โลน Pubic Lice

โลน (Pubic Lice)

โลน (Pubic Lice) หรือเหาโลนเป็นปรสิตขนาดเล็กที่ใช้ชีวิตบนผิวหนังและขนบริเวณรอบอวัยวะเพศ ซึ่งสามารถติดไปยังผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ มาดูกันว่าอาการเมื่อมีโลนเป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่ และมีวิธีการป้องกันอย่างไร

โลนคืออะไร

โลนหรือเหาโลน (Phthirus pubis) เป็นปรสิตภายนอกขนาดเล็กจำพวกแมลง ที่ใช้ชีวิตบนผิวหนังและขนบริเวณรอบอวัยวะเพศ ซึ่งสามารถติดไปยังผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้อาจติดโลนได้จากการใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าปูที่นอนร่วมกัน โดยเมื่อโลนอาศัยอยู่บนร่างกายจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินเลือดเป็นอาหาร

เมื่อส่องดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ ตัวโลนจะมีลักษณะคล้ายปูจึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “Crabs (แครบ)” 

ลักษณะอาการเมื่อมีโลน

ผู้ที่ติดโลนมาส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรู้ตัวในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะมีอาการดังนี้

  • เกิดอาการคันอย่างรุนแรง (โดยเฉพาะเวลากลางคืน)
  • อาจสังเกตเห็นรอยกัดของโลนบริเวณต้นขา หรือผิวหนังรอบอวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นจุด หรือรอยสีเทาๆ
  • สังเกตเห็นปรสิตสีขาวเทาไต่อยู่ตามขนที่อวัยวะเพศ
  • อาจสังเกตเห็นไข่โลนสีขาวอยู่ตามขนด้วย ซึ่งไข่เหล่านี้จะมีขนาดประมาณหัวเข็มหมุด และมีลักษณะเหมือนไข่เหา ไข่โลนนั้นไม่สามารถดึงออกมาได้ง่ายจำเป็นต้องใช้หวีสางเหาช่วย ซึ่งหวีชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป

ติดตัวโลนอันตรายหรือไม่

การติดตัวโลนมาอาจไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพสักเท่าไหร่ แต่อาการคันจะสร้างความรำคาญ และโลนยังสามารถติดไปยังผู้อื่นได้

โลนมีอายุเท่าไหร่

โลนตัวเมียมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 25-30 วัน และแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ 20-30 ใบ นอกจากนี้โลนยังสามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกาย (ไม่ติดอยู่กับร่างกาย) ได้นาน 1-2 วัน ดังนั้นผู้ติดโลนจึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษา บางรายหากปล่อยทิ้งไว้สักระยะเวลาหนึ่งก็สามารถหายไปเองได้

การรักษาโลน

หากคุณสงสัยว่ากำลังติดโลน หรือคู่รักมีโลน แนะนำให้พบแพทย์ หรือสูติแพทย์ทันที เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีโลนจริง แพทย์จะสั่งยาหรือเขียนใบสั่งยา โดยจะเป็นรูปแบบยาทาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าโลนและไข่โลนได้ เช่น เพอร์เมทริน (Permethrin) หรือสระด้วยแชมพูลินเดน (Lindane shampoo)

นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาได้ด้วยการตัดหรือโกนขนบริเวณที่มีโลน ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดี มีข้อดีคือไม่ต้องทายาหรือสารเคมี โดยจะทำให้ตัวโลนและไข่ไม่มีที่เกาะยึด หลังจากนั้นหากรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอโลนก็จะหายไปเอง

ข้อสำคัญคือ เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพคุณอาจต้องใช้ยาซ้ำทุก 7-10 วัน เพื่อฆ่าโลนที่เกิดจากไข่ในภายหลัง นอกจากนี้ผู้ที่รับการรักษาโลนจะต้องได้รับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

หลังจากนั้น เพื่อป้องกันการกลับมาติดโลนอีกครั้ง ให้นำผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว และเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว ไปซักแห้ง หรือซักด้วยน้ำร้อนจัด (50-60 องศาเซลเซียส) และเป่าด้วยเครื่องเป่าผม เพื่อฆ่าตัวโลนและไข่โลนที่อาจติดอยู่บนข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้น

ใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางปาก ทวารหนัก หรือช่องคลอด ควรตรวจเช็กอย่างสม่ำเสมอว่าตนเองได้ติดโลนมาหรือไม่ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และป้องกันการตั้งครรภ์ แต่การใช้ถุงยางอนามัยนั้นก็ไม่สามารถป้องกันการแพร่โลนได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top