เฮโรอีน

เฮโรอีน

หลายคนคงรู้จัก “เฮโรอีน” ในฐานะยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจไม่ทราบถึงรายละเอียดการออกฤทธิ์ และลักษณะพฤติกรรมผู้เสพว่า เป็นอย่างไร

เพราะเฮโรอีนจัดเป็นยาเสพติดที่มีกลุ่มผู้เสพหลายรายแอบเสพอยู่เงียบๆ และมีอาการเสพติดอย่างหนักจนยากจะเลิกยาได้

ความหมายของเฮโรอีน

เฮโรอีน (Heroin) คือ สารเสพติดสังเคราะห์มาจากมอร์ฟีน (Morphine) กับสารเคมีชนิดอื่นๆ เช่น สารอาเซติดแอไฮไดรด์ (Aceticanhydride) สารเอทิลิดีนไดอาเซเตท (Ethylidinediacetate)

เฮโรอีนมีลักษณะเป็นผงยาสีขาว สีครีม หรือสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีกลิ่น ออกฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน 4-8 เท่า พวกเสพเฮโรอีนมักเสพผ่านวิธีฉีดเข้าเส้นเลือด สูบเป็นบุหรี่ สูดเข้าจมูก บางรายอาจเสพผสมกับสารโคเคน

การออกฤทธิ์ของสารเฮโรอีนจะเข้าไปกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ผู้เสพรู้สึกเคลิบเคลิ้ม มีความสุข ผ่อนคลาย รู้สึกได้รับอิสระ ได้ปลดปล่อยความเครียด และความวิตกกังวล รวมถึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดทางกายใดๆ เพราะระบบประสาทส่วนที่คอยควบคุมความรู้สึกเหล่านั้นถูกสารเฮโรอีนปิดกั้นเอาไว้

ผลกระทบจากการเสพเฮโรอีน

ถึงแม้เฮโรอีนจะออกฤทธิ์ทำให้ผู้เสพลืมเลือนความเจ็บปวดทุกอย่างทั้งทางกายและทางจิตใจได้ แต่ขณะเดียวกัน ผลข้างเคียงจากการเสพเฮโรอีนก็เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงเช่นกัน

ผลกระทบจากการเสพเฮโรอีนมีระยะเวลาทั้งสั้น และยาว

1. ผลกระทบจากการเสพเฮโรอีนในระยะสั้น

ฤทธิ์ของเฮโรอีนจะเกิดขึ้นรวดเร็วมากโดยเฉพาะผ่านการฉีดเข้าเส้นเลือด อีกทั้งออกฤทธิ์อยู่ได้นานถึง 3-5 ชั่วโมง ซึ่งผลกระทบจากการเสพเฮโรอีนในระยะสั้นได้แก่

  • เวียนศีรษะ
  • ปากแห้ง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • รู้สึกหนักบริเวณมือ แขน และเท้า
  • ไม่มีสติ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งรอบตัวได้
  • ง่วงซึม
  • พูดช้า พูดไม่ชัด

และเมื่อยาหมดฤทธิ์ ผู้เสพจะมีอาการกึ่งง่วงกึ่งตื่น อาจทำให้เกิดอาการมึนเมา และสมองตื้อ ซึ่งเป็นอาการที่ยังไม่สร่างจากการเมายา เนื่องจากฤทธิ์ของยาได้ไปกดประสาท และระบบประสาทส่วนกลางไว้นั่นเอง

2. ผลกระทบจากการเสพเฮโรอีนในระยะยาว

ผู้เสพเฮโรอีนในปริมาณมากเกินไป หรือเสพเรื้อรังจนมีอาการติดยาอย่างหนัก จะเกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว และก่อโรคร้ายแรงที่ยากจะรักษาให้หายขาด เช่น

  • หลอดเลือดดำแฟบ
  • นอนไม่หลับ
  • ระบบการทำงานภายในจมูกผิดปกติ ผลมาจากการเสพเฮโรอีนผ่านการสูดเข้าจมูก
  • เป็นโรคปอดบวม
  • ติดเชื้อที่หัวใจและตับ หรือเกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับตับและไต
  • เป็นฝี
  • ปวดเกร็งท้อง
  • เกิดภาวะทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า เก็บเนื้อเก็บตัว
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • ระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงทำงานผิดปกติ

การเสพเฮโรอีนเกินขนาดมีผลทำให้ผู้เสพมีอาการตัวเขียว ความดันโลหิตตก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหายใจได้ช้าลง ส่งผลให้ออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงสมองน้อยลงไปด้วย จนสุดท้ายหัวใจของผู้เสพอาจหยุดเต้นและเสียชีวิตลงในที่สุด

การเสพเฮโรอีนในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้เกิดภาวะแท้งเฉียบพลัน หรือเด็กที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยมากผิดปกติ

นอกจากนี้การใช้เข็มฉีดยาสำหรับเสพเฮโรอีนร่วมกันยังมีส่วนทำให้เกิดการติดต่อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรืออาจเกิดจากเสพยาแล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน

การลงแดงเมื่อไม่ได้เสพเฮโรอีน

เมื่อไม่มีเฮโรอีนให้เสพอย่างที่ต้องการ ผู้เสพจะมีอาการลงแดงเกิดขึ้น โดยอาการเหล่านี้ยังเกิดขึ้นหลังจากเฮโรอีนที่เสพหมดฤทธิ์ไปแล้วด้วย ได้แก่

  • นอนหลับพักผ่อนเป็นเวลานานผิดปกติ หรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • เจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อ และกระดูก
  • รูม่านตาขยาย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย ท้องร่วง
  • ตัวเย็นผิดปกติ มีอาการขนลุกตามผิวหนัง
  • เหงื่อออกมาก
  • ไม่สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวของร่างกายได้ โดยเฉพาะบริเวณขา
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • ความดันโลหิตสูง
  • ชีพจรเต้นเร็ว

ระยะเวลาของอาการลงแดงที่กล่าวไปข้างต้นจะอยู่ที่ 1-2 สัปดาห์ ผู้ที่ต้องการเลิกเสพเฮโรอีนด้วยวิธีหักดิบสามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน

ผู้เสพยาที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรงอาจไม่สามารถรับมือกับอาการเหล่านี้ได้ในระหว่างถอนยา และเสียชีวิต

การตรวจหาสารเฮโรอีนที่ให้ผลลัพธ์ดีและง่ายที่สุดคือ การตรวจปัสสาวะ โดยสามารถตรวจได้ภายใน 36-72 ชั่วโมง หลังจากเสพ แต่หากต้องการผลการตรวจที่แม่นยำมากขึ้นต้องส่งตรวจยืนยันเฉพาะ ซึ่งเป็นขั้นตอนการตรวจที่อาจยุ่งยากกว่า

การบำบัดเพื่อเลิกเสพเฮโรอีน

การบำบัดผู้เสพเฮโรอีนให้เลิกยาเสพติดแบ่งออกได้หลายวิธี เช่น

  1. วิธีถอนพิษเฮโรอีน อาจเป็นการให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการขาดยาและทำให้ผู้ป่วยทนต่ออาการลงแดงได้ดีขึ้น เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิตโคลนิดีน (Clonidine) หรืออาจให้ผู้เสพรับยาที่ออกฤทธิ์เหมือนสารเฮโรอีนแต่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อแก้อาการขาดยา นอกจากนี้นี้ยังมีวิธีหักดิบคือ ให้ผู้เสพหยุดเสพเฮโรอีนทันทีและให้ทนต่ออาการขาดยาให้ได้ วิธีนี้ต้องใช้ในผู้เสพยาที่ร่างกายแข็งแรง มีความตั้งใจจะเลิกยาจริงๆ เท่านั้น
  2. วิธีถอนพิษโดยการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เป็นวิธีการถอนพิษยาเพื่อลดอาการขาดยาให้บรรเทาลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่อดทนได้

การรักษาด้วยยา 2 วิธีการดังกล่าวข้างต้นต้องทำร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัดจึงจะทำให้การเลิกเสพเฮโรอีนได้ผลดี

เฮโรอีนเป็นสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย ผู้ครอบครอบยาเสพติดประเภทนี้มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับเป็นเงินสูงสุด 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภทที่ 1 เพื่อจำหน่ายมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับเป็นเงินสูงสุด 5,000,000 บาท หรือต้องโทษประหารชีวิต

โอกาสที่ผู้เสพเฮโรอีนจะติดยานั้นมีมากกว่าการเสพยาชนิดอื่นๆ แม้จะเป็นการเสพครั้งแรก หรือเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และอาจถึงขึ้นทำให้ผู้เสพเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ดังนั้นคุณต้องพยายามไม่ให้ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเสพเฮโรอีนไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม คุณไม่ควรใส่ใจคำชักชวน หรืออาจต้องพยายามอดทนกับภาวะกดดันจากกลุ่มเพื่อนให้ได้ เพื่อรักษาชีวิตอันมีค่าของคุณไว้ เพราะถึงแม้เฮโรอีนอาจไม่ได้คร่าชีวิตคุณในทันทีที่เสพ แต่มันอาจทำลายชีวิตได้ทั้งชีวิตเลยทีเดียว


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top