อาการริดสีดวง 1 scaled

อาการริดสีดวง

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายของร่างกายที่พบได้บ่อย นอกจากอาการท้องผูกหรือท้องเสียแล้ว คงนี้ไม่พ้น “โรคริดสีดวงทวาร” ที่มักเกิดขึ้นในผู้มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง มีการเบ่งถ่ายเป็นประจำ

พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดจนเส้นเลือดฝอยบริเวณทวารหนักโป่งพอง จากนั้นจะเริ่มมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ ทั้งนี้แม้อาการจะไม่รุนแรงเท่าไร แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่น้อย

ความแตกต่างของริดสีดวงภายนอกกับริดสีดวงภายใน

ริดสีดวงทวารคือ ภาวะที่เส้นเลือดดำปลายสุดของลำไว้บริเวณทวารหนักโป่งพอง และอาจมีการอักเสบ ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการ หรือมีอาการเจ็บปวด

สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่า การเบ่งถ่ายอุจจาระ ท้องผูก ไอเรื้อรัง มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร

ในกรณีที่เกิดขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีการกีดขวางการไหลเวียนของโลหิต จึงเกิดเลือดคั่งในเส้นเลือดดำจนโป่งพอง มีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่าย กรณีนี้เรียกว่า “ริดสีดวงขณะตั้งครรภ์”

หากตำแหน่งของเส้นเลือดดำเกิดบริเวณใต้ผิวหนังตรงปากรอยย่นทวารหนัก จะสามารถมองเห็นและคลำได้ เรียกว่า “ริดสีดวงภายนอก (External hemorrhoid)”

หากเกิดบริเวณเส้นเลือดที่อยู่ลึกเข้าไปในรูทวารหนัก ไม่สามารถมองเห็นและคลำได้ จะเรียกว่า “ริดสีดวงภายใน (Internal hemorrhoid)”

อาการริดสีดวงทวาร

  • มีอาการคัน ระคายเคือง หรือเจ็บปวดบริเวณปากทวารหนัก
  • มีเลือดสดปนออกมากับอุจจาระ หรืออาจสังเกตเห็นเลือดบนกระดาษชำระเมื่อใช้ซับทำความสะอาดทวารหนัก หรือมีเลือดหยดลงในโถส้วม
  • มีก้อน หรือติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักขณะขับถ่าย
  • ในกรณีที่เป็นริดดวงทวารภายนอก จะคลำเจอก้อนเนื้อที่ทวารหนัก ส่งผลให้นั่ง หรือเดินไม่สะดวก

ความรุนแรงของริดสีดวงทวาร 4 ระยะ

ระยะที่ 1 ริดสีดวงทวารขนาดเล็ก แต่ไม่มีก้อนยื่นออกมา

ระยะที่ 2 ริดสีดวงทวารยื่นพ้นปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และสามารถหดกลับเข้าที่ได้เอง

ระยะที่ 3 ริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาจากปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ สามารถกลับเข้าที่ได้ โดยต้องใช้นิ้วดันกลับ

ระยะที่ 4 ริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาตลอดเวลา ไม่สามารถดันกลับเข้าที่ได้ หรือมีการยื่นของเยื่อบุช่องทวารหนักออกมาทั้งหมด และอาจมีอาการแทรกซ้อน ได้ เช่น

  • มีเลือดออกทางทวารหนัก จนอาจกลายเป็นภาวะตกเลือดได้
  • อาจมีน้ำเหลือง หรือเมือกลื่นๆ และอุจจาระหลุดออกมาได้
  • อาจมีอาการคันที่ขอบปากทวารร่วมด้วย บางครั้งอาจมีการอักเสบมากขึ้น หรือเน่าได้ ซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย
  • อาจมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง

หากสงสัยว่า อาการของคุณเข้าข่ายโรคริดสีดวงทวารหรือไม่ อย่ามัวแต่เขินอาย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป เนื่องจากริดสีดวงทวารเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้

แต่หากเขินอายไม่กล้าไปแพทย์จริงๆ ปัจจุบันหลายๆ แห่งมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นวีดีโอคอล หรือจะแค่โทรปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ก็ได้

แต่หากว่าคุณเป็นผู้หญิง ไม่อยากปรึกษาแพทย์ผู้ชาย บางแห่งก็มีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์กับแพทย์ผู้หญิงด้วยเช่นกัน เรียกว่า ทั้งสบายใจ ทั้งได้คำแนะนำว่า ควรทำอย่างไรกับความผิดปกติครั้งนี้

สำหรับวิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารจะขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค เช่น ใช้ยาเหน็บ การรัดยาง การผ่าตัด โดยแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะรักษาแบบใด

แต่สิ่งสำคัญคือ หากพบว่า “มีหัวริดสีดวงทวาร” หรือ “ติ่งเนื้อ” ยื่นออกมาบริเวณปากทวารหนัก ไม่ควรพยายามบีบ หรือกดเม็ดริดสีดวงทวารให้แตกเองโดยเด็ดขาด

เพราะเมื่อริดสีดวงแตก ผลที่ตามมาอาจมีทั้งห้ามเลือดยาก เลือดไหลไม่หยุด รวมทั้งอาจติดเชื้อในกระแสเลือดได้

บทความแนะนำ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

  • รุ่งฤดี จิณณวาโส และภัทราพร พูลสวัสดิ์, งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ริดสีดวงทวาร (https://med.mahidol.ac.th/sdmc/sites/default/files/public/pdf/hemorrhoid.pdf), 20 กรกฎาคม 2563.
  • นพพล เฟื่องวรรธนะ และวรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ, ภาควิชาศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, Hemorrhoid (http://oldweb.pharm.su.ac.th/thai/Organizations/DIS/Articles/PDF_Files/health001.pdf), 20 กรกฎาคม 2563.
Scroll to Top