โรคภูมิแพ้แต่จะไปต่างประเทศ

เป็นโรคภูมิแพ้แต่จะไปต่างประเทศ ต้องเตรียมตัวอย่างไร

การเดินทางที่ไปต่างประเทศเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะต้องมีการวางแผนอย่างระมัดระวัง เพื่อให้การท่องเที่ยว การเรียน และทำงานในต่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อการควบคุมและป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อม อากาศ และอาหารที่แตกต่างออกไปในต่างประเทศอาจส่งผลให้อาการภูมิแพ้ที่เป็นอยู่แย่ลงกว่าเดิมได้

สิ่งที่ควรถามตัวเองก่อนไปต่างประเทศ

  1. จะเดินทางอย่างไร? ต้องมีการต่อเครื่องหรือไม่ ระยะเวลา รวมถึงสายการบินที่จะใช้บริการ อาหารที่ทางสายการบินให้บริการ
  2. คุณเข้าใจภาษาของประเทศนั้นๆ ดีแล้วใช่ไหม?
  3. คุณทราบคำศัพท์ หรือประโยคขอความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อโรคที่เป็นอยู่ หรือได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยแปลภาษาให้ได้ในเวลาฉุกเฉินแล้วหรือไม่?
  4. คุณจัดเตรียมยาไว้เพียงพอสำหรับแผนการไปต่างประเทศแล้วหรือยัง?
  5. คุณได้ศึกษาเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่พักรวมถึงหน่วยงานฉุกเฉิน หากเกิดอาการแพ้ขณะอยู่ต่างประเทศแล้วหรือยัง?
  6. คุณทราบเบอร์โทรศูนย์ให้ความช่วยเหลือ หรือเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลที่ใกล้ๆ แล้วหรือไม่?
  7. ประกันการเดินทางไปต่างประเทศของคุณครอบคลุมโรคภูมิแพ้ที่เป็นอยู่หรือเปล่า?

คำแนะนำสำหรับวางแผนเดินทางโดยเครื่องบินของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้

แต่ละสายการบินจะมีบริการอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่แตกต่างกันไป โดยอาหารอาจแตกต่างไปตามประเทศที่สายการบินนั้นถูกก่อตั้ง หรืออาจแตกต่างไปตามเที่ยวบินแต่ละเที่ยว

คุณต้องมั่นใจว่า อาหารที่ทางสายการบินจะให้บริการในเที่ยวบินนั้นไม่ได้เป็นอาหารที่คุณแพ้ โดยควรติดต่อกับทางสายการบินโดยตรงเพื่อความมั่นใจ และหากพบว่า มีอาหารที่เสี่ยงต่ออาการแพ้ ให้แจ้งทางสายการบินเพื่อขอเปลี่ยนอาหารสำหรับคุณโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ หากต้องพกยาแก้แพ้ หรือของเหลวสำหรับรับประทานเพื่อควบคุมอาการแพ้ซึ่งมีความจุเกิน 100 มิลลิลิตร คุณต้องเตรียมเอกสาร หรือใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับอาการแพ้ แจ้งต่อสายการบินเพื่อให้สามารถนำยาขึ้นเครื่องได้อย่างถูกต้อง

ยังมีคำแนะนำอื่นๆ ที่คุณควรรู้สำหรับการวางแผนเดินทางไปต่างประเทศอีก

1. วางแผนทริปล่วงหน้า

เพื่อความปลอดภัยและมีเวลาตรวจสอบให้แน่ใจว่า แผนการเดินทางร่วมกับอาการแพ้ที่คุณมีไม่มีอะไรผิดพลาด ให้วางแผนว่า ตนเองจะเดินทางไปที่ไหนบ้าง มีที่พักเป็นอย่างไร อุณหภูมิในช่วงที่คุณเดินทางเท่าไร ปลอดภัย และเหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณหรือไม่ ระยะเวลาในการเดินทางจากอีกที่ไปอีกที่หนึ่งนานแค่ไหน

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอาหารที่รับประทาน ยาที่จะนำติดตัวไป เพื่อนร่วมเดินทางที่จะไปด้วย ให้คุณลิสต์จดใส่กระดาษหรือสมุดเพื่อกันลืม

2. ตรวจสอบเรื่องเวลา

หากคุณต้องเดินทางข้ามโซนเวลา ให้ตรวจสอบเวลารับประทานอาหารและยาให้เรียบร้อย หรือปรึกษาแพทย์ว่า ต้องเปลี่ยนแปลงตารางการรับประทานยาหรือไม่

3. ตรวจสอบอาหารที่ต้องรับประทานบนเครื่องบินอีกครั้ง

ถึงแม้คุณจะมีการแจ้งต่อสายการบินก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม คุณควรแจ้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้ตรวจสอบอาหารที่บริการบนเครื่องบินอีกครั้งว่า “มีอาหารที่เสี่ยงทำให้คุณแพ้หรือไม่” ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นฉุกเฉินบนเครื่อง

4. พกอาหารที่รับประทานได้ไปด้วย

ให้คุณพกขนม ของทานเล่นที่ไม่แพ้ติดตัวไปต่างประเทศส่วนหนึ่งด้วย แต่ก่อนหน้านั้น ให้ตรวจสอบมาตรการนำเข้าอาหารของประเทศที่กำลังจะเดินทางไปก่อนว่า คุณสามารถพกอาหารที่ตนเองไม่แพ้เข้าประเทศนั้นได้หรือไม่

5. เตรียมตัวให้พร้อมก่อนรับประทานอาหาร

หากมีอาการตองสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ค่อนข้างไว ให้คุณป้องกันโดยล้างมือ ทำความสะอาดที่นั่ง รวมถึงถาดวางอาหารก่อนรับประทานอาหาร

6. เตรียมช่องทางการติดต่อไว้ให้พร้อม

บอกเบอร์โทรศัพท์ที่จะใช้ในต่างประเทศรวมถึงช่องทางการติดต่ออื่นๆ เพื่อให้คนใกล้ชิด เพื่อนสนิท หรือผู้ที่สามารถช่วยเหลือได้ สามารถเดินทาง หรือส่งความช่วยเหลือมายังคุณได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น

7. เขียนรายละเอียดของอาการภูมิแพ้

เขียนรายละเอียดสาเหตุ สารก่อภูมิแพ้ และอาการแพ้ของตนเองพกติดตัวไว้โดยให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาของประเทศที่จะเดินทางไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการรักษา

8. เตรียมยาให้เพียงพอ

ในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นระยะเวลาสั้นๆ ให้คุณเตรียมยาแก้แพ้ไปให้เพียงพอต่อระยะเวลาที่ไป แต่หากต้องไปทำงาน ไปศึกษาต่อ และต้องใช้เวลาอยู่ต่างประเทศเป็นระยะยาว ให้คุณจัดหายาไปให้เพียงพอจำนวนหนึ่งและปรึกษากับแพทย์ว่า สามารถจ่ายยาเพิ่มเติมได้ทางไหนบ้าง

หรือหากต้องติดต่อกับทางโรงพยาบาลในประเทศที่ต้องเดินทางไปเพื่อประสานงานเกี่ยวกับจ่ายยา ก็ให้รีบจัดการดำเนินการให้เรียบร้อยเสียก่อน

9. ตรวจสอบโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง

เพื่อความปลอดภัย ให้คุณตรวจสอบโรงพยาบาล หรือคลินิกที่อยู่ใกล้เคียงกับที่พัก เนื่องจากหากเกิดอาการแพ้กะทันหัน คุณจะได้ไปพบแพทย์ได้ทันเวลา

10. สอบถามผู้ที่มีประสบการณ์

ก่อนเดินทางให้สอบถามผู้ที่เคยเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ หรือเคยพำนักอาศัยอยู่ประเทศนั้นๆ มาก่อน เพื่อที่คุณจะได้ศึกษาเกี่ยวกับอาหาร วัฒนธรรม อากาศ สถานที่ท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่น คุณจะได้เตรียมตัวรับมือและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและสนุกกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ในต่างแดน แนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศทุกคน ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่จะมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่เจ็บป่วยใดๆ ก็ตาม ควรได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศที่ไปอย่างรอบคอบ รวมทั้งวางแผนการเดินทางก่อน


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • AllergyUK, Travelling with allergy (https://www.allergyuk.org/information-and-advice/conditions-and-symptoms/615-travelling-with-allergy), 23 January 2020.
  • Wheatley LM, Togias A (January 2015). “Clinical practice. Allergic rhinitis”. The New England Journal of Medicine. 372 (5): 456–63. doi:10.1056/NEJMcp1412282. PMC 4324099. PMID 25629743.
  • Thomsen SF (2014). “Atopic dermatitis: natural history, diagnosis, and treatment”. ISRN Allergy. 2014: 354250. doi:10.1155/2014/354250. PMC 4004110. PMID 25006501.
Scroll to Top