อุ้มบุญ ความหวังของผู้มีบุตรยาก scaled

อุ้มบุญ ความหวังของผู้มีบุตรยาก

นอกจากการใช้เทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ช่วยทำให้คู่สมรสที่มีบุตรยากมีบุตรได้ง่ายขึ้น การอุ้มบุญ ก็ถือเป็นอีกอย่างเลือกหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหามีบุตรยากด้วยการให้ผู้อื่นนอกเหนือจากคู่สมรสเป็นคนตั้งครรภ์แทน ดังนั้นจึงต้องมีเงื่อนไขมากมายประกอบ

การอุ้มบุญคืออะไร?

การอุ้มบุญ หมายถึง การใช้มดลูกของหญิงอื่นเพื่อช่วยตั้งครรภ์แทน ใช้ในกรณีผู้ที่ประสงค์จะมีบุตร แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้ อาจเกิดจากการมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสภาพร่างกายและมดลูก ไม่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนทารก ทั้งนี้การทำอุ้มบุญจะต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะทางการแพทย์นั้นจะแนะนำให้มีบุตรได้ด้วยตนเองก่อนจนสุดความสามารถ หากไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้แล้วจริงๆ จึงจะลือกใช้วิธีการนี้

คุณสมบัติของแม่อุ้มบุญ

ผู้จะทำหน้าที่ตั้งครรภ์แทนผู้ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือที่เรียกว่า “แม่อุ้มบุญ” จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. เพศหญิง สัญชาติไทย อายุระหว่าง 20-35 ปี จะต้องเป็นญาติกับคู่สามีหรือภรรยาเท่านั้น ห้ามเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน หากไม่สามารถหาแม่อุ้มบุญตามคุณสมบัติดังกล่าวได้ ต้องขออนุญาตจากแพทยสภาเป็นกรณีพิเศษ
  2. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์
  3. ต้องเคยผ่านการมีบุตรมาก่อน และหากมีสามีที่ชอบด้วยกฏหมายหรืออยู่กินกับชายฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวด้วย

การอุ้มบุญ 2 ประเภท

  1. การอุ้มบุญแท้ คือ การนำเชื้ออสุจิของชายที่ต้องการมีบุตร มาผสมกับไข่ของแม่ผู้ที่อุ้มบุญ และฉีดฝังในมดลูกของแม่อุ้มบุญ ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีกระบวนการใดที่เกี่ยวข้องกันทางชีวภาพกับภรรยาของฝ่ายชาย จึงเรียกว่าอุ้มบุญแท้ เพราะใช้ทั้งไข่ของแม่อุ้มบุญ และใช้มดลูกของแม่อุ้มบุญเป็นที่ฝังตัวอ่อนทารกนั่นเอง
    ทั้งนี้ การอุ้มบุญแท้ตามกฏหมายของประเทศไทยจะขัดกับ พรบ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มาตรา 22 กล่าวคือ ห้ามใช้ไข่ของหญิงตั้งครรภ์แทน หากไม่สามารถใช้อสุจิหรือไข่จากคู่สมรสได้ จะต้องใช้อสุจิกับไข่ของผู้อื่น จึงไม่สามารถอุ้มบุญวิธีนี้ได้
  2. การอุ้มบุญเทียม คือ การใช้เชื้ออสุจิและไข่ของพ่อแม่ที่แท้จริงมาผสมกันภายนอก จากนั้นค่อยฉีดไข่ที่ได้รับการผสมเข้าไปในมดลูกของแม่อุ้มบุญ ทารกจะไม่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุ์กรรมใดๆ กับแม่อุ้มบุญเลย เพราะแม่อุ้มบุญทำหน้าที่เพียงให้ยืมมดลูกเพื่อทำหน้าที่ตั้งครรภ์แทนเท่านั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่าวิธีแรก เนื่องจากทารกที่คลอดออกมาจะมีลักษณะหน้าตาภายนอกเหมือนพ่อแม่ทุกอย่าง และคู่สามีภรรยามีส่วนร่วมในการสร้างชีวิตทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่าภรรยาไม่ได้อุ้มท้องก็ตาม

ขั้นตอนการอุ้มบุญ

การอุ้มบุญจะคล้ายกับการทำเด็กหลอดแก้ว คือการนำเชื้ออสุจิของฝ่ายชายและนำไข่ของฝ่ายหญิง ที่เป็นคู่สมรสกันมาผสมกันภายนอก จากนั้นจึงจะฉีดไข่ที่ได้รับการผสมแล้วเข้าไปฝังตัวในมดลูกของผู้ที่รับฝากครรรภ์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าแม่อุ้มบุญ

ประเทศไทยให้อุ้มบุญอย่างถูกกฎหมายได้หรือยัง?

การอุ้มบุญทำได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแพทยสภา เช่น ต้องทำให้คู่สมรสตามกฏหมายที่มีความจำเป็นเท่านั้น การอุ้มบุญต้องทำด้วยความสมัครใจ แม่อุ้มบุญก็ต้องเป็นเป็นญาติร่วมสายเลือดของคู่สามีหรือภรรยาที่ต้องการมีบุตร และห้ามใช้การขายไข่หรือสเปิร์มอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างมาก ทั้งเรื่องของอุปกรณ์และขั้นตอนการรักษาโรคต่างๆ รวมไปถึงวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาและทันสมัยมากขึ้น ช่วยเรื่องของภาวะการมีบุตรยากมีหลากหลายวิธี อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอุ้มบุญก็ได้

ธุรกิจอุ้มบุญ การแพทย์พาณิชย์ และความเสี่ยงต่อสุขภาพ

หญิงไทยจำนวนมากตัดสินใจอุ้มบุญให้คู่สมรสต่างชาติและคู่รักร่วมเพศที่ต้องการมีบุตร ภายใต้การว่าจ้างและการดูแลของนายหน้าตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดทารก หากทารกมีสุขภาพแข็งแรงดีหรือเป็นแฝด แม่อุ้มบุญจะได้รับค่าจ้างเพิ่ม ส่วนใหญ่การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เหล่านี้มักมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมาก เนื่องจากไม่ต้องไปพบแพทย์ สามารถนำสเปิร์มฉีดในรังไข่ของแม่อุ้มบุญได้เลย

การกระทำดังกล่าวตามกฏหมายถือว่าไม่มีความผิด เนื่องจากเป็นความสมยอมของทั้งผู้จ้าง (พ่อแม่ตัวจริง) และผู้ถูกจ้าง (แม่อุ้มบุญ) แต่จะมีความผิดเรื่องของจริยธรรมทางการแพทย์ ตามระเบียบว่าด้วยการทำอุ้มบุญ


เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD


ที่มาของข้อมูล

  • สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข, แถลงข่าวแพทยสภา กรณีอุ้มบุญ (https://www.tmc.or.th/detail_news.php?news_id=763), 7 สิงหาคม 2557.
  • สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 : แก้ไขปัญญาอุ้มบุญ (https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-066.pdf), กันยายน 2558.
  • Thairath, อุ้มบุญ คืออะไร (www.thairath.tv), 31 กรกฎาคม 2557.
Scroll to Top