด หรือรู้สึกหดหู่ ดังนั้นหากเกิดภาวะจิตใจซึมเศร้า กดดัน มีปัญหากับชีวิต ไม่ควรอยู่คนเดียวลำพังและควรหาทางออกโดยปรึกษาคนในครอบครัว ผู้ที่ไว้วางใจ หรือไปพบจิตแพทย์

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาเสพติดตอบโดยแพทย์

สวัสดีค่ะ อยากทราบว่าเสพยาเสพติดตั้งแต่อายุครรภ์ 1-14 สัปดาห์ จะมีผลต่อทารกในครรภ์ไหมคะ?

คำตอบโดย นพ. สุเทพ สุขนพกิจ: เป็นอันตรายมากนะครับ คุณควรไปพบแพทย์และหาทางเลิกใช้ยาเสพติดโดยเร็วที่สุดครับ เพราะยาเสพติดอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ภาวะเลือดออกในสมอง ทำให้มีการทำลายเซลล์ประสาท และทำให้เส้นรอบศีรษะทารกมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ฤทธิ์ยายังส่งผลต่อสมาธิ ความจำ และมีผลทำให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมในระยะยาวอีกด้วยครับ

คำตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก): ยาเสพติดจะส่งผลให้เด็กมีความผิดปกติหลายด้าน ดังนี้

  • มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
  • มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด
  • ภาวะเลือดออกในสมอง
  • ภาวะสมองตาย
  • ทำให้มีการทำลายเซลล์ประสาท
  • เส้นรอบศีรษะมีขนาดเล็ก ซึ่งมีผลต่อสมาธิ ความจำ และมิติสัมพันธ์ (spatial skills) และมีผลทำให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมในระยะยาวอีกด้วย

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดทุกชนิด ไม่ว่าคุณจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม เพราะผลกระทบที่ตามมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

ส่วนในรายที่ตั้งครรภ์แล้วและยังไม่เลิก หรือเพิ่งจะเลิกใช้สารเสพติด ก็ต้องระมัดระวังทารกในครรภ์เป็นพิเศษ โดยระหว่างที่ตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติดังนี้

  • หมั่นไปพบสูติแพทย์เพื่อติดตามผลของพัฒนาการทารกในครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของสูติแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • งด ละ เลิก สิ่งเสพติดทุกชนิดอย่างเด็ดขาด
  • หากคนในครอบครัวสูบบุหรี่ ควรขอความร่วมมือให้ไปสูบบุหรี่ภายนอกบ้าน เพราะควันบุหรี่มีสารพิษที่เรียกว่า “ทาร์” หรือน้ำมันดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อทารกในครรภ์และว่าที่คุณแม่ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวมากกว่าตัวผู้สูบเองเสียเอง
  • เมื่อคลอดบุตรแล้วก็ไม่ควรละเลย ควรพาทารกไปพบกุมารแพทย์เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรอง ประเมินพัฒนาการ และพฤติกรรมเป็นระยะๆ เพื่อหาความผิดปกติร่วมที่พบได้บ่อย เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยินบกพร่อง เพื่อให้การช่วยเหลือ กระตุ้นพัฒนาการโดยเร็วเพื่อลดปัญหาทางด้านการเรียนรู้และปัญหาสังคมที่จะตามมา
    (ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.))

คำถาม: สารกัญชาอยู่ในร่างกายเราได้กี่วัน

คำตอบ: ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความถี่ในการใช้ค่ะ สามารถตรวจพบได้ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ – 3 เดือนค่ะ (ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก))

คำถาม: เรากำลังจะต้องเข้ารับการผ่าตัดและต้องตรวจเลือดก่อนผ่าค่ะ ปกติแล้วเราจะใช้กัญชาบ่อยเกือบทุกวัน วันละ 2-3 ชั่วโมง อยากทราบว่า หมอจะตรวจพบสารเสพติดของกัญชาในเลือดเราไหมคะ?

คำตอบ: การตรวจเลือดก่อนผ่าตัด เป็นการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย ร่วมกับหาความผิดปกติอื่นๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัด

สิ่งที่คุณหมอสั่งตรวจส่วนมากได้แก่ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เกลือแร่ในเลือด น้ำตาล การทำงานของไต และความเสี่ยงๆ อื่นๆ แล้วแต่โรคที่เป็น

ส่วนเรื่องสารกัญชาที่ตกค้างในเลือดจะอยู่นานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สูบมานานแต่ไหน ความถี่ ปริมาณ ความเข้มข้นของพันธ์กัญชาที่ใช้ แต่โดยส่วนมากสารที่ตกค้างจะอยู่ได้นานเป็นเดือนๆ ค่ะ

ส่วนในกรณีของคุณถามว่าจะตรวจพบไหม ต้องตอบว่า พบค่ะ (ถ้าคุณหมอสั่งตรวจสารกัญชา) แต่ถ้าโรคที่ผ่าตัดที่ไม่เกี่ยวกับการตรวจหาสารเสพติด คุณหมอก็ไม่สั่งตรวจค่ะ (เพราะจะสิ้นเปลืองน้ำยาโดยใช่เหตุ) (ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก))

อ่านเพิ่มเติม: ตรวจสารเสพติด ในปัสสาวะและเลือด อยู่ในร่างกายกี่วัน?


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • Stahl SM (March 2017). “Amphetamine (D,L)”. Prescriber’s Guide: Stahl’s Essential Psychopharmacology (6th ed.). United Kingdom: Cambridge University Press. p: 45–51.
  • Malenka RC, Nestler EJ, Hyman SE (2009). “Chapter 15: Reinforcement and Addictive Disorders”. In Sydor A, Brown RY (eds.). Molecular Neuropharmacology: A Foundation for Clinical Neuroscience (2nd ed.). New York: McGraw-Hill Medical. p: 375.
  • กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. วิธีมาตรฐานสำหรับการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในปัสสาวะ เล่มที่ 1 (Manual of forensic emergency medicine : a guide for clinicians). Sudbury, Mass.: Jones and Bartlett Publishers. p: 41.
Scroll to Top