สารเสพติดสังเคราะห์

สารเสพติดสังเคราะห์ มีอะไรบ้าง ให้โทษอย่างไร

ยาเสพติดเป็นปัญหาระดับประเทศในหลายๆ ประเทศที่ยังไม่สามารถปราบปราม กำจัดออกไปได้หมด และยังคงมีผู้เสพยาเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยังไม่รู้โทษของยาเสพติดว่า ร้ายแรงมากขนาดไหน

ยาเสพติดส่วนมากผลิตมาจากสารเคมีหลายชนิด ทำให้สามารถแบ่งประเภทของยาเสพติดออกได้ 2 หลักๆ ได้แก่

  1. ยาเสพติดธรรมชาติ (Natural Drugs) เป็นยาเสพติดที่ผลิตมาจากสารในพืช เช่น ฝิ่น กระท่อม ใบกัญชา
  2. ยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetics Drugs) เป็นยาเสพติดที่ถูกผลิตมาจากการสังเคราะห์สารเคมีบางอย่าง โดยในบทความนี้ เราจะแจกแจงว่า ยาเสพติดที่อยู่ในประเภทยาเสพติดสังเคราะห์นั้นมีอะไรบ้าง

1. ยาอี (Ectasy)

เป็นยาเสพติดที่ได้รับฉายาว่า “ยาแห่งความรัก” หรือ “ยาเลิฟ” เพราะทำให้ผู้เสพรู้สึกได้รับความรัก หรือความอบอุ่นอย่างไม่มีที่มาที่ไป นอกจากนี้ยายังออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ทำให้ผู้เสพมีกำลังวังชา รู้สึกมีความสุข สนุกสนานมากกว่าเดิม

ผลข้างเคียงจากการเสพยาอีโดยหลักๆ จะทำให้ผู้เสพความจำเสื่อม คุ้มคลั่ง วิตกกังวลอย่างหนัก ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ส่วนผลกระทบด้านร่างกายมักจะทำให้ผู้เสพคลื่นไส้ การมองเห็นแย่ลง ระบบกล้ามเนื้อทำงานล้มเหลว ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะตัวร้อนเกิน

หากผู้เสพเสพยาอีเกินขนาด ก็จะเกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว ไตวาย อาจมีอาการชักจนเสียชีวิตได้

2. โคเคน (Cocaine)

โคเคนเป็นยาเสพติดซึ่งสกัดมาจากต้นโคคา บางครั้งก็เรียกว่า “โค้ก” แบ่งได้หลักๆ 2 รูปแบบ คือ ผงโคเคนกับแคร็กโคเคน ซึ่งเป็นโคเคนรูปแบบผลึก มักผสมร่วมกับสารเสพติดอื่นเพื่อให้สามารถผลิตโคเคนเป็นก้อนผลึกได้

การเสพโคเคนสามารถเสพได้หลายวิธี เช่น สูบผ่านกล้องยาสูบ ผสมกับน้ำเปล่าแล้วฉีดเข้าทางเส้นเลือด สูบผ่านสอดเข้าทางทวารหนัก หรืออวัยวะเพศหญิง

โคเคนจะออกฤทธิ์ทำให้สารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขในสมองหลั่งมากขึ้น ทำให้สมองผู้เสพตื่นตัว รู้สึกเคลิบเคลิ้มมีความสุข คิดว่า ตนเองมีพละกำลังมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันมันก็ส่งผลกระทบต่อระบบหลายอย่างของร่างกาย เช่น

  • เกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า
  • ปวดศีรษะ
  • หัวใจเต้นแรง
  • เส้นเลือดอุดตัน
  • หายใจลำบาก
  • หลอดลมตีบ
  • ขบฟันขณะหลับ
  • กลืนอาหารไม่ได้
  • ปวดท้องน้อย
  • ติดเชื้อในลำไส้

3. ยาเค (Ketamine)

ยาเคเป็นยาเสพติดไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่เดิมถูกใช้เพื่อเป็นยาสลบสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด แต่ภายหลังถูกนำมาใช้สำหรับเสพในผู้เสพยาเสพติดหลายราย เพราะยาเคออกฤทธิ์ช่วยให้เสพหมดความวิตกกังวล รู้สึกมีพลังอำนาจมากกว่าผู้อื่น การรับรู้แสง สี เสียงรอบตัวเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ยาเคยังสามารถใช้เพื่อล่วงละเมิดทางเพศเหยื่อได้ เพราะมีฤทธิ์ทำให้เหยื่อที่เสพยาเคลิบเคลิ้มไม่ได้สติ และไม่รับรู้กับสิ่งรอบข้าง ยาเคจึงได้ฉายาอีกชื่อว่า “ยาเสียตัว”

ผลข้างเคียงของยาเคส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายส่วน เช่น ทำให้สับสน มึนงง สูญเสียความทรงจำ ปวดศีรษะ หูแว่ว เห็นภาพหลอน ประสาทการรับกลิ่นแย่ลง พูดจาไม่รู้เรื่อง มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ผู้ที่เสพยาเคเกินขนาดสามารถกลายเป็นคนวิกลจริต หรือเกิดอาการช็อคจนเสียชีวิตได้

4. ยาบ้า (Amphetamine)

ยาบ้าเป็นยาเสพติดยอดนิยมในกลุ่มผู้เสพยา เพราะทั้งช่วยให้เกิดความพึงพอใจทางเพศมากขึ้น ทำให้รู้สึกมั่นใจในตนเอง มีความสุขมากกว่าปกติ ผู้เสพหลายรายมักเสพยาบ้าเพื่อหลีกเลี่ยงความเครียด หรือเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต

อย่างไรก็ตาม โทษของยาบ้านั้นส่งผลกระทบต่อตัวผู้เสพมากมาย เช่น สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน ไม่อยากอาหาร ใจสั่น ไม่มีเรี่ยวแรง ก้าวร้าวอย่างหนักเมื่อขาดยา

5. เฮโรอีน (Heroin)

เฮโรอีนเป็นสารเสพติดในรูปแบบผงยาสีขาวซึ่งสังเคราะห์มาจากมอร์ฟีน มีฤทธิ์ทำให้ผู้เสพลืมเลือนความเจ็บปวดทั้งทางกาย และจิตใจ อีกทั้งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้ผู้เสพเคลิบเคลิ้ม รู้สึกมีความสุข

โทษของเฮโรอีนโดยหลักๆ มีผลทำให้ผู้เสพความจำเสื่อม เป็นโรคทางจิตเวช ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คลื่นไส้อาเจียน ทำให้เกิดอาการท้องผูก สมรรถภาพทางเพศเสื่อม

ผู้เสพที่ขาดการเสพเฮโรอีนจะมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง รูม่านตาขยาย ซึ่งอาการนี้ก็จะเกิดในที่อยู่ในระหว่างเลิกเสพเฮโรอีนแบบหักดิบด้วย

ดังนั้นผู้ที่เสพเฮโรอีน และต้องการเลิกยา หากร่างกายไม่แข็งแรงพร้อมสำหรับเลิกยามากพอ ก็ไม่ควรเลิกโดยใช้วิธีหักดิบเด็ดขาด เพราะอาจเสียชีวิตระหว่างเลิกยาได้

6. สารระเหย (Inhalants)

สารระเหยถือเป็นสารเสพติดที่อยู่รอบตัวเรา เพราะแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์สิ่งของเครื่องใช้หลายอย่าง เช่น กาว ทินเนอร์ น้ำมันรถ สเปรย์ฉีดผม น้ำยาล้างเล็บ

บางครั้งหลายคนก็เผลอติดสารระเหยผ่านการสูดดมในระหว่างใช้ผลิตภัณฑ์บ่อยๆ แต่ผู้เสพบางรายก็ตั้งใจเสพสารระเหยเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง โดยเสพผ่านการพ่นสเปรย์สารเข้าจมูก หรือปาก ดมสารแบบถุงกาว หรือผ่านผ้าชุบสารระเหย

อาการที่จะเกิดขึ้นเมื่อเสพสารระเหยโดยหลักๆ คือ อาการเมาคล้ายกับเมาเหล้า หรือเมายานอนหลับ นอกจากนี้ผู้เสพบางรายยังอาจรู้สึกเพ้อฝัน ตื่นเต้น บางรายอาจง่วงซึม พูดไม่รู้เรื่อง หรือหมดสติ

นอกจากนี้สารระเหยยังเข้าไปสร้างความผิดปกติให้กับระบบของร่างกายมากมาย เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด ระคายเคืองโพรงจมูก ลิ้นแข็ง ชาตามมือ และเท้า จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ เกิดภาวะซึมเศร้า

อีกทั้งสารระเหยยังเป็นตัวการทำให้เกิดโรคร้ายแรงที่ยากจะรักษาให้หายอีกมากมาย เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคมะเร็งปอด โรคกล้ามเนื้อฝ่อจนเสี่ยงเป็นอัมพาต

7.สารแอลเอสดี (Lysergic acid diethylamide: LSD)

สารแอลเอสดีเป็นสารเสพติดที่อยู่ในหลายรูป เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ลูกดม เจลตามิน ก้อนน้ำตาล หรืออยู่ในรูปแบบกระดาษเคลือบสารเสพติดซึ่งใช้วิธีเสพโดยสอดไว้ใต้ลิ้น หรืออมไว้ในปาก เรียกได้อีกชื่อว่า “กระดาษเมา”

สารแอลเอสดีมีฤทธิ์ทำให้ผู้เสพเพ้อฝัน รู้สึกว่า ตนเองมีอำนาจยิ่งใหญ่ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มีอารมณ์ร่าเริงสดใสมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงจากการเสพสารแอลเอสดีอาจแตกต่างกันไปในผู้เสพแต่ละราย บางรายอารมณ์แปรปรวน บางรายมีอาการมึนเมาอย่างหนักร่วมกับประสาทหลอน หูแว่ว นอกจากนี้ยังอาจมีไข้สูง ตัวสั่น รูม่านตาขยาย เบื่ออาหาร

ผู้เสพสารแอลเอสดีเป็นระยะเวลานานจะมีอาการทางจิตเรื้อรัง อีกอาการที่สำคัญคือ มักจะมองเห็นภาพความทรงจำที่เลวร้ายในอดีตบ่อยๆ จนกลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรควิตกกังวล

8. ยาซอมบี้ (Bath salts)

ยาซอมบี้ คือ ยาเสพติดชนิดใหม่ที่กำลังแพร่หลายหลักในประเทศสหรัฐอเมริกา มักสูบผ่านการสูดเข้าจมูก หรือสูบเป็นบุหรี่ ผู้เสพบางรายอาจผสมกับน้ำเปล่าแล้วฉีดเข้าเส้นเลือด

ยาซอมบี้เป็นสารสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของสาร Cathinone (สารสกัดจากพืชล้มลุกในอาฟริกาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท)

ยาซอมบี้จะออกฤทธิ์ทำให้ผู้เสพเกิดอารมณ์ทางเพศมากขึ้น มีความรู้สึกกะปรี้กะเปร่ากว่าเดิม รวมถึงทำให้รู้สึกเพ้อฝัน คิดว่า ตนเองมีพละกำลังมหาศาล อย่างไรก็ตาม ยาซอมบี้ก็ส่งผลข้างเคียงหลายอย่างต่อร่างกาย เช่น

  • นอนไม่หลับ
  • กระสับกระส่าย
  • ความดันโลหิตสูง
  • การมองเห็นพร่าเบลอ
  • หวาดระแวง
  • ประสาทหลอน เห็นภาพหลอน หูแว่ว

ผู้เสพยาซอมบี้ที่ติดยาอย่างหนักจะมีอาการคลุ้มคลั่งเมื่อขาดยา ผู้เสพหลายรายมีอาการคล้ายกับซอมบี้ในหนัง โดยจะมีพฤติกรรมอาละวาดทำร้ายผู้คน พูดจาไม่รู้เรื่อง ผู้เสพยาในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายรายมีอาการไล่กัดกินเนื้อผู้คนที่เดินผ่านไปมาเหมือนซอมบี้จริงๆ ด้วย

นอกจากนี้ผู้เสพยาซอมบี้ยังมีความเสี่ยงเกิดโรค หรือภาวะร้ายแรงต่อร่างกายด้วย เช่น เกิดอาการหัวใจวาย ตับวาย ไตวาย เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

หลายคนที่หันมาเสพยาเสพติดเพราะข้ออ้างว่า “เครียด” อยากให้ลองหาทางออกวิธีอื่นดูมากกว่าการนำชีวิตตนเองมาเสี่ยงเช่นนี้ เช่น ปรึกษาจิตแพทย์เกี่ยวกับความเครียด ปัญหาต่างๆ หรือหากจะใช้บริการตรวจวิเคราะห์ความเครียด (Stress) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

หากมีความเครียดรุมเร้ามากๆ จิตแพทย์จะให้คำปรึกษาที่ดีแก่คุณได้ รวมทั้งทางออกที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

ยาเสพติดทุกชนิดไม่ใช่แค่ให้โทษต่อร่างกาย และจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีโทษทางกฎหมายร้ายแรงด้วย โดยยาเสพติดสังเคราะห์ส่วนมากมีโทษทางกฎหมายเป็นยาเสพติดต้องโทษประเภทที่ 1 ซึ่งมีโทษสูงสุดทั้งจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และปรับสูงสุดถึง 5,000,0000 บาท

คุณจึงต้องอยู่ให้ห่างจากยาเสพติดทุกชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงต่อโทษทั้งต่อตัวคุณเอง และโทษทางกฎหมายที่ส่งผลต่ออนาคตของคุณได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top