รวมคำแนะนำ การตรวจสุขภาพต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง scaled

รวมคำแนะนำ การตรวจสุขภาพต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติเป็นประจำ หรือทุกๆ ปี เพื่อให้มั่นใจว่า สุขภาพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันชนิดต่างๆ รวมถึงการทำงานโดยรวมของร่างกาย ปัจจุบัน โรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำมีแพ็กเกจการตรวจสุขภาพหลากหลายแบบ ทั้งนี้การตรวจสุขภาพแต่ละแบบ ผู้เข้ารับการตรวจควรมีการเตรียมตัวเพื่อให้ผลตรวจออกมาแม่นยำและทำให้ขั้นตอนการตรวจสุขภาพครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

ความหมายของการตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพ (Health checks หรือ Medical Chcekup) คือ การตรวจความสมบูรณ์ของการทำงานของระบบในร่างกาย รวมถึงตรวจสอบหาสัญญาณความผิดปกติเกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ ในร่างกายซึ่งอาจเกิดขึ้นแต่เราไม่รู้ตัว

ทุกครั้งที่ตรวจสุขภาพ ผู้ตรวจยังจะได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพต่างๆ จากแพทย์ เช่น วิธีปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ตลอดจนแนะนำแนวทางการรักษาความผิดปกติของร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

นอกจากนี้แพทย์ยังอาจช่วยตรวจสอบด้วยว่า วัคซีนที่คุณเคยได้รับไปก่อนหน้านี้ ถึงเวลาต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นแล้วหรือยัง

รายการตรวจสุขภาพที่ควรตรวจ

รายการต่อไปนี้ คือ รายการตรวจสุขภาพที่คุณควรได้รับจากการตรวจสุขภาพในแต่ละครั้ง หรือควรตรวจตามรายการต่อไปนี้เพื่อหาความเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนที่สุด ได้แก่

  • การตรวจค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI)
  • การตรวจความดันโลหิต (Blood Pressure)
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count)
  • การตรวจตา (Eye Examination)
  • การตรวจหูเพื่อคัดกรองการได้ยิน (Audiogram)
  • การตรวจฟัน (Oral Health)
  • การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)
  • การตรวจเลือดเพื่อดูระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด (Cholesterol) เพื่อหาความเสี่ยงโรคเบาหวาน (Diabetes)
  • การตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood sugar) เพื่อหาความเสี่ยงโรคเบาหวาน (Diabetes)
  • การตรวจเลือด (Blood test) เพื่อตรวจการทำงานของตับ (Liver function test) และการทำงานของไต (Renal function test)
  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis)

นอกจากรายการต่อไปนี้ ทางโรงพยาบาลอาจมีรายการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมสำหรับให้ผู้เข้าตรวจเลือกตรวจตามความต้องการ เช่น

  • การตรวจแมมโมแกรมเพื่อหาความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม (Mammogram)
  • การตรวจหาการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid function test)
  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)
  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen)
  • การตรวจภายในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (Gynecological Examination)
  • การตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear)
  • การตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen: PSA)
  • การตรวจหาความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease: STD)

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสิวอักเสบ สิวอุดตัน ผื่นแพ้ ไมเกรน ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังแก้ไม่หาย สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาแพ้อาหาร ปัจจุบันโรงพยาบาล และคลินิกสุขภาพชั้นนำหลายแห่งจึงมีบริการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงให้บริการ

ผลตรวจที่ได้สามารถนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อให้อาการเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ

เพื่อให้ผลตรวจออกมาแม่นยำตรงกับภาวะสุขภาพของคุณที่สุด ก่อนไปตรวจสุขภาพควรเตรียมตัวดังต่อไปนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการตรวจวัดระดับความดันโลหิต และเพื่อให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย มีความพร้อมขณะตรวจสุขภาพมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ หรือกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามาก ทั้งในช่วงเย็น และกลางคืนก่อนวันไปตรวจสุขภาพ รวมถึงตอนเช้าของวันไปตรวจสุขภาพด้วย เพราะการออกกำลังกายก่อนไปตรวจสุขภาพจะทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติได้
  • เว้นช่วงมีประจำเดือน ในขณะมีประจำเดือนยังไม่ควรไปตรวจสุขภาพที่มีการตรวจปัสสาวะอยู่ในแพ็กเกจด้วย และรอให้เลือดประจำเดือนหมดไปเสียก่อน เพราะหากมีเลือดปนในปัสสาวะจะทำให้ผลการตรวจปัสสาวะมีโอกาสเพี้ยนไปจากเดิมได้
  • งดน้ำ และอาหาร ส่วนมากรายการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปจะมีการตรวจเลือดเพื่อหาค่าน้ำตาล และไขมันในเลือด คุณจึงควรงดน้ำ และอาหารประมาณ 8-12 ชั่วโมงเพื่อให้ผลการตรวจออกมาแม่นยำที่สุด แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และเค็มจัด เพราะอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตสูงขึ้น โดยคุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนไปตรวจสุขภาพ แต่หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารเหล่านี้จริงๆ ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานก่อนตรวจสุขภาพเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และงดสูบบุหรี่ สำหรับใครที่ดื่มกาแฟเป็นประจำในตอนเช้า หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ควรงดเว้นพฤติกรรมทั้ง 2 อย่างนี้อย่างน้อย 1 เดือนก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อให้ค่าความดันโลหิตเป็นไปตามความจริง และแปลผลได้ง่าย
  • รับประทานยาประจำตัวมาให้เรียบร้อย โดยปกติคุณสามารถรับประทานยาประจำตัวก่อนมาตรวจสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดมีผลต่อการแปลผลการตรวจสุขภาพ คุณควรปรึกษากับแพทย์เสียก่อนว่า ยาชนิดนั้นๆ มีผลต่อการตรวจสุขภาพหรือไม่ และควรงดรับประทานก่อนเข้ารับการตรวจหรือเปล่า
  • นำยา และประวัติการรักษาโรคต่างๆ มาให้แพทย์ประเมินด้วย หากคุณไม่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเดียวกับที่กำลังรักษาโรคประจำตัวอยู่ คุณต้องนำยารักษาโรค และประวัติการเจ็บป่วยมาที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ใช้สำหรับประเมินผลการตรวจสุขภาพด้วย
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่คับแน่น ควรเป็นเสื้อแขนสั้นเพื่อให้ง่ายต่อการเจาะตรวจเลือด หากมีการตรวจภายในควรใส่กระโปรง หรือใส่เสื้อผ้าที่สามารถถอดเปลี่ยนเป็นชุดสำหรับเข้ารับการตรวจได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับ เช่น ต่างหู สร้อยคอ เพราะหากต้องเข้าห้องตรวจเอกซเรย์จะต้องถอดสิ่งเหล่านี้ออกเพื่อความปลอดภัย และเพื่อไม่ให้ค่าตัวเลข ผลการตรวจบางอย่างผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม การวางทรัพย์สินของมีค่าไว้ไกลตัวมีโอกาสสูญหายได้ระหว่างตรวจ ดังนั้นจึงอาจให้คนใกล้ชิดมาเป็นเพื่อนเพื่อเฝ้าทรัพย์สินให้

นอกจากนี้คุณยังควรนัดตรวจสุขภาพในตอนเช้าเพื่อให้ร่างกายที่เข้ารับการตรวจยังสดชื่น ผ่อนคลาย และกระปรี้กระเปร่า อีกทั้งส่วนมากตารางการตรวจสุขภาพมักจะมีระยะเวลายาวนานตลอดทั้งวัน

หากคุณจัดตารางการตรวจสุขภาพตั้งแต่ตอนเช้าถือว่า “คุ้มค่าที่สุด” เพราะนอกจากคุณจะไม่ต้องเป็นกังวลในการงดน้ำ หรืองดอาหาร ในระหว่างวันแล้ว การตรวจตอนเช้ายังอาจช่วยให้คุณได้รับผลตรวจสุขภาพบางรายการได้ในช่วงบ่าย หรือเย็น

การตรวจสุขภาพในปัจจุบันเป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก สามารถหาซื้อแพ็กเกจการตรวจได้ง่ายและมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ตรวจเฉพาะสิ่งที่ตนเอง หรือแพทย์สงสัย ตรวจตามความจำเป็น เช่น ตรวจก่อนเข้างานใหม่ ตรวจตามงบประมาณที่มี

ทุกคนควรใส่ใจเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หรือตรวจเป็นประจำทุกปี เพื่อให้รู้เท่าทันความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ หากตรวจพบความผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top